วันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

“อธิการบดี มมร” ร่วม “ปลัดมหาดไทย” ปลูกป่า “คืนธรรมชาติสู่ธรรม” ถวายเป็นพระกุศลแด่ “สมเด็จพระสังฆราช”



เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 เวลา 09:30 น. ที่วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ ตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง พระเทพวัชรเมธี ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ รองเจ้าคณะภาค 6 – 7 (ธรรมยุต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในโครงการคืนธรรมชาติสู่ธรรม ปีที่ 6 ในพระสังฆราชูปถัมภ์ และพิธีวางศิลาฤกษ์ พระธาตุปาพจนุตตมมงคล ในโอกาสมงคลสมัยที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชนมายุ 8 รอบ 96 พรรษา 26 มิถุนายน 2566 โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง รองศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำปาง นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ นายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ 13 อำเภอในพื้นที่ นางสาวตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ ชุดที่ 25 นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา นางจิตรี จิวะสันติการ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง นายปัญญา ตั้งเด่นชัย ประธานกรรมการ บริษัท ปัญญาคอนกรีต จำกัด นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส ประธานกรรมการบริหาร BRG GROUP กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนจิตอาสา และพุทธศาสนิกชนในพื้นที่จังหวัดลำปางและจังหวัดใกล้เคียง ร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

@siampongnews [ส่งฟรี] ข้าวหอมมะลิตรา #หงษ์ทอง ♬ One Side - Iyanya

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วเปิดกรวยกระทงดอกไม้ถวายสักการะเบื้องหน้าพระรูปสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และเปิดกรวยกระทงดอกไม้ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล ประธานสงฆ์ให้ศีล นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวคำถวายผ้าป่าสามัคคี เป็นเงิน 559,711.77 บาท เพื่อสมทบโครงการคืนธรรมชาติสู่ธรรม แล้วนำผู้ร่วมพิธีร่วมถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา กรวดน้ำ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์อนุโมทนา พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการพระประวัติและพระกรณียกิจเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการคืนธรรมชาติสู่ธรรม ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ปีที่ 6 โดยกล่าวว่า วันนี้เป็นวันอันเป็นมงคลที่ทุกคนได้มาร่วมกันทำสิ่งที่ดีให้กับโลกใบเดียวนี้อีกครั้งหนึ่ง ทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงพื้นที่บริเวณวัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ที่น่าจะใกล้เคียงสวรรค์ชั้นฟ้าเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ 1 ปีที่ 2 เพราะช่วงนั้นยังมีความแห้งแล้งอยู่มาก ซึ่งต้องกราบขอบพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพวัชรเมธี ที่กรุณาลุกขึ้นมาเป็นผู้นำและเปิดโอกาสให้พวกเราชาวมหาดไทยและพี่น้องข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม จังหวัดลำปาง และพี่น้องภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้มีโอกาสมาร่วมตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ช่วยกันดูแลพื้นที่บริเวณเกือบ 1,000 ไร่ของวัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์แห่งนี้ ให้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ เป็นแหล่งรวมต้นไม้นานาพันธุ์ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าต้นที่อยู่มาก่อนแล้วหรือเรามาช่วยปลูกก็ดี ทุกต้นล้วนแต่มีบุญคุณกับเรา ช่วยให้โลกใบนี้ของเรามีอายุยืนยาวเพิ่มมากขึ้น เพราะตอนกลางวันจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสง และคลายก๊าซออกซิเจนให้มนุษย์และสรรพสัตว์ได้หายใจมีอายุยืนยาว และสิ่งสำคัญที่เราทุกคนต้องช่วยกันตระหนักและเตือนตัวเอง คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเสีย ถ้าลอยสู่ชั้นบรรยากาศมาก ๆ จะทำให้สภาพภูมิอากาศโลกเราเปลี่ยนไปในทางที่เลวร้าย เนื่องจากก๊าซเสียทั้งหลายจะไปรวมตัวเป็นก๊าซเรือนกระจก ทำให้อุณหภูมิโลกเราสูงขึ้น ดินฟ้าอากาศไม่ตกต้องตามฤดูกาล ความอุดมสมบูรณ์ของโลกก็แปรเปลี่ยน เกิดโรคระบาดชนิดใหม่ ๆ ขึ้น เช่น โรคโควิด-19 เมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นต้น

