วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สติศึกษาตัวกำกับปัญญาประดิษฐ์ให้เป็นสัมมาปัญญาประดิษฐ์(AI)



สติศึกษาตัวกำกับปัญญาประดิษฐ์ให้เป็นสัมมาปัญญาประดิษฐ์ : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก  สาขาสันติศึกษา





ตามที่พระปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก  สาขาสันติศึกษา   มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้รายงานผลการเข้าร่วมระดมสมองการปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนาในสพฐ. ทั่วประเทศในฐานะกรรมการ โดยมีพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.ดร ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  เป็นประธานการประชุมในการปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนากับคณะกรรมการ ที่วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ความว่า  


"พระมหาหรรษา ได้กล่าวว่า สังคมไทยคาดหวังกับการปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียนของ สพฐ. อย่างมากโดยไม่มีการรื้อหลักสูตรเก่า แต่จะมีการปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก เหมาะสมกับบริบทผู้เรียน    โดยใช้สติเป็นฐานในการสอนเด็ก ผู้สอนจะต้องเข้าใจหลักของสติปัฏฐานตามแนวทางของพระพุทธศาสนา แต่ต้องมีการประยุกต์ให้เหมาะสมกับเด็ก สติปัฏฐานถือว่าเป็นหลักใหญ่ของพระพุทธเจ้า ส่วนทุกการสอนด้านสติสมาธิของทุกสายในประเทศไทยสามารถนำมาบูรณาการได้ โดยสติปัฏฐานเป็นหัวใจหลักพระพุทธเจ้า โดยใช้คำว่า "สติศึกษา Mindfulness  in Education" เพื่อบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา โดยการสติศึกษาสามารถบูรณาการได้กับทุกวิชา ธรรมะข้อใดจะมีความสัมพันธ์ระดับช่วงวัยใด 
         
อาจารย์ ผศ.รท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ กล่าวว่า เบญจศีลเบญจธรรม จึงเป็นแผนในการพัฒนามนุษย์ให้มีพฤติกรรมสะอาดโดยใช้สติปัฏฐานเป็นฐานใหญ่  โดยผู้เกี่ยวข้องในการปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนาจะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ในแนวทางสติปัฏฐานสูตรตามพระไตรปิฏก เช่น ผู้ปฏิรูปหลักสูตร จะต้องมีความเข้าใจก่อนจะมาปฏิรูป โดยเริ่มจากการโฟกัสจากบุคคลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เด็กที่เป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรง ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  สติศึกษาจึงต้องเป็นวิถีชีวิต  สติศึกษาจึงเป็นตัวเชื่อมกับทุกวิชาในการศึกษาของเด็กระดับประถมและมัธยมศึกษา สติศึกษาสำหรับเด็กประถมและเด็กมัธยมควรมีลักษณะอย่างไร หลักสูตรผู้สอนจะต้องเข้าใจเนื้อหาในสติศึกษา "การไม่มีสติคือมิจฉาทิฐิ หรือ สติกำหนดสิ่งใดเป็นอกุศลธรรมถือว่าเป็นมิจฉาสติ ส่วนสติกำหนดสิ่งใดเป็นกุศลธรรมถือว่าเป็นสัมมาสติ" สติปัฏฐานจึงเป็นเพื่อการเจริญวิปัสสนาและสมถะ พระพุทธเจ้าทรงคิดค้นขึ้นเรียกว่า "สติปัฏฐาน" แปลว่า ฐานแห่งสติ หรือการใช้สติ ตามพระไตรปิฏกฉบับมหาจุฬาเล่ม 10 และพระไตรปิฎกฉบับสากล วิถีธรรมจากพุทธปัญญา หน้า 754 
            

สติศึกษาสำหรับประถมศึกษาจึงต้องอาศัยการบูรณาการให้เกิดความเหมาะสม การออกแบบหลักสูตรมิใช่เกิดขึ้นจากคณะกรรมกาคเท่านั้น แต่หลักสูตรมีการพัฒนามาจากสภาพปัญหาจากเด็กในสังคมปัจจุบัน โดยมีการประชุมระดมสมองจากเด็ก ครู ผู้ปดครอง และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ก่อนมาสร้างหลักสูตรสติศึกษา หลักสูตรจึงไม่ได้พัฒนาขึ้นมาเพียงคณะกรรมการเท่านั้นแต่รับฟังทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเด็กมัธยมจึงอาศัย Mindfulness Learning ด้วยการเรียนรู้ด้วยสติ การพัฒนาผู้สอนไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์และครูผู้สอนจึงต้องอาศัย 5 ระบบในการเข้ามาสนับสนุน  คือ ระบบสรรหาผู้สอน ระบบการพัฒนาฝึกอบรม  ระบบการดูแล  ระบบบริหารจัดการ และ ระบบการนิเทศ 
          

