วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

"เนติวิทย์" เล่าความประทับใจจากการบวช ได้พบสังคม "อนุรักษ์นิยม" ที่คาดหวัง ปลื้มสอบเปรียญธรรม ประโยค1-2 ได้



'เนติวิทย์' เล่าความประทับใจจากการไปบวช ได้เจอสังคม'อนุรักษ์นิยม'ที่คาดหวังที่ดีมีเป้าหมายคือการใช้ชีวิตที่พยายามไม่เพ่งโทษกันและกันสร้างสังฆะที่เอื้อต่อการเรียนรู้การเติบโตทางจิตวิญญาณทำให้คนเรามีคุณค่าในตัวเอง

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม  2566  นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง โพสต์เฟซบุ๊กมีเนื้อหาดังนี้ ความประทับใจจากการไปบวชอย่างหนึ่ง

คือ การได้เจอสังคม “อนุรักษ์นิยม” ที่คาดหวัง  ดังที่ทุกคนทราบ ตอนที่ผมไปบวชมีหลายครั้งที่สื่อนำเสนอเชิงโจมตี ตั้งแต่ตอนไปบวชใหม่ๆ หรือเพื่อนที่ไปเยี่ยมแต่งกายไม่เรียบร้อย(ตามทัศนะสื่อฝ่ายขวา) จนถึงการไม่ไปเกณฑ์ทหารในสมณเพศ

สมัยผมเรียนมัธยม ถ้าเรื่องผมอยู่ในสื่อ ผอ. หรือครูจะกลัวมาก จะเรียกไปพบที่ห้องปกครองบ้าง ห้องผอ บ้าง เพื่อตำหนิ ขออย่าให้ผมแต่งชุดนักเรียนทำให้โรงเรียนเสียหาย ย้ายโรงเรียนได้ยิ่งดี แต่ตอนที่ผมบวชอยู่ ไม่เคยถูกพระภันเตเรียกไปขอให้ระวัง ตำหนิ หรือพูดเชิงนัยว่า ควรจะสึกอย่าทำให้วัดเสียชื่อ แม้ว่าจะมีญาติโยมบางคนที่มาวัดอย่างยาวนานถึงขั้นประกาศว่าจะไม่มาเหยียบวัดจนกว่าแกนนำสามกีบ (คำที่โยมคนนั้นใช้เรียก) จะสึกหาลาเพศออกไป

ตอนเพื่อนแต่งกายมาวัด TopNews ไปลงคนดูหลายแสน ถล่มผม ตำหนิวัด ตอนนั้นรองเจ้าอาวาสและพระภันเตเรียกผมไปที่ห้องประชุม และเปิดคลิปให้ดู ตอนแรกผมคิดว่าผมต้องถูกตำหนิอะไรแน่ คิดถึงภาพสมัยเป็นนักเรียนถูกเรียกพบ แต่กลับเป็นว่าทุกคนหัวเราะ เห็นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องตลก

มีแต่ผมคิดจะสึกเพราะกลัวทำวัดเสียหายซะเอง ตอนจะต้องไปวันเกณฑ์ทหาร ผมตั้งใจมานานแล้วว่า ผมจะสู้ไม่ไปเกณฑ์ วัดดีกับผมมาก ผมไม่อยากให้วัดถูกมองว่าเก็บพระอันตรายนี้ไว้ ผมกำลังจะทำให้วัดเป็นข่าวดังแน่ และญาติโยมจำนวนมากก็อาจจะหนีไม่มาทำบุญที่วัด ผมจะลาสิกขาก่อนหน้าวันนั้น แล้วจะไปสู้ต่อในเพศฆราวาส ผมคิดแบบนี้ แต่พระในรุ่นเดียวกันและภันเตก็พยายามขอร้องให้ผมคิดเปลี่ยนใจและบวชต่อไป

