วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

อดีตผอ.กองอนุศาสนาจารย์ทร.เฉลยแล้ว! เรียนบาลีแล้วได้อะไร



เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม  2566 พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย  ผู้อำนวยการกอง กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว"ทองย้อย แสงสินชัย" ความว่า   เรียนบาลีแล้วได้อะไร   เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๖ มีนิสิต ป.เอก ของ มจร ท่านหนึ่งมาคุยกับผม  คุยตามเนื้อหาสาระจบแล้วก็เลยแถมด้วยเรื่อง-เรียนบาลี  จบลงด้วยคำถามว่า ถ้าคนรุ่นใหม่เขาสนใจเรียนบาลี แล้วเขาถามว่า-เรียนบาลีแล้วได้อะไร เราจะตอบเขาอย่างไร? อะไรคือคำตอบที่ถูกต้อง-ถ้าถามว่าเรียนบาลีแล้วได้อะไร? 

เมื่อก่อนนี้ การเรียนบาลีเป็นเรื่องของพระเณร ชาวบ้านสมัยก่อนไม่มีใครเรียนบาลี ชาวบ้านเรียนบาลีถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ จนถึงกับมีความเข้าใจกันว่าการเรียนบาลีเป็นหน้าที่ของพระเณรเท่านั้น ไม่ใช่หน้าที่ของชาวบ้าน 

แต่ ณ เวลานี้ มีชาวบ้านสนใจใคร่เรียนบาลีกันมากขึ้น 

ที่ว่า-ชาวบ้านสมัยก่อนไม่มีใครเรียนบาลี-นั้น หมายถึงชาวบ้านธรรมดาทั่วไป แต่เท่าที่ทราบกัน ชาวบ้านที่เป็น “เจ้านาย” เรียนบาลีจนได้รับพระราชทานพัดเปรียญก็เคยมี คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ

@siampong2 ตัวอย่าง #การเขียนข่าว ออนไลน์ #สร้างภาพลักษณ์ ที่ดีแก่ #พุทธศาสนา ม. #มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ♬ เสียงต้นฉบับ - siampong2

ข้อความบางส่วนจากจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙:๔๐ น.) บอกไว้ดังนี้ (ปรับปรุงเล็กน้อยเพื่อให้สมบูรณ์)

มหาอำมาตย์เอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๑๗ - ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๔) มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ เป็นพระอัยกาฝ่ายพระบิดาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชปัยกาฝ่ายพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ได้แก่ อภิรัฐมนตรี องคมนตรี สมุหมนตรี ราชองครักษ์พิเศษ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และนายทหารพิเศษกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ และเป็นต้นราชสกุลกิติยากร


กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงพระปรีชาสามารถในภาษาบาลี ได้ทรงแปลเรื่อง "จันทกุมารชาดก" จากภาษาบาลีเป็นไทยจนทรงได้รับพระราชทานพัดเปรียญธรรม ๕ ประโยคจาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นกรณีพิเศษ ทั้งที่ทรงเป็นฆราวาส ทรงพระนิพนธ์ ปทานุกรม บาลี-ไทย-อังกฤษ-สันสกฤต โดยอาศัยพจนานุกรมบาลีของ โรเบิร์ต ซีซาร์ ชิลเดอรส์ (Robert Caesar Childers) ที่สมาคมบาลีปกรณ์ (The Pali Text Society) ดำเนินการจัดพิมพ์มาก่อนหน้านี้แล้วเป็นหลัก แต่ต้นฉบับที่ทรงจัดทำไม่เรียบร้อยดีทุกส่วน ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร ร่วมกับศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ องคมนตรี ตรวจชำระต้นฉบับที่พระองค์ทรงร่างขึ้นแล้วโปรดให้มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย จัดพิมพ์ปทานุกรมดังกล่าวเพื่อเผยแผ่เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ นับแต่นั้น ปทานุกรมเล่มนี้จึงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น


ปทานุกรม (บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต) ฉบับกรมพระจันทบุรีนฤนาถ

https://drive.google.com/.../148TivajRkRth.../view...


