วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561
ปัญญาประดิษฐ์(AI) สมเด็จป.อ.ปยุตฺโต พูดไว้นานแล้วหนอ
ปัญญาประดิษฐ์(AI) สมเด็จป.อ.ปยุตฺโต พูดไว้นานแล้วหนอ : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร รายงาน
ต้องบอกว่าจบแล้ว! สำหรับแนวคิดเรื่องปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (artificial intelligence=AI) โดยที่ AI จะต้องมีจริยธรรมคือ สติเป็นตัวนำเป็นสติปัญญาประดิษฐ์ เพราะยุคดิจิทัลนี้เพียงสติปัญญายังไม่เพียงพอจะต้องเป็นสติปัญญาประดิษฐ์ ถึงจะเป็นเครื่องมือในการสร้างสันติภาพโลกรู้ทันสงครามปัญญาประดิษฐ์หรือมิจฉาปัญญาประดิษฐ์ได้
เมื่อสืบค้นข้อมูลต่อหรือวิจัยแบบไม่วิจัยได้พบข้อมูลที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม ระบุไว้ในหนังสือ "พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์ 06" สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม คราวปาฐกถาพิเศษ วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2534 จึงได้แต่อุทานว่า "สมเด็จพูดไว้นานแล้วหนอ" ความจริงก็เคยอ่านหนังสือเรื่องนี้แต่ตอนนั้นยังไม่ได้สนใจประเด็น AI จึงทำให้สัญญาไม่ได้เก็บความรู้ตรงนี้ไว้
ดังนั้นจึงนำเนื้อหาส่วนนี้มาเผยแพร่ต่อที่มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์โดยคัดมาจากหนังสือ ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง คัดลอกจาก http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/budddhist/index/index6.htm ความว่า
"ก้าวถึงสุดแดนแต่ก็รู้ว่าไม่จบ
ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เวลานี้ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ได้มาไกลมากแล้ว จนกำลังนะสุดแดนแห่งโลกวัตถุ ขอบเขตของวิทยาศาสตร์นั้นอยู่ที่โลกวัตถุ แต่ตอนนี้มันจะสุดเขตของแดนแห่งโลกวัตถุแล้ว และกำลังเข้ามาจ่อแดนของจิตใจ ตอนนี้ละจะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมาก ในแง่ของสิ่งที่เราจะศึกษา
สิ่งที่วิทยาศาสตร์จะศึกษาพิสูจน์ต่อไปนี้ กำลังจะก้าวเข้ามาในแดนของจิตใจ นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อย กำลังหันมาสนใจปัญหาเรื่องจิตใจว่า จิตใจคืออะไร จิตใจทำงานอย่างไร consciousness คืออะไร มันมาจากวัตถุจริงหรือไม่ หรือมันมีความมีอยู่ของมันต่างหาก อย่างคอมพิวเตอร์เวลานี้มี AI แล้ว AI ก็คือ artificial intelligence ที่เขาเรียกว่าปัญญาประดิษฐ์
ในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์นี้ ต่อไปจะทำให้คอมพิวเตอร์มีจิตใจหรือไม่ เรื่องนี้กำลังเป็นปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยถกเถียงกันอยู่ ถึงกับเขียนหนังสือมาเป็นเล่มโต ๆ เลย บางเรื่องเป็น national bestseller ของอเมริกาก็มี ว่าด้วยเรื่องคอมพิวเตอร์จะมีจิตใจได้หรือไม่ อันนี้แสดงว่าวิทยาศาสตร์กำลังเข้ามาจ่อแดนของจิตใจ เมื่อจ่อแดนของจิตใจ ก็ก้าวเข้ามาสู่แดนของศาสนา เพราะฉะนั้น ก็มีเรื่องที่จะต้องมาพิจารณากัน นี้พูดในแง่ของสิ่งที่ถูกพิสูจน์หรือศึกษา
อีกด้านหนึ่งก็คือ ในแง่ของการพิสูจน์หรือวิธีพิสูจน์ เมื่อมาถึงขั้นนี้วิธีการพิสูจน์นั้นก็กำลังจะพ้นเลยขอบเขตของอินทรีย์ 5 ออกไป แต่ก่อนนี้ เราใช้อินทรีย์ 5 เปล่าเปลือย คือ ตา หู และร่างกายล้วน ๆ แล้วต่อมาเราก็อาศัยอุปกรณ์ที่ขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ เมื่ออินทรีย์เปล่า ๆ ไม่สามารถจะรับรู้ หรือรับทราบได้ เราก็เอาพวกเทคโนโลยีอุปกรณ์ที่ขยายวิสัยอินทรีย์นั้นมาใช้