ความตั้งใจสึกนี้ถูกเลื่อนไปด้วยอุบัติเหตุที่ผมสอบเปรียญธรรม ประโยค1-2 ได้วิชาแปลที่ถือว่ายากมาก ตกวิชาไวยากรณ์ที่ถือว่าง่ายมาก ผมอดเสียดายที่อ่านมาตั้งนานจะซ่อม เลยจะอยู่เป็นพระไปก่อน ต้องเป็นพระต่อหลังวันเกณฑ์ทหาร ซึ่งผมก็ตั้งใจแล้วว่ายังไงก็จะไม่ไปเกณฑ์ทหารตามวันที่เขาให้ไป ไม่ได้หนีแต่ติดสอบ โดยจะทำหนังสือไปอธิบาย สอบเสร็จจะสึก แต่ถ้าเขาไม่ยอม จะมาจับที่วัดก็เอา และผมก็เขียนหนังสือเจตนารมณ์ต่อต้านเกณฑ์ทหารที่จะลงสาธารณะด้วย ผมคิดว่า ที่วัดคงไม่ให้ผมอยู่สอบซ่อมแน่ ต้องเป็นเรื่องใหญ่แน่ มันข่าวใหญ่เลย และผมก็คิดว่า ถ้าผมเอาแถลงการณ์ไปให้ท่านเจ้าคุณดู ท่านก็คงจะต้องพูดโดยนัยให้ผมลาสิกขาไป เหมือนที่ผมอยู่โรงเรียนหรือมหาลัยก็ถูกขับไล่ตลอด หากเป็นเช่นนั้นผมก็จะไม่ขัดขืนต่อต้านใดๆ กลับเป็นว่าท่านอ่านแถลงการณ์ต่อต้านของผมอย่างนิ่งสงบ แถมช่วยแก้คำผิดให้อีกด้วย เรื่องนี้ถูกนำเข้าหารือที่ประชุมสงฆ์ของวัดด้วย แต่ก็ไม่มีพระรูปไหนจะต่อต้าน ไม่ให้ผมอยู่ต่อไป มีแต่แสดงความเป็นห่วง ขอให้ปลอดภัย แม้บางท่านจะไม่เห็นดีว่าผมจะทำไปทำไม

ก่อนลาสิกขา ผมได้มีโอกาสพิเศษไปกราบเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) เจ้าอาวาสวัดที่พำนักรักษาตัวอยู่ชนบทห่างไกล วัย 85 ปี ท่านก็ซักถามเรื่องเกณฑ์ทหาร พยายามอยากให้ผมบวชต่อไป ไม่ต้องลาสิกขา ซึ่งก็จะพ้นเกณฑ์ทหารไปได้ด้วย แต่ผมก็บอกว่าผมยืนยันว่าจะสึก จะสู้ ไม่อยากให้คนคิดผมอาศัยผ้าเหลืองหนีทหาร ท่านก็ไม่ห้าม ไม่กังวลใจใดๆ ว่าคนจะมาโจมตีท่าน หรือจะทำให้วัดเสียชื่อเสียง

สามวันสุดท้ายก่อนจะสึก เวลาเจอท่านเจ้าคุณ ท่านจะถามตลอดว่า จะสึกแน่หรือ อยู่ไปอีกสักเดือนเถอะ เป็นมหาก่อนก็ดีนะ แม้วันสุดท้ายก็โน้มน้าว ทำให้การตัดสินจะสึกก็รู้สึกไขว้เขวอยู่เหมือนกัน

พระครูรูปหนึ่งก็เคยบอกว่า ถึงญาติโยมจะต่อต้านไม่มาวัดจำนวนมาก ก็ไม่ใช่ปัญหา พระทุกรูปโอเค ท่านอยากให้อยู่ ชีวิตพระมีเป้าหมายคือการฝึกตน มาร่วมกันฝึกตนต่อไปเถิด อยากปฏิรูปพระศาสนาก็มาบวชอยู่ต่อ ทำที่อยากทำ ไม่มีใครจะขัดขวาง

นี่คือประสบการณ์และความประทับใจที่ได้จากสังคมอนุรักษ์นิยม ที่มีเป้าหมายคือการใช้ชีวิตที่พยายามไม่เพ่งโทษกันและกัน มีเป้าหมายร่วมกันคือ สร้างสังฆะที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การเติบโตทางจิตวิญญาณ

เป็นสังคมอนุรักษ์นิยมที่ผมเคยคาดหวังว่าจุฬาฯจะเป็น ผมไม่เคยอคติกับคำว่าอนุรักษ์นิยมไม่ดี เพราะโตมาก็เรียนรู้ชีวิตนักคิดฝ่ายนี้ก็หลายคนเช่น กรมดำรงฯ กรมนริศ พระองค์ธานีฯ พระยาอนุมานราชธน ผมชอบและเห็นว่าเอ็ดมัน เบิร์ก เข้าใจได้มากกว่าทอม เพน แต่จุฬาฯก็ไม่เป็น ไม่ใช่อนุรักษ์นิยมที่คาดคิด ขันติธรรมและเสรีภาพเป็นแค่คำกลวง สติปัญญาหรือความเป็นเลิศก็ไม่ได้ให้ค่าจริงๆ ความงามก็แคบๆ ผมถูกขับไล่ในทางใดทางหนึ่งเสมอ โดยผู้หลักผู้ใหญ่ผู้บริหารก็ต้องการแต่ประโยชน์ส่วนตนโดยอ้างนิสิตบ้าง อ้างเจ้าบ้าง โหนไปโหนมา ไม่มีหลัก ความที่ผมอยู่ในสังคมแบบนี้มานานก็เกิดความคิดระแวงอยู่ตลอดว่าผมกำลังจะสร้างความน่าหนักใจให้องค์กรหรือใครอยู่ ผมกำลังเป็นภาระน่ากลุ้มใจแค่ไหน ผมควรหลีกเร้นหายไปโดยเร็วหรือไม่