สรุปว่า จนถึงบัดนี้มีผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุสามเณรเรียนบาลีกันมากขึ้น สอบได้ชั้นสูงสุดเท่ากับเปรียญธรรม ๙ ประโยคก็มีมากขึ้นด้วย


เรียนบาลีแล้วได้อะไร? คำตอบจะมี ๒ แบบ คือ -

๑ คำตอบของบุคคล ซึ่งจะมีหลากหลาย สุดแต่ว่าใครจะมองเห็นประโยชน์อะไรของการเรียนบาลี มีทั้งจากผู้ที่เรียนบาลีแล้วและได้รับประโยชน์ตามที่ตนเข้าใจไปแล้ว และจากผู้ที่ยังไม่ได้เรียนแต่คาดหมายไว้ว่าถ้าเรียนก็ควรจะได้ประโยชน์เช่นนั้นเช่นนี้

๒ คำตอบที่ตรงตามหลักการ ไม่เกี่ยวกับว่าใครจะเห็นอย่างไรหรือใครจะเข้าใจอย่างไร ประโยชน์ที่ตรงตามหลักการก็ยังคงเป็นเช่นนั้นเสมอ

คำตอบตามข้อ ๑ ร้อยคนก็เห็นไปร้อยอย่าง และมีเหตุผลสนับสนุนความเห็นของตนๆ ไปอีกร้อยอย่าง ไม่มีข้อยุติ พูดไปเท่าไรๆ ก็ไม่จบ เพราะฉะนั้น จึงไม่ขอพูดในที่นี้ ใครเห็นว่าอะไรเป็นประโยชน์ของการเรียนบาลี ก็เชิญไปว่ากันเองตามสบาย

คำตอบตามข้อ ๒ ยุติได้ เพราะฉะนั้น จึงควรพูด

เรียนบาลีแล้วได้อะไร?

คำตอบคือ ได้รักษาสืบต่อพระศาสนา

บาลีคือภาษาที่บันทึกหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา

เรียนบาลีคือเรียนรู้ภาษาที่บันทึกหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา

๑ เรียนบาลีแล้วเอาความรู้บาลีไปศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาให้รู้ว่าหลักคำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธศาสนาคืออะไร

๒ แล้วเอาหลักคำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธศาสนามาประพฤติปฏิบัติ

๓ แล้วบอกกล่าวเผยแผ่หลักคำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายสืบต่อไป

นี่คือเรียนบาลีแล้วได้รักษาสืบต่อพระศาสนา ซึ่งเป็นคำตอบที่ตรงตามหลักการ

ใครเห็นว่าเรียนบาลีแล้วได้อะไร ยกเอาสิ่งที่ตน “ได้” จากการเรียนบาลีมาชี้ให้เห็นได้อย่างชัดแจ้ง สามารถอธิบายเหตุผลได้อย่างดีเยี่ยม ก็เชิญว่ากันไป 

แต่ถ้าไม่ใช่ “การรักษาสืบต่อพระศาสนา” สิ่งที่ “ได้” นั้นก็เป็นสิ่งที่ได้ตามความเห็นของบุคคล ซึ่งก็ไม่มีใครบอกว่าถูกหรือผิด เจ้าของความเห็นย่อมมีสิทธิ์เต็มที่ในการยืนยันและยึดถือสิ่งที่ “ได้” จากการเรียนบาลีตามความเห็นของตนนั้นไว้ได้ตลอดไป-ด้วยความสบายใจ

ในขณะเดียวกัน “การรักษาสืบต่อพระศาสนา” อันเป็นสิ่งที่ “ได้” ตามหลักการก็ยังคงเป็นสิ่งที่ได้จากการเรียนบาลีอยู่เช่นนั้นเสมอไป ไม่ว่าใครจะมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตาม

เพราะฉะนั้น ถ้าใครหวังจะได้อะไรอื่นๆ จากการเรียนบาลี-ซึ่งไม่ใช่การรักษาสืบต่อพระศาสนา ก็จึงไม่ควรเรียนบาลี เพราะเรียนบาลีแล้วจะได้สิ่งนั้นหรือไม่ได้สิ่งนั้นก็ไม่มีใครรับประกันได้

รับประกันได้อย่างเดียวเท่านั้นว่า-เรียนบาลีแล้วได้รักษาสืบต่อพระศาสนา

เคยได้ยินท่านผู้หนึ่งซึ่งเรียนบาลีจบชั้นสูงสุดแล้ว ท่านบอกว่า “คนจบประโยค ๙ ก็ใช่ว่าจะหาเงินล้านได้”