โจทย์ที่สำคัญในเรื่องสติศึกษาจะต้องทำให้เกิดวิถีชีวิต ช่วงประถมมัธยมจะมีการออกแบบการสอนอย่างไร ถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับการปฏิรูปการสอน โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ ต่อไปวิชาพระพุทธศาสนาจะต้องไม่มีการการวัดด้วยคะแนนหรือเกรดแต่เรามุ่งดูพฤติกรรมของผู้เรียนเป็นสำคัญ แม้แต่การสอนพุทธประวัติจะต้องสอนให้เกิดแรงบันดาลใจ เช่น พระพุทธเจ้าเผชิญกับช้างนาฬาคีรี  ต้องมีสื่อแบบดิจิตอลมาช่วยออกแบบ ทีมสื่อการสอนจะต้องมีการเตรียมสื่อให้เกิดความเหมาะสม  จากการวิจัยนิทานช่วยให้เด็กมีการพัฒนาระหว่างอายุ 7-9 ปี เราลองมาคำนึงใบไม้กำมือเดียว สื่อจึงต้องผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางอายตนะทั้ง ๖ ทาง สื่อจึงถูกเลือกเฟ้นจากผู้สอน การสอนพระพุทธศาสนาจึงไม่ได้อยู่เพียงพระสงฆ์อย่างเดียวแต่ต้องสร้างความร่วมมือกับบุคคลทั่วไปที่มีอุดมการณ์ในการสอนพระพุทธศาสนา 
            

พระมหาหรรษา กล่าวว่า เราจะสรรหาโรงเรียนสติต้นแบบในประเทศไทยที่มีการปฏิบัติอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นต้นแบบด้านสติ โรงเรียนใดที่มีการนำสติมาใช้ได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นต้นแบบโรงเรียนสติระดับประเทศที่มีการปฏิบัติจริง  และเราอยากจะพัฒนาโรงเรียนสติต้นแบบ 1  โรงเรียนเพื่อเป็นการยกระดับเป็นโรงเรียนสติตามรูปการพัฒนาแบบ R and D  ถือว่าเป็นการทำเพื่อเป็นพุทธบูชา"นั้น


จึงเห็นด้วยกับกรอบความคิดดังกล่าว เพราะสติจะเป็นฐานหรือเป็นตัวกำกับกุศลธรรมต่างๆ ให้ทำงาน และปิดกั้นอกุศลธรรมต่างๆ ไม่ให้ทำงาน เข้าใจมาว่า บรรดาธรรมฝ่ายกุศลธรรมทั้งมวลนั้นต่างรวมลงในสติทั้งสิ้นเปรียบดังรอยเท้าสัตว์รวมลงในรอยเท้าช้างฉันนั้น หากพิจารณาตามมรรคมีองค์แปดเข้าใจว่า สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ มรรคตัวอื่นๆ แต่หากพิจารณาตามชุดธรรมว่าด้วยพละ 5 แล้ว จะกำหนดบทบาทของสติพละไว้อย่างชัดเจนคือเป็นตัวกำกับกุศลธรรมอีก 4 ประการคือ ศรัทธา วิริยะ สมาธิ และปัญญา


ดังนั้น หากการศึกษาใช้สติเป็นฐานก็เท่ากับว่ามีสติคือคุณธรรมคู่ความรู้คือปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันนี้ปัญญานั้นได้พัฒนาถึงขั้นปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและทุกภาคส่วนมีความเป็นห่วงว่า เอไอ จะคลองโลกหรือไม่ 

นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เสนอให้ทุกมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะอนาคตจะมี 3 ด้านสำคัญในการบริหารเพื่อให้อยู่รอด ข้อแรก คือ เราต้องปรับตัวอยู่กับหุ่นยนต์หรือ AI ที่มาแทนมนุษย์ให้ได้ และเราต้องสอนหนังสือในสิ่งที่ AI สอนหรือทำไม่ได้ ถัดมาต้องปรับรูปแบบการสอนใหม่ ยึดรูปแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป และสุดท้ายเรียนรู้การอยู่มนุษย์กับมนุษย์ อยู่ด้วยกันอย่างมีสติ มีธรรมะอยู่ในใจ อนาคต Innovation จะหมุนไปอย่างแน่นอน

