วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

"ก้าวไกล" ยื่นร่างแก้รธน.ปิดสวิตช์ส.ว.เลือกนายกฯ "จตุพร" ชี้ผ่านยากเหมือนเข็นครกขึ้นเสาไฟ


 

"ก้าวไกล" ยื่นร่างแก้รธน.ปิดสวิตช์ส.ว.เลือกนายกฯ  ขณะที่ "สมชัย" ระบุต้องผ่าน 3 ด่านใช้เวลาเร็วสุดเดือนครึ่ง "จตุพร" ชี้ผ่านยากเหมือนเข็นครกขึ้นเสาไฟ

วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส. พรรคก้าวไกล เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยมีนายวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นผู้รับเอกสาร สาระสำคัญของร่างคือการยกเลิกมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้อำนาจ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

 นายชัยธวัชกล่าวว่า ส.ส. พรรคก้าวไกลได้เข้าชื่อกันตามรัฐธรรมนูญ เสนอร่างฉบับนี้เพื่อคืนอำนาจในการเลือกนายกฯ ให้แก่ประชาชน เนื่องจากการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ เมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) ปรากฏชัดว่ามี ส.ว. งดออกเสียงถึง 159 คน ไม่มาประชุมอีก 43 คน หลายคนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ประสงค์ใช้อำนาจทำหน้าที่เลือกนายกฯ ขอให้เป็นเรื่องของ ส.ส. ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปจะนำไปสู่ทางตันทางการเมือง

@siampongnews #ก้าวไกล ยื่นร่างแก้รธน. ปิด #สวิตช์ส.ว. เลือกนายกฯ #จตุพร ชี้ผ่านยากเหมือนเข็นครกขึ้นเสาไฟ #สมชัย เร็วสุดเดือนครึ่ง#ข่าวtiktok #tiktokหน้าฝน ♬ เสียงต้นฉบับ samran sompong

 ส.ส. พรรคก้าวไกลในฐานะสมาชิกรัฐสภา จึงเสนอทางออกให้ ส.ว. ในเมื่อท่านไม่ประสงค์จะใช้อำนาจนี้ด้วยความกระอักกระอ่วนใจหรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม ในการโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ทางนี้จึงจะเป็นทางออกที่ตอบโจทย์ทั้ง ส.ว. ทั้งระบบรัฐสภาของประเทศ ทำให้การเมืองไทยเดินหน้าต่อไปได้ และมีรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็วที่สุด

 เลขาธิการพรรคก้าวไกลชี้แจงต่อคำถามของผู้สื่อข่าวด้วยว่า คาดว่าระยะเวลาที่รัฐสภาพิจารณาร่างฉบับนี้ ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพราะเสนอแก้ไขเพียงมาตราเดียว และการพิจารณาสามารถดำเนินการคู่ขนานกับการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ได้ โดยหลังจากนี้พรรคก้าวไกลจะดำเนินการขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ต่อไป

 พร้อมกับย้ำว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิก ม.272 ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการเสนอหลายครั้งในสภาชุดที่แล้ว และ ส.ส. พรรคที่เป็นฝั่งรัฐบาลในเวลานั้น เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่พรรคพลังประชารัฐ ก็เคยออกเสียงสนับสนุน รวมถึง ส.ว. มากกว่า 60 คนก็เคยเห็นชอบ จึงเชื่อว่าครั้งนี้ไม่น่ามีปัญหา

 ทั้งนี้ ได้แจ้งการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อพรรคเพื่อไทยเป็นการเบื้องต้นแล้ว เนื่องจากพรรคก้าวไกลต้องการให้กระบวนการนี้ใช้เวลาสั้นที่สุด จึงไม่สามารถรอให้สมาชิกจากพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลพรรคอื่นๆ มาร่วมเซ็นด้วย ดังนั้น การที่พรรคก้าวไกลยื่นร่างนี้เพียงพรรคเดียว ไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยและอีก 6 พรรค จะไม่เห็นด้วยหรือขัดข้องแต่อย่างใด