“บุญคุณของท่านเจ้าคุณพระเทพวัชรเมธีผู้ที่มีความกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด ต่อพระอุปัชฌายาจารย์ และต่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช เป็นกตเวทิตาคุณที่ท่านเจ้าคุณคิดถึงญาติมิตรและพี่น้องที่อยู่โดยรอบพื้นที่วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์แห่งนี้  เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ท่านได้มาช่วยทำ มาริเริ่มทำโครงการคืนธรรมชาติสู่ธรรม ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 และจะมีปีที่ 7 8 9 และปีต่อ ๆ ไป ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงความสำเร็จต้องอาศัยพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอำเภอเถินผู้อาศัยในพื้นที่โดยรอบวัดแห่งนี้ และขอฝากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายช่วยกันบริหารจัดการโครงการฯ ให้มีความยั่งยืน เหมือนดั่งที่เราได้ตั้งคำมั่นร่วมกันทั้ง 76 จังหวัดกับทางผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Thailand) ซึ่งเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะทำงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยคำว่า “อย่างยั่งยืน” จะเกิดได้ ไม่ได้หมายความว่า จะมาร่วมกันทำในทุกเดือนกรกฎาคมแค่ปีละครั้งเดียว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงสรุปวิธีการทำให้เกิดความยั่งยืนผ่านโครงการพระราชดำริ 4,741 โครงการว่า เราจะต้องมีการพูดคุยกับพี่น้องทุกภาคส่วนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่อำเภอเถิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตำบลแม่ถอดเป็นประจำ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ร่วมปรึกษาหารือ และหลังจากร่วมพูดคุย ร่วมปรึกษาหารือ ร่วมคิดแล้ว เราก็ต้องชวนกันร่วมทำ เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดลำปาง จะได้ร่วมกันรับประโยชน์มากกว่าคนอื่นด้วยตามอง แต่ถ้าด้วยความรู้สึกนั้น คนทั้งโลกล้วนได้รับประโยชน์  ทั้งนี้ พระองค์ทรงอรรถาธิบายว่า กระบวนการร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ ต้องทำเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องในระยะเวลาที่ยาวเกิน 10 ปี ความยั่งยืนจึงจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ทางจังหวัดอาจจะตั้งคณะทำงานภายในที่ดำเนินการโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ในส่วนของอำเภอก็โดยท่านนายอำเภอ มาทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชน สร้างความยั่งยืนตั้งแต่ริมถนนใหญ่ ให้ยาวไปถึงอำเภอแม่พริก หรือพื้นที่ต่าง ๆ ตามบริบทภูมิสังคม เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสใช้ประโยชน์ มีโอกาสในการช่วยกันทำตามโครงการคืนธรรมชาติสู่ธรรม ในพระสังฆราชูปถัมภ์ในทุกเดือน ในทุกปี และถ้าสามารถทำในทุกวันได้ ก็จะทำให้ความตั้งใจที่ท่านเจ้าคุณเป็นต้นเค้าต้นเรื่องจะยิ่งก่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนได้เต็มที่เพิ่มมากขึ้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ความสมบูรณ์ที่เพิ่มมากขึ้นอันเป็นรูปธรรมชัดเจน ณ วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์แห่งนี้ พี่น้องประชาชนต้องได้อาศัยใช้ประโยชน์ให้บริบูรณ์ เช่น ใช้เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องของระบบนิเวศ ทำให้พื้นที่บริเวณวัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ของเรามีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ซึ่งจะทำให้ผู้คนได้เรียนรู้ว่าต้นไม้แต่ละต้นชื่ออะไร ชื่อตามวิทยาศาสตร์ ชื่อตามถิ่น คุณประโยชน์ มีอะไรบ้าง โดยป่าที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากมองเห็นด้วยตาว่าเขียวครึ้มร่มเย็น มีนก มีสัตว์เล็กสัตว์น้อยได้มาอาศัยอยู่ ยังมีประโยชน์ในเรื่องการให้ความรู้ ในเรื่องการเป็นแหล่งอาหาร ที่ให้ผู้คนที่อยู่โดยรอบวัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ได้มีโอกาสใช้ประโยชน์และยังมีประโยชน์ในแง่ของการที่เราสามารถน้อมนำเอาโครงการ อพ.สธ. มาทำให้เด็ก ๆ ลูกหลาน ผู้ใหญ่ในครอบครัวได้ร่วมกันมาเพาะกล้าขยายพันธุ์ นำเมล็ดพันธุ์ไปแจกจ่าย  ทำให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้ และสามารถทำให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งยาสมุนไพร ยารักษาโรค เป็นพื้นที่ที่เป็นต้นแบบในทุกเรื่อง