ควรมีการปรับตาม 7 เทรนด์การศึกษาแห่งโลกอนาคต คือ  1.เอไอ (AI) มาเขียนโค้ดต้องเป็น Coding Literacy เพราะต่อไปเอไอคือวิถีชีวิต  2.เปลี่ยนผู้รับ(passive)เป็นผู้สร้าง (active) Student as Creators  3.สร้างมนุษย์ให้อยู่กับมนุษย์เป็น Empathy and Emotion Understanding 4.สร้างเครือข่าวทีมอัจฉริยะ Collaborative learning 5.ทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาประชากร Family and Community Involvement 6.กระตุ้นสร้างอัตลักษ์เฉพาะ Individualized Learning 7.จัดห้องเรียนแบบไตรลักษณ์ Redesigning learning Spaces

ดังนั้น หากมีการกำหนดสติศึกษาปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนาในสพฐ. ทั่วประเทศแล้ว จะเป็นตัวกำกับปัญญา 3 ประการให้มีพลัง คือระดับสุตมยปัญญา เก็บข้อมูลที่มีอยู่มากมาย หรือ Big Data จินตามยปัญญาคือการคิดวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากสุตมยปัญญา และภาวนามยปัญญาคือการสังเคราะห์ทำให้เกิดความรู้ใหม่ ซึ่งไม่ใช่เน้นแต่การท่องจำ เท่ากับเป็นการพัฒนาปัญญา 3 ได้ครบ อันเป็นการเสริมทักษะของพลเมืองในศตวรรษที่ 21 อย่างสมบูรณ์รองรับกับโลกปั่นป่วน (อนิจจัง) หรือ Disruption ได้  เท่ากับว่าทำให้ปัญญาประดิษฐ์มีจริยธรรมคือสติเป็นตัวนำ สอดคล้องกับการเสนอของนายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ที่ระบุว่า "ที่สำคัญต้องใช้จริยธรรมนำปัญญาประดิษฐ์" ความจริงก็คือคำว่า "สติปัญญา" นั่นเอง


ทั้งนี้พระมหาหรรษาได้ฉายภาพของโมเดลสติศึกษาว่า #สติ จัดเป็นรากฐานของชีวิตและสังคม ชีวิตนับตั้งแต่เกิดจนถึงตายจำเป็นต้องใช้สติ เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษา ตั้งแต่ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา จำเป็นต้องใช้ "สติศึกษา" เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงในทุกช่วงชั้นของการเรียนรู้  แม้ในขณะที่การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ต้องเน้นทั้งพุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา ยิ่งจำเป็นต้องใช้ "สติศึกษา" เป็นเครื่องมือในการเชื่อมสมานให้การศึกษาทั้ง 4 มติมีคุณค่าและมีพลังมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการในการพัฒนาผู้เรียนที่ต้องใช้เครื่องมือสำคัญ อันได้แก่ "ไตรศึกษา" คือ "ศีลศึกษา จิตตศึกษา และปัญญาศึกษา" มาเป็นแนวทางพัฒนาให้ผู้เรียนเจริญทั้งกาย พฤติกรรม จิต และปัญญาด้วยแล้ว ก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้ "สติศึกษา" มาเป็นฐานและกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนไตรศึกษาให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น


ถึงเวลาที่สังคมไทยจะต้องหันกลับมามีสติ โดยการพัฒนา "สติศึกษา" ให้เกิดขึ้นในวิถีชิวิต เมื่อแต่ละชีวิตมีสติ สังคมก็จะได้สติกลับคืนมา เมื่อใด #สังคมอุดมสติ เมื่อนั่น #สังคมอุดมสันติ  สติศึกษา จึงนับวินาทีแรกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา ต่อเนื่องเรื่อยมาผ่านประถมศึกษา มัธยมศึกษา ล่วงถึงอุดมศึกษา ตราบจนถึงสิ้นลมหายใจ จะเห็นว่า ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงตายต้องอาศัย "สติศึกษา" เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มีกินกันหรือยัง น้ำพริกพี่ญาคนรุม น้ำพริกหมดแล้วมั้ง

สั่งทางสยามพงษ์ช้อปได้เลยนะ https://www.tiktok.com/@siampongs