ซึ่งเป็นความจริงที่สุด

เพราะไม่มีหลักฐานบอกไว้ที่ไหนๆ เลยว่า เรียนบาลีจบประโยค ๙ แล้วจะต้องหาเงินล้านได้ และเหตุที่หาเงินล้านได้ก็มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือเพราะเรียนบาลีจบประโยค ๙ เรียนอย่างอื่นหาเงินล้านไม่ได้ ทั้งเป็นสัจธรรมคือคนเรียนบาลีจบประโยค ๙ แล้วจะต้องหาเงินล้านได้ทุกคนไป ไม่มียกเว้น

ไม่มีหลักฐานยืนยันไว้ที่ไหนเลย-ว่าเป็นเช่นนี้

แต่การเรียนบาลีแล้วได้รักษาสืบต่อพระศาสนา-ถ้าปฏิบัติตาม ๑-๒-๓ ที่กล่าวไว้ ก็จะสามารถรักษาสืบต่อพระศาสนาได้จริงทุกคนไป ไม่มียกเว้น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ถามว่าเรียนบาลีแล้วได้อะไร จึงควรถามตัวเองอีกข้อหนึ่งก่อนว่า ท่านหวังจะได้อะไรจากการเรียนบาลี 

ถ้าสิ่งที่ท่านหวังจะได้เป็นสิ่งอื่น ไม่ใช่การรักษาสืบต่อพระศาสนา ท่านก็ต้องเรียนรู้ก่อนว่า สิ่งที่ท่านหวังจะได้นั้นสามารถหาได้จากการเรียนบาลีหรือไม่ หรือมีคนที่ได้สิ่งนั้นเช่นนั้นมาแล้วจากการเรียนบาลีบ้างหรือไม่ 

ถ้ามี ท่านก็เรียนบาลีได้เลย เพราะท่านก็ย่อมมีสิทธิ์จะได้สิ่งนั้นๆ ด้วยเหมือนกัน

แต่ถ้าสิ่งที่ท่านหวังว่าจะได้นั้นไม่ได้เกิดเพราะเรียนบาลี-เช่นการหาเงินล้านได้ดังที่กล่าวข้างต้น-ท่านก็ไม่ควรเรียนบาลีให้เสียเวลา

เพราะเมื่อเรียนไปแล้ว จนถึงระดับหนึ่ง ท่านอาจจะอุทานออกมาด้วยความผิดหวังระคนขุ่นเคืองว่า แหม หลงคิดว่าเรียนบาลีแล้วจะได้... แต่ก็เหลวทั้งเพ รู้งี้ไม่ยักเรียนให้เสียเวลา

@siampongnews [ส่งฟรี] ข้าวหอมมะลิตรา #หงษ์ทอง ♬ One Side

จะเห็นได้ว่า-เรียนบาลีแล้วได้อะไร คำตอบไม่ยากเลย-ถ้าคนถามตอบตัวเองได้ก่อนว่า-ต้องการอะไรจากการเรียนบาลี

ประเด็นที่ขอชวนให้คิดก็คือ เมื่อสิ่งที่ได้แน่ๆ จากการเรียนบาลีคือได้รักษาสืบต่อพระศาสนา เช่นนั้นแล้ว จะไม่เป็นเรื่องที่แห้งแล้งจืดชืด แล้วควรละหรือที่ใครๆ จะต้องเรียนบาลีเพื่อสิ่งที่แห้งแล้งเช่นนั้น?

ประเด็นนี้ท่านคิดอย่างไร?

ความคิดของท่าน จะเป็นการวัดระดับจิตใจของท่านไปในตัว

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๖ กรกฎาคม ๒๕๖๖

๑๐:๑๔


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กฎแห่งศีลธรรมของเอ็มมานูเอ็ล ค้านท์ ในปริบทพุทธสันติวิธี

(ภาพนี้สร้างโดยใช้ AI ผ่าน ChatGPT ของ OpenAI ที่แสดงถึงการสนทนาทางปรัชญาระหว่างเอ็มมานูเอ็ล ค้านท์และพระสงฆ์พุทธในบรรยากาศที่เงียบสงบ ซึ่งผ...