แต่มาถึงตอนนี้แม้แต่อุปกรณ์เหล่านั้นก็อาจจะพิสูจน์ไม่ไหว คือ ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ เมื่อถึงขั้นนี้ การพิสูจน์ของวิทยาศาสตร์ ก็กลายมาเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์ คือใช้ภาษาคณิตศาสตร์เป็นสื่อ แล้วก็มาอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าเป็นสัญลักษณ์
เมื่อการสังเกต พิสูจน์ หรือตีความอะไรต่าง ๆ มาใกล้แดนของจิตใจมากขึ้น ถ้าวิทยาศาสตร์ยังไม่ปรับเปลี่ยนท่าทีและวิธีการ มันก็จะอยู่แค่ในระดับของการคาดหมายและความเชื่อ มีเรื่องความเชื่อเข้าไปปะปนมากขึ้นด้วย และอันนี้ก็คือเรื่องที่ว่า วิทยาศาสตร์กำลังเข้าจ่อแดนของจิตใจแล้ว จะเข้าถึงแดนนั้นได้หรือไม่ และอย่างไร ซึ่งเป็นจุดที่เราน่าจะพิจารณา
เมื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นกันอย่างนี้แล้ว ก็หันกลับไปดูตั้งแต่กำเนิด และพัฒนาการของวิทยาศาสตร์เป็นต้นมา"
ขณะเดียวกัน "กาลานุกรม" พระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก: ที่เขียนโดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ก็ระบุไว้เช่นเดียวกัน และเมื่อค้นข้อมูลต่อยังไม่พบงานวิจัยที่ต่อยอดประเด็นนี้ หรือมีผู้ทำแล้วแต่ในชั้นนี้การค้นข้อมูลยังไม่ถึง หากมีวาสนาก็คงจะได้ทำอย่างแน่นอน เพราะว่าฉันทะเกิด วิริยะแม้จะมากแต่ติดที่เวลา สมาธิพอปานกลาง สติยังแผ่วเบา ปัญญาดูจะฟุ้งไปบ้าง เมื่อกรอบความคิดชัดคงจะต่อยอดได้ ตอนนี้ก็เรียบค่ายไปก่อน และเชื่อแน่ว่าหากมีการต่อยอดวิทยานิพนธ์สาขาสันติศึกษาแล้ว คงจะทำให้ภาพ "วิศวกรสันติภาพ" ชัดเจน
และขณะนี้ DARPA ที่เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา อยากให้นักวิจัยช่วยตอบคำถามที่ว่า "สามัญสำนึก (Common Sense)" ให้กับเอไอได้อย่างไร? ภายใต้งบวิจัย 2,000 ล้านดอลลาร์ และระยะเวลา 5 ปี ด้วยแนวความคิดคือการมีสามัญสำนึกน่าจะช่วยให้เอไอเข้าใจสิ่งรอบตัวได้ดีขึ้น ช่วยลดความผิดพลาดง่ายๆ ที่มนุษย์ปกติแล้วจะไม่ทำ โดยเฉพาะเมื่อเผชิญเหตุเฉพาะหน้าที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และน่าจะเป็นก้าวที่สำคัญออกจากงานเอไอเฉพาะทาง ไปยังเป้าที่สูงขึ้นคือ เอไอทั่วไป โดยใช้แบบทดสอบสามัญสำนึกของ Allen Institute for AI หรือ AI2 (ที่ก่อตั้งโดย Paul Allen ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์) เมื่อต้นปีนี้ทาง AI2 เองก็ได้เริ่มโครงการวิจัยด้านนี้เช่นกัน โดยแนวความคิดของ AI2 คือ 1) อาศัย Crowdsourcing ในการรวบรวมสามัญสำนึก และ 2) ทดสอบ เอไอ โดยให้มันดูวีดิทัศน์และให้มันเลือกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นถัดจากฉากที่เห็น โดยคำตอบมาในแบบข้อความหลายตัวเลือก
ดร.สรรพฤทธิ์ มฤคทัต นักวิจัยเนคเทค ระบุว่า ส่วนตัวไม่แน่ใจว่า อาจต้องย้อนกลับไปใช้หลักตรรกะในแบบ Good Old-Fashioned AI ก็เป็นได้ อีก 10 ปีถัดจากนี้ไปเราอาจจะมี AI และสามัญสำนึกพร้อมให้ Download มาใช้งานก็ได้(ที่มา: คอลัมน์: AI in trend: เอไอกับสามัญสำนึก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
เพลง: ไทยใหญ่ใจแกร่ง
ເນື້ອເພງ :: #ດຣສົມພົງສ໌,ai ທຳນອງ: - ຮ້ອງໂດຍ #suno คลิกฟังเพลงที่นี่ (Verse 1) ไทยใหญ่ใจใหญ่พิทักษ์ถิ่น มิหวังลิ้นกลืนกินถิ่นใครเขา รักษาสั...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น