 “ในเมื่อ ส.ว. มีมโนธรรมสำนึกว่าท่านไม่สามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้นเพื่อให้ท่านไม่ต้องทำอะไรที่ขัดกับมโนธรรมสำนึก ก็แก้ไขยกเลิกมาตรานี้เสีย เพื่อคืนอำนาจในการเลือกนายกให้ประชาชน และเมื่อประชาชนตัดสินใจไปแล้ว จะถูกจะผิดอย่างไรท่านก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะท่านอ้างว่าถ้าตัดสินใจก็ต้องรับผิดชอบ ท่านจึงไม่ตัดสินใจ หนทางนี้จึงเป็นการหาทางออกให้ทุกฝ่าย เป็นทางออกที่ดีที่สุด และต้องถามไปยัง ส.ว. หลายท่านที่ได้แสดงออกมาก่อนหน้านี้ว่าตนเองไม่อยากเกี่ยวข้องกับการเลือกนายกฯ ท่านยินดีหรือไม่ที่จะช่วยกันเอาอำนาจของท่านออกไป และคืนอำนาจนี้ให้ประชาชน” นายชัยธวัชกล่าว

 ด้านประธานรัฐสภากล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่สภาตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของเอกสาร โดยจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพราะถือว่าเป็นเรื่องด่วน

@siampongnews [ส่งฟรี] ข้าวหอมมะลิตรา #หงษ์ทอง ♬ One Side - Iyanya

"สมชัย" ชี้ต้องผ่าน 3 ด่านใช้เวลาเร็วสุดเดือนครึ่ง

 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เนื้อหาดังนี้ จะแก้ ม.272 มี 3 ด่าน  ด่านที่ 1 ในการพิจารณาวาระที่ 1 แม้จะใช้เสียงข้างมากของรัฐสภา แต่ต้องมี ส.ว.ร่วมเห็นชอบด้วยอย่างน้อย 84 คน  ด่านที่ 2 ในการพิจารณาวาระที่ 3 ต้องมี ส.ส. จากพรรคการเมือง ที่ไม่มีสมาชิกเป็นครม.ประธานหรือ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมเห็นชอบ ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 (สมมติว่า ตัด ประชาชาติ ก้าวไกล เพื่อไทย รวม 301 คน) ร้อยละ 20 ของที่เหลือ คือ 40 คน  ด่านที่ 3 ส.ส. 50 คน หรือ ส.ว. 25 คน หรือ ส.ส. บวก ส.ว. 75 คน ยังสามารถเข้าชื่อกันขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าสิ่งที่แก้และผ่านรัฐสภาแล้ว ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ได้ด้วย  รวมกระบวนการทั้งหมด อย่างสั้น 6-8 สัปดาห์ อย่างยาว 4 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาในมาตรา 272 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 บัญญัติไว้ว่า  ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดําเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทําในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88

ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลันและในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดําเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

 "จตุพร" ชี้ผ่านยากเหมือนเข็นครกขึ้นเสาไฟ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน ได้ให้ความเห็นผ่านในรายการ "เปิดปากกับภาคภูมิ" ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ดำเนินรายการโดย นายภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ ว่า  ทำเพื่อเปิดประตูที่จะไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน เพราะสามารถยื่นได้ แต่หาโอกาสที่จะเป็นจริงไม่ได้เลย มันยากมาก ยากยิ่งกว่าการหามาให้ได้ซึ่งนายกฯ การโหวตนายกฯ คุณพิธาต้องการเสียง ส.ว. เพิ่มอีก 65 เสียงเท่านั้น แต่ในกรณีแก้ไขมาตรา 272 ต้องได้ ส.ว. 84 คน และยังต้องเอา ส.ส. อีก 20% จากพรรคที่ไม่มีประธานสภา, รองประธานสภาฯ ซึ่งถ้าเอาเสียง 376 เป็นตัวตั้ง แต่ถ้าได้เสียง ส.ว. ไม่ถึง 84 ก็จะถูกปัดตกไป ยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นเสาไฟ

 รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส กล่าวว่า  เข้าใจว่าก้าวไกลพยายามที่จะสื่อสารในเชิงสัญลักษณ์ว่าการที่ ส.ว. จำนวนมาก ได้โหวตในลักษณะการงดออกเสียง และออกไปให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เป็นการปิดสวิตช์แล้ว เมื่อเป็นแบบนี้ก้าวไกลคงคิดว่าเมื่อ ส.ว. บอกจะปิดสวิตช์ตัวเอง แต่การไม่โหวตมันไม่ใช่การปิดสวิตช์

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...