วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ครม.อนุมัติกม.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท-ตั้งก.อุดมศึกษาฯ(มีร่าง)



ครม.อนุมัติกม.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท-ตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ คาดเห็นเป็นรูปธรรมได้ภายใน 1-2 เดือน



วันที่ 24 ต.ค.2561 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามที่กระทรวงยุติธรรมนำเสนอ
          


"เพื่อลดจำนวนคดีที่จะเข้าไปคั่งค้าง เยอะแยะมากมายก่ายกองในศาล ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เสนอร่างกฎหมายเรื่องนี้ เฉพาะในรัฐบาลนี้ก็มีการเสนอมาแล้ว 3 ฉบับ" พล.ท.สรรเสริญ กล่าวและว่า
          


ก่อนหน้านี้ เคยมีความพยายามที่จะดำเนินการเรื่องนี้หลายครั้ง เพื่อลดปริมาณคดีที่จะนำเข้าสู่กระบวนการศาลยุติธรรม ทั้งในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด และกระทรวงยุติธรรม ซึ่ง ครม.ได้เห็นชอบในหลักการไปแล้วและอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 
          


ล่าสุด นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปพิจารณาแล้วพบว่า ที่ผ่านมาการออกกฎหมายเรื่องดังกล่าวยังไม่สำเร็จ เนื่องจากแต่ละหน่วยงานอยากจะมีส่วนร่วม แต่ศาลไม่เห็นด้วยเนื่องจากเป็นการตัดอำนาจของศาล อาจมีการเรียกรับผลประโยชน์ และทำให้ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งครั้งนี้ได้รับความเห็นชอบจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
          


โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยมีมืออาชีพเข้ามาดำเนินการ ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยมีการกำหนดขอบเขต เช่น คดีแพ่งต้องไม่เกี่ยวกับเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ หรือคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนคดีอาญานั้นต้องเป็นความผิดอันยอมความได้ เป็นความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา
          


นอกจากนี้ ยังมีกรณีผู้ที่ทำความผิดที่มีโทษปรับเพียงเล็กน้อย แต่ต้องมีการประทับลายมือ จะถูกบันทึกไว้ในทะเบียนประวัติอาชญากรรมทันที ซึ่งในภายภาคหน้าหากบุคคลเหล่านี้ไปประมูลงานหน่วยงานรัฐจะไม่สามารถร่วมประมูลได้เลย หรือการสมัครเป็นคณะกรรมการในองค์กรอิสระก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งในเรื่องนี้ได้ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ปรับแก้ไข เพื่อให้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพ


เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ....
          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ดังนี้
          1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. .... ของกระทรวงยุติธรรม ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
          2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ
          สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
          1. กำหนดบทนิยาม “การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสเจรจาตกลงกันระงับข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาโดยสันติวิธีและปราศจากการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการในชั้นศาล และในชั้นการบังคับคดี
          2. กำหนดให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบต่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการอยู่แล้วโดยหน่วยงานของรัฐและไม่เป็นการต้องห้ามหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการไกล่เกลี่ยอยู่แล้วจะดำเนินการไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัตินี้ เช่น การไกล่เกลี่ยโดยอำเภอตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 การไกล่เกลี่ยโดยสำนักงานอัยการสูงสุดตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานอัยการ พ.ศ. 2555
          3. กำหนดห้ามมิให้ผู้ไกล่เกลี่ยกระทำการหรือจัดให้กระทำการใด ๆ ซึ่งเป็นการบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือกระทำการโดยมิชอบด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คู่กรณีทำข้อตกลงระงับข้อพิพาท
          4. กำหนดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งที่เกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว หรือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ไม่สามารถกระทำการไกล่เกลี่ยได้ ส่วนข้อพิพาททางแพ่งที่สามารถไกล่เกลี่ยได้มี 4 ประการ ดังนี้ (1) ข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินซึ่งมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ (2) ข้อพิพาทระหว่างทายาทเกี่ยวกับทรัพย์มรดก (3) ข้อพิพาทอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (4) ข้อพิพาทอื่นนอกจาก (1) (2) และ (3) ที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าล้านบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
          5. กำหนดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา โดยแยกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้ (1) ความผิดอันยอมความได้ (2) ความผิดลหุโทษตามมาตรา 390 มาตรา 391 มาตรา 392 มาตรา 393 มาตรา 394 มาตรา 395 และมาตรา 397 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (3) ความผิดลหุโทษอื่นที่ไม่กระทบต่อส่วนรวมตามที่กำหนด ในพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ เมื่อคู่กรณีทำข้อตกลงระงับข้อพิพาททางอาญากันแล้ว ให้ถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับเฉพาะคู่กรณีซึ่งทำข้อตกลงดังกล่าว
          6. กำหนดให้ในการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา หากคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณาคดีของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลแล้ว ให้หน่วยงานซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแจ้งให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณี ทราบ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล อาจรอการสอบสวน การสั่งคดี การพิจารณาคดี หรือการพิพากษาคดี แล้วแต่กรณี ไว้ก่อนจนกว่าจะรู้ผลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
          7. กำหนดกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน โดยกำหนดให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยธ. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ซึ่งข้อพิพาทที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ดำเนินการได้ ประกอบด้วย (1) ข้อพิพาททางแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (2) ข้อพิพาททางแพ่งอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (3) ข้อพิพาททางอาญาตามมาตรา 34
          8. กำหนดบทกำหนดโทษผู้ไกล่เกลี่ยผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิ้นปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ครม. เห็นชอบจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ คาดเห็นเป็นรูปธรรมได้ภายใน 1-2 เดือน



นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับการจัดตั้งกระทรวงใหม่ดังกล่าว โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณาเห็นชอบแล้วเช่นกัน 
          


สำหรับสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่...) พ.ศ....นั้น ในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะมีการนำส่วนราชการในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รวมเข้าไว้ด้วยกัน
          


นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กชอว.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะทำหน้าที่ดแลในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของทั้งประเทศ
          


"การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ นี้จะเป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติ ซึ่งจะสามารถสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือการเตรียมความพร้อมประเทศสู่ศตวรรษที่ 21 ตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 ให้บรรลุผล...คาดว่าจะเห็นกระทรวงใหม่นี้ได้ในอีก 1-2 เดือน" รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
          


พร้อมระบุว่า นายกรัฐมนตรี ได้เน้นว่าการจัดตั้งกระทรวงใหม่นี้ จะต้องตอบโจทย์ให้การวิจัยใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นต้องไม่อยู่บนหิ้งอีกต่อไป นั่นหมายถึงผลงานวิจัยที่ต้องสามารถนำมาใช้งานได้จริง ตอบโจทย์ทั้งภาคเอกชน และภาคประชาสังคมได้อย่างแท้จริง
          


"นี่เป็นโจทย์ของท่านนายกฯ ที่บอกว่าในเมื่อมีการรวมหลายหน่วยงานเข้าไว้ด้วยกันแล้ว จะต้องตอบโจทย์การวิจัยเพื่อนำมาเป็นนวัตกรรมเชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคม และกระทรวงใหม่นี้ต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาคประชาชนให้มากขึ้น" นายสุวิทย์ระบุ


ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. 

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้ 
          1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ตามที่คณะกรรมการอิสระ เพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ คณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างหน่วยงานและระบบค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป 
          2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ 
          3. ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 (เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ) เกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ และศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษาแห่งชาติ และให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แล้วแจ้งผลการดำเนินการการจัดตั้งหน่วยงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป 
          4. ให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ 

          ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม การบริหารและการจัดการศึกษาของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา การเร่งรัดการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาวิชาชีพครู โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดหลักการซึ่งเป็นสาระสำคัญให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ กรอบการปฏิรูปการศึกษาตามมาตรา 54 และมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้ 
          1. การให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการการศึกษา 
             1.1 กำหนดให้สถานศึกษาของรัฐมีความเป็นอิสระในการบริหารและการจัดการศึกษาทั้งด้านการบริหารวิชาการ ด้านการบริหารงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และด้านการบริหารงานทั่วไป โดยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลสถานศึกษาของรัฐที่มีความเป็นอิสระต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำหรับสถานศึกษาของเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้ทุกรูปแบบตามที่กฎหมายกำหนด 
             1.2 กำหนดให้ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความรู้ความสามารถโดยต้องจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษา รวมทั้งจัดให้ผู้บริหารสถานศึกษาได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ 
             1.3 กำหนดให้สถานศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีแต่ละสถานศึกษามีคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลกิจการและการประกันคุณภาพของสถานศึกษา 
             1.4 กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดทำข้อกำหนดด้านคุณภาพของการศึกษา เพื่อให้สถานศึกษานำไปจัดทำข้อกำหนดด้านคุณภาพและดำเนินการด้านประกันคุณภาพของสถานศึกษาของตน รวมทั้งต้องจัดให้มีการประเมินคุณภาพการศึกษาโดยหน่วยงานภายนอก 
             1.5 กำหนดให้มีสมัชชาการศึกษาระดับจังหวัดในแต่ละจังหวัดโดยให้จัดตั้งตามความพร้อมและความสมัครใจรวมตัวกันของภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานของรัฐ เพื่อศึกษาและเสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด 
             1.6 กำหนดให้สถานศึกษาในระดับการศึกษาก่อนวัยเรียนและระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีหลักสูตรสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอน โดยหลักสูตรดังกล่าวต้องประกอบด้วยหลักสูตรแกนกลางที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้กับสถานศึกษาทุกแห่ง และหลักสูตรเพิ่มเติมของสถานศึกษาที่จัดทำขึ้นเอง โดยต้องมีความเหมาะสมกับศักยภาพและความถนัดของผู้เรียน และตอบสนองความต้องการที่แตกต่างและหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรม ชุมชน และสังคม 
          2. การปฏิรูปครู 
             2.1 กำหนดให้รัฐมีโครงการระยะยาวในการผลิตและพัฒนาครู มีวัตถุประสงค์ในการคัดกรองผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สนับสนุนทุนการศึกษา และคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพในการผลิตครูเพื่อให้ผู้รับทุนเข้าศึกษา เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของประเทศ 
             2.2 ให้ ศธ. จัดให้มีระบบและวิธีการที่หลากหลายและเหมาะสมในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนาสมรรถนะและพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง โดย ศธ. จะดำเนินการดังกล่าวเอง หรือสนับสนุนให้สถานศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ หรือจัดให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เพื่อดำเนินการดังกล่าว 
             2.3 กำหนดให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสม รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาความรู้และทักษะ และมีความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ โดยให้คำนึงถึงการปฏิบัติงานที่มีความยากลำบาก หรือการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยหรือห่างไกล 
          3. คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ 
             3.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านงบประมาณ การจัดอัตรากำลังคน และการพัฒนากฎหมาย รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและระบบการศึกษาตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ 
             3.2 กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นส่วนราชการใน ศธ. ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นหัวหน้าส่วนราชการ มีหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และศึกษา วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติ และการจัดการศึกษาและระบบการศึกษาตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ 
             3.3 กำหนดให้การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติต้องพิจารณาถึงปัจจัยด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนานาประเทศ สถานการณ์และผลการสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาของประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ โดยหากในกรณีที่สภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหมาะสมที่จะสามารถดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติได้ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติย่อมสามารถแก้ไขเพิ่มเติมแผนการศึกษาแห่งชาติให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้  


ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้ 

          1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และความเห็นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. คณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างหน่วยงานและระบบค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป 
          2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ 
          3. ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 (เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ) เกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย และให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แล้วแจ้งผลไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป 

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ 
          1. โครงสร้างการบริหาร 
             1.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจในการจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ประสานงาน กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอื่นใดที่เกี่ยวข้องในระดับชาติถึงระดับชุมชน เสนอหรือแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีและพัฒนาฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย 
             1.2 กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย รายได้ของสำนักงาน อาทิ เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ เป็นต้น ให้รายได้ที่สำนักงานได้รับจากการดำเนินงาน เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ 
          2. กำหนดให้มีระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัย แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ (1) ช่วงก่อนคลอด หรือทารกในครรภ์มารดา (2) ช่วงแรกเกิด ถึงก่อนอายุสามปีบริบูรณ์ หรือช่วงวัยเด็กเล็ก (3) ช่วงอายุสามปีบริบูรณ์ ถึงก่อนอายุหกปีบริบูรณ์ หรือ ช่วงเด็กก่อนวัยเรียน หรือช่วงวัยอนุบาล (4) ช่วงอายุหกปีบริบูรณ์ ถึงก่อนอายุแปดปีบริบูรณ์ หรือ ช่วงวัยรอยต่อระหว่างวัยอนุบาลกับวัยประถมศึกษาปีที่หนึ่งถึงปีที่สอง 
          3. กำหนดวัตถุประสงค์ของการให้เด็กปฐมวัยได้รับการดูแล พัฒนาและจัดการเรียนรู้ โดยให้อยู่รอดปลอดภัยและได้รับการคุ้มครองจากการล่วงละเมิดไม่ว่าในทางใด ให้มีพัฒนาการที่ดีทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและปัญญาที่ดีสมวัย สามารถเรียนรู้อย่างสอดคล้องกับหลักการพัฒนาศักยภาพและความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึมซับสุนทรียะและวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ มีอุปนิสัยใฝ่ดี มีคุณธรรม มีวินัย ใฝ่รู้ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก 
          4. กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจจัดให้มีการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว การตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ การเลี้ยงดูบุตร การพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมทั้งให้มีหน้าที่และอำนาจจัดให้มีสวัสดิการแก่หญิงมีครรภ์ในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม 
          5. กำหนดหน้าที่ให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีบริการและสวัสดิการด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านสังคมอย่างมีคุณภาพแก่เด็กปฐมวัย หญิงมีครรภ์ และบุคคลในครอบครัวของเด็กปฐมวัยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย เว้นแต่หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด จัดให้มีการพัฒนาเด็กปฐมวัยในช่วงรอยต่อระหว่างระดับอนุบาลกับระดับประถมศึกษาอย่างต่อเนื่องและราบรื่น จัดให้มีการคัดกรองเพื่อค้นหาเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา หรือเด็กปฐมวัยที่ไม่มีผู้ดูแลหรือเด็กด้อยโอกาสอย่างทันท่วงที รวมทั้งการให้ความรู้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยแก่ครอบครัวเด็กปฐมวัย 
          6. กำหนดให้การรับเด็กปฐมวัยเพื่อเข้ารับการพัฒนาในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติโดยวิธีการสอบคัดเลือกจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท 
          7. กำหนดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการและสำนักงานในปีที่สามของวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานของคณะกรรมการและสำนักงานโดยคณะกรรมการประเมินซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี 