แต่สังคมสงฆ์วัดนี้ ทำให้ผมเห็นสาระของอุปมาว่าพระสงฆ์เหมือนดอกไม้นานาพันธุ์ที่มาร่วมกัน ในระเบียบบางอย่าง แต่ก็ไม่ทำลายความหลากหลายที่มีจุดหมายร่วมกันไป

สมเด็จพระพุทธโฆษณาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) เคยกล่าวว่า “พระสงฆ์นี้เป็นหมู่ เป็นชุมชน อันประกอบด้วยภิกษุทั้งหลาย ที่มาจากชาติตระกูลต่างๆ มีภูมิหลัง มีการศึกษาอบรมต่างๆกัน มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกอะไรๆ ต่างกันไปทั้งนั้น แต่ละบุคคลไม่เหมือนกันเลย แต่พอเข้าสู่สังฆะ มารวมกันเป็นสงฆ์นี้ มีวินัยอันหนึ่งอันเดียวกัน ปฏิบัติเพื่อธรรม ตามแนวทางของธรรมอันเดียวกัน โดยเฉพาะมีวินัยเป็นเครื่องจัดตั้งวางระบบ ก็มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย งดงาม เหมือนดังดอกไม้ต่างสีต่างพันธุ์ ดอกเล็กดอกใหญ่มากมายนั้น ที่ช่างดอกไม้ได้จัดสรรให้เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม”

คำอาจจะดูอนุรักษ์นิยม แต่ก็ใช่แล้ว นี่คือสังคมอนุรักษ์นิยมไง แต่คำนี้ อุดมคตินี้มีการพยายามทำมากกว่าแค่คำพูดเปล่าๆ และก็ทำให้คนหนึ่งรู้สึกและเห็นด้วยตา ผมคนนี้ก็ไม่ใช่พระเรียบร้อยอะไรตอนอยู่วัด ชอบแลกเปลี่ยน ถกเถียงกับพระภันเตในวัดอยู่เสมอ บางทีก็คุยกันหลายชั่วโมง เวลาเทศน์แสดงธรรมก็ทำนอกขนบอยู่บ้าง เช่น อ้างว่าไม่ต้องมีศาสนาก็ได้เหมือนอาจารย์ป๋วย หรือ ให้ ChatGPT ช่วยแต่งชาดกมาหลอกญาติโยมให้เชื่อแล้วตอนท้ายค่อยเฉลยว่าไม่มีอยู่จริง (พระนวกะท่านหนึ่งฟังแล้ว พูดขึ้นมาเลยว่า เห้ย นี่มันเถรวาทเหรอว่ะ) 555 (แต่ร่วมสมัยและเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน)

สุดท้าย สังคมนี้ย่อมไม่สมบูรณ์แบบทั้งหมดอย่างแน่นอน มีปัญหาก็ไม่น้อย อาจจะดีมากกว่านี้อีกก็ยังได้ หลากหลายและกว้างกว่านี้ได้ แต่ผมได้เข้าใจความโอบอุ้มว่าเป็นอย่างไร เข้าใจว่าสังคมอนุรักษ์นิยมที่ดีพอมีอยู่จริง ทำให้คนเรามีคุณค่าในตัวเอง และก็คงจะไม่ลืมเลือนความงดงามของสังฆะ ความรู้สึกอบอุ่นใจนี้ไปชั่วชีวิต รวมถึงเราจะจินตนาการสังคมภายนอกที่ได้บทเรียนอะไรจากสังคมนี้ และไปไกลทำให้ดีกว่าสังคมนี้ด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"พิชิต" ตรวจเยี่ยม "มจร" หารือจัดงานวิสาขบูชานานาชาติ

เมื่อวันที่  9 พฤษภาคม 2567 หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แบ่งงานรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 ท่านเป็นที่เรีย...