“ถ้าเราทำอย่างสม่ำเสมอไม่ทิ้งช่วง ความสำเร็จของโครงการฯ ก็จะสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น โดยขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ได้เป็นผู้นำร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ช่วยกันปรึกษาหารือเพื่อในอนาคตพื้นที่แห่งนี้จะได้เป็นพื้นที่ในการศึกษาเส้นทางธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด หรืออาจจะเป็นที่แข่งขันกีฬาเชิงผจญภัย (Adventure) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน หรือต่อยอดพัฒนาจนกลายเป็นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ (Landmark) สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน  นอกเหนือจากการเป็นรมณียสถานสำหรับปฏิบัติธรรม ซึ่งทุกคนทุกส่วนที่ได้มาร่วมงานในวันนี้ นอกจากได้บุญแล้ว ยังได้เป็นผู้แสดงออกซึ่งความมีจิตอาสาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ทำให้เราได้บุญ ได้ความสุขด้วย ซึ่งบุญและความสุขนั้น เราสามารถมีได้ทุกวัน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวย้ำในช่วงท้าย

ด้านนายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า โครงการคืนธรรมชาติสู่ธรรม ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ปีที่ 6 ของวัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ถือเป็น 1 ใน 3 โครงการพัฒนาวัดต้นแบบ ในการจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งมีขอบเขตการจัดงานระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2566 ประกอบด้วย 6 กิจกรรม คือ 1) สร้างพระธาตุปาพจนุตตมมงคล เป็นพระธาตุที่สถาปนาขึ้น เพื่อบูชาพระอุดมปาพจน์ อันนำมาซึ่งความเจริญที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ดีแล้ว 2) ขยายเนื้อที่โครงการคืนธรรมชาติสู่ธรรม เพื่อสร้างแหล่งน้ำ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3) ปลูกต้นไม้เพิ่มระบบนิเวศของป่าไม้ให้สมบูรณ์ 4) เจาะน้ำบาดาลและเพิ่มแหล่งน้ำ สร้างป่าเปียก เพื่อความชุ่มชื้นของพื้นที่ในการสร้างระบบนิเวศ 5) ขยายบริเวณฝ่ายน้ำล้น ขุดลอก และทำคันดินเพิ่ม เพื่อกักเก็บน้ำได้ปริมาณมากขึ้น

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะ มอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน จำนวน 300 ครัวเรือน และมอบพันธุ์กล้าไม้แก่หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชนและประชาชน เพื่อนำไปปลูกต้นไม้ตามโครงการคืนธรรมชาติสู่ธรรม ปีที่ 6 ในพระสังฆราชูปถัมภ์ และนำปลูก “ต้นอินทนิล” ไม้ยืนต้นขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ นิยมใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน โดยมากใช้ทำกระดานพื้น ฝา กระเบื้อง เกวียน เครื่องตกแต่งบ้าน ทำพาย หีบใส่ของ ทนปลวก นิยมนำมาปลูกจัดสวนในบ้าน เป็นหนึ่งในไม้ดักฝุ่นที่ได้รับการยอมรับด้วยลักษณะของใบและทรงต้น ถ้าปลูกริมคลอง หรือบ่อน้ำ จะช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน อีกด้วย  และ “ต้นกระโดน” ไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีผลรสจืดเย็น เมล็ดและใบมีรสฝาดทำให้มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้นิยมนำใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกอ่อนมาทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก แต่ว่าไม่ควรทานในปริมาณที่มากจนเกินไปเนื่องจากใบและยอดอ่อนมีกรดออกซาลิกค่อนข้างสูง ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดนิ่วในไตได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ฉักกนิบาต ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 26: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 18 ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต

  วิเคราะห์ ฉักกนิบาต ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 26: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 18 ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต บทนำ ฉักกนิบาตในพระไตรปิฎกเป็นส่วนหนึ่งข...