ร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. …. 

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ดังนี้ 

          1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. …. ของกระทรวงกลาโหม ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป 
          2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองซึ่งต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ 

          สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. …. ของกระทรวงกลาโหม ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยเป็นการขยายขอบเขตการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัย พัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีป้องกันประเทศ บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวในภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมป้องกันประเทศขึ้นในประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในด้านการรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ 


ร่างพระราชบัญญัติกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....


คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้ 
          1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป 
          2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ 
          3. ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 เกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แล้วแจ้งผลการดำเนินการการจัดตั้งสำนักงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อประกอบการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่อไป 
          4. ให้สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ 
          1. กำหนดบทบาทของคณะกรรมการการกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เพิ่มมากขึ้นให้เป็นองค์กรบริหารและผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกำหนดยุทธศาสตร์การกระจายหน้าที่และอำนาจฯ และนโยบายการกระจายหน้าที่และอำนาจฯ รวมถึงเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องต่าง ๆ อาทิ มาตรการแนวทางการเสริมสร้างประสิทธิภาพของการบูรณาการภารกิจฯ การจัดสรรเงินงบประมาณที่จัดสรรเพิ่มขึ้นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ตลอดจนมีหน้าที่ประสานกับส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างสูงสุด 
          2. กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการการกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ยกระดับจากกองภายใต้ สปน.) โดยเป็นสำนักงานเลขานุการของ ก.ก.ถ. และรับผิดชอบในงานเลขานุการและกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 
          3. กำหนดหลักการการกระจายหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ การถ่ายโอนภารกิจ การจัดสรรภาษีอากร และการถ่ายโอนและพัฒนาบุคลากร รวมถึงการกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจัดตั้งองค์การมหาชนท้องถิ่นหรือรัฐวิสาหกิจท้องถิ่นได้ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดบริการสาธารณะหรือขยายบริการสาธารณะอันเป็นประโยชน์ของประชาชน โดยได้รับความเห็นชอบจากสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ ก.ก.ถ. และให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา 
          4. กำหนดหลักการในความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน เพื่อดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะหรือกิจกรรมสาธารณะให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นได้ 
          5. กำหนดกลไกและขั้นตอนการกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดให้มียุทธศาสตร์การกระจายหน้าที่และอำนาจ และการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 
          6. กำหนดให้มีเป้าหมายการจัดบริการสาธารณะและการติดตามประเมินผลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นหลักประกันการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานเดิมที่หน่วยงานของรัฐเคยให้บริการแก่ประชาชน และกำหนดให้มีการประเมินผลความพึงพอใจของประชาชนและให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 
          7. กำหนดให้มีการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น และการพิจารณารายได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากการจัดเก็บเองมากขึ้น 
          8. กำหนดบทเฉพาะกาลให้ภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร รวมทั้งการจัดสรรสัดส่วนภาษีและอากรที่จัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ได้ต่อไป จนกว่ากฎหมายว่าด้วยรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับ 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ณพลเดช" ปิ๊งไอเดีย! เชียงรายศูนย์กลางการเงินโลก-โมเดลสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย หลังออกกฎหมาย เขต ศก.พิเศษ

วันที่ 19 เมษายน 2567     เวลา 11.00 น. ที่ประเทศลาว  ดร.ณพลเดช มณีลังกา คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำส...