วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561

หลักสันติวิธีวิถีพุทธ 'สติ ขันติ กรุณา' ดับทุกข์วัดตีระฆังถูกร้องดัง



หลักสันติวิธีวิถีพุทธ 'สติ ขันติ กรุณา' ดับทุกข์วัดตีระฆังถูกร้องดัง  : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก  สาขาสันติศึกษา มจร รายงาน

 จากกรณีที่วัดไทร ย่านพระราม 3  เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร  ที่สร้างมา 300 ปีกว่า  ถูกประชาชนที่อยู่อาศัยที่คอนโดฯใกล้วัดร้องเรียนเขตบางคอแหลมระบุวัดตีระฆังดังได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อทั้งสื่อหลักและสื่อใหม่หรือสื่อออนไลน์


ข้อเท็จจริง วัดไทรบางคอแหลมมีการก่อตั้งวัดมาตั้งแต่ยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีหลักฐานอนุมานได้ทั้งพระพุทธรูปภายในวัด ใบเสมาที่หลงเหลืออยู่ อายุไม่ต่ำกว่า 300 ปีต่อมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ในปัจจุบันถูกรายล้อมไปด้วยชุมชน เส้นทางการคมนาคมและที่อยู่อาศัย รวมทั้งคอนโดที่มาก่อสร้างทีหลังช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วัดไทรบางคอแหลมมีความสงบ ร่มรื่น เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา ทำบุญและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องของพี่น้องประชาชนทั้งในชุมชนโดยรอบและอื่นๆ มีพระสงฆ์จำพรรษาและประกอบกิจของสงฆ์ตามพระธรรมวินัย

ตามประเพณีมีมาช้านานช่วงเข้าพรรษาทางวัดจะมีการตีระฆัง ซึ่งทางวัดไทรนั้นตีวันละ 2 เวลา ช่วงเช้าเวลา 04-04.20 น.และช่วงเย็นเวลา 18-18.10 น. โดยช่วงเช้าจะตีระฆังใบใหญ่ และช่วงเย็นจะตีระฆังใบเล็กในศาลา โดยตีในทิศทางที่ทำให้ให้เสียงดังออกไปทางศาลาของทางวัด ไม่ได้ตีให้เสียงดังออกไปทางคอนโด การตีจะตีเป็นจังหวะเรียกว่าตีสามลา ไม่ใช่เป็นการตีรัวตลอดเวลาการตีรัวไม่ใช่เป็นการปลุกพระ แต่เดิมขอนไม้ที่ใช้ตีจะเป็นขอนไม้ใหญ่ มีน้ำหนักมากการตีต้องออกแรงมาก ทำให้เสียงดัง


ต่อมาเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมีการก่อสร้างคอนโดฯใกล้วัด เมื่อเสร็จแล้วก็มีผู้เข้าไปอยู่อาศัยมากขึ้น และมีผู้อาศัยรายหนึ่งไปร้องเรียนทางเขต และเป็นข่าววิพากษ์วิจารณ์ทางพระอธิการปรีชา ปุณณสีโล เจ้าอาวาสก็สั่งให้ให้ลดระดับการตีระฆังให้เสียงดังลดน้อยลงกว่าปกติ  และใช้ขอนไม้เล็กเบาทำให้เสียงเบาลง พระสุธิชาญ สุภัทโท พระลูกวัด ให้ข้อมูลว่า โดยปกติทางฝั่งคอนโดจะเปิดไฟตลอดทั้งคืนแต่หลังจากที่มีการลงข่าวออนไลน์ไปคืนนี้เลยปิดไฟมืดมิดและอีกอย่างตึกนี้ก็อยู่ห่างจากวัดโดยมีคลองขวางกั้นไว้อีกด้วย ในส่วนของชาวบ้านคนอื่นที่อยู่ใกล้วัด ไม่มีใครมาร้องเรียนแต่อย่างใด  

เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบถามข้อมูลจากเจ้าอาวาสและสำนักงานเขตบางคอแหลมเพื่อหาทางไกล่เกลี่ยปัญหาที่เกิดขึ้น เบื้องต้นทางเขตรับที่จะไปไกล่เกลี่ยกับทางคอนโดเอง และทางวัดปฏิบัติตามศาสนกิจต่อไป ซึ่งปัญหาก็คงจะยุติลง

แนวทางการแก้ไขปัญหานี้คือการไกล่เกลี่ยของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยังไม่ได้ใช้กระบวนการทางการกฏหมาย นับได้ว่าเป็นขั้นตอนของสันติวิธีเชิงสมานฉันท์ และสามารถนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาบูรณาการได้ดังนี้


อันดับแรกผู้ที่จะเข้าไปไกล่เกลี่ยระงับความขัดแย้งจะต้องเป็นกลางตั้งอยู่บนหลัก 4 แยก คือแยกปัญหา อารมณ์ คน และวิธีการ ออกจากกัน ซึ่งก็คือหลักอริยสัจ 4 นั่นเอง หลักจากนั้นพิจารณาปัญหาตามข้อเท็จจริงปราศจากอคติ พิจารณาสาเหตุของปัญหาตามหลักสากล 5 ประการ คือ ข้อมูล โครงสร้างวัดกับชุมชน ผลประโยชน์ ความสัมพันธ์ และความเชื่อ  หากมีการสื่อสารระหว่างกันควรตั้งอยู่บนหลักการสื่อสารเพื่อสันติ คือ จะต้องดูข้อเท็จจริงอย่าเพิ่งตัดสิน พิจารณาลึกๆถึงความรู้สึก ความต้องการของคู่กรณี หากจะมีการสั่งการอะไรก็ควรใช้ในลักษณะขอร้อง พร้อมกันนี้นำหลักปัญญา 3 มาบูรณาการคือ สุตมยปัญญา รวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนที่เรียกว่า "บิ๊กดาต้า"  จินตามยปัญญา วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลนั้น และภาวนามยปัญญา สรูปเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา


"เบื้องต้นนี้ต้องยอมรับว่าเจ้าอาวาสรู้ในการบริหารจัดการ รู้หลักการประนีประนอม ไม่มีทิฐิและอคติ ทุกวันนี้ถ้าจะให้ดีเจ้าอาวาสหรือพระสังฆาธิการจะต้องมีที่ปรึกษาทั้งทนายและนักการสื่อสาร และรู้จักวิธีการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว เพราะไม่ทราบว่าปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อ"


ขณะที่ "สุรพศ ทวีศักดิ์" นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ได้แนะแนวทางว่า กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องต้องหาคำตอบว่า "ใครผิด" แต่เป็นเรื่องของการปรับตัวอยู่ร่วมกันในการใช้ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ ปัญหาคือ ชาวบ้านเดือดร้อนจากเสียงระฆังรบกวนเวลานอนจริง วัดก็มีประเพณีปฏิบัติมานานจริง ทางออกควรเป็นอย่างไร?
          
"ใช้กฎหมายบังคับวัดให้เลิกตีระฆัง ไม่แน่ใจว่ามีกฎหมายบังคับ (ผมไม่รู้ว่ามีหรือไม่) และไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดี ทางออกควรใช้หลักพุทธศาสนาที่พระสอนชาวบ้านน่าจะดีกว่า คือพระสอนเรื่อง "ทุกข์-ทางดับทุกข์-ปัญญาและกรุณา" เมื่อชาวบ้านเขาทุกข์จากเสียงระฆังเวลาดึกจริง พระควรใช้ปัญญาและกรุณาในการแก้ทุกข์ของชาวบ้านครับ แทนที่จะบอกชาวบ้านให้ไปแจ้งตำรวจ ระหว่าง "ประเพณีการตีระฆังตอนดึก" กับ "การปฏิบัติตามหลักพุทธธรรมเรื่องทุกข์-ทางดับทุกข์-ปัญญาและกรุณา" พระสงฆ์ควรเลือกอะไรมากกว่า? นี่เป็นคำถามต่อพระสงฆ์ในการอยู่ร่วมกับผู้คนในโลกสมัยใหม่หลายๆเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียว" นายสุรพศ ระบุ

ทางด้านพระอาจารย์ปราโมทย์  วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก  สาขาสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นกระแสมากที่สุดในปัจจุบัน ด้วยการแสดงออกผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ  ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หรือ มองแบบกลางๆ เพื่อประสานการอยู่ร่วมกันในโลกใบนี้ จึงมองว่าทุกยุคทุกสมัย "ศาสนาจะถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง" มาโดยตลอด เพราะศาสนาเป็นความเชื่อความศรัทธาของแต่ละบุคคล โดยมีวิถีปฏิบัติที่มีความแตกต่างกัน จึงง่ายที่สุดจะสร้างความขัดแย้ง ในฐานะศึกษาเกี่ยวกับสันติศึกษาพึงระวังในเรื่องนี้ เพราะหน้าที่ของศาสนาต้อง เป็นเครื่องมือให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ด้วยการเคารพให้เกียรติอดทนต่อความแตกต่างในวิถีปฏิบัติ  
           
การมองเรื่องนี้จึงต้องอาศัย คำกล่าวที่ว่า "กระทบธรรมแต่ไม่กระทบคน" ทำให้นึกถึงวิธีการของพระพุทธเจ้า แม้แต่มีคนเดียวยกมือขึ้นประท้วง ทักท้วงหรือไม่เห็นด้วยในท่ามกลางระหว่างสงฆ์พระองค์ก็ฟังเสียงของบุคคลนั้นด้วยหัวใจอย่างเข้าใจ ว่าไม่เห็นด้วยเพราะอะไร อย่างไร เช่น เวลาไปงานทอดกฐิน เราจะเห็นพิธีกรรมหนึ่งว่า "ภิกษุรูปใดไม่เห็นด้วย จงทักท้วงขึ้นท่ามกลางระหว่างสงฆ์" แสดงว่าพระพุทธเจ้าให้ความสำคัญกับทุกคนแม้คนเดียวที่เห็นต่างหรือไม่เห็นด้วย เป็นการเข้าใจความทุกข์ของคนๆ นั้น เหมือนคนที่ร้องเรียนไปว่าเสียงรบกวนในเวลาพักผ่อน ถึงแม้คนที่อาศัยในคอนโดส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาใดๆ พร้อมเข้าธรรมเนียมปฏิบัติของวัดด้วยความใจกว้าง ด้วยการพยายามลดเสียงเบาลง ถือว่าวัดใช้กระบวนการของพุทธสันติวิธีด้วยการยอมลดเสียงลง ด้วยความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ เพราะสิ่งใดพร่องสิ่งนั่นจะดัง สิ่งใดเต็มสิ่งนั้นจะเงียบ ถือว่าควรได้รับการยกย่องเพราะมองว่าเมื่อเขาทุกข์เราก็ปรับเสียงให้เบาลง ถือว่าเป็นการถอยที่ใช้สติ ขันติ และสันติ รวมถึงใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาคือ สัปปุริสธรรม ในช่วงเวลาที่มีความเหมาะสม  
           
แต่สิ่งหนึ่งที่น่ากลัวคือ มีความพยายามเปรียบเทียบระหว่างสองศาสนาในการใช้เสียงในด้านพิธีกรรมหรือธรรมเนียมปฏิบัติมายาวนาว ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งตามมา ศาสนาจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือมาโดยตลอดโดยศาสนิกของแต่ละศาสนาหรือผู้ไม่มีศาสนา   จึงมองว่าถ้าเราจะมุ่งอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริงย่อมมีทางออกเสมอ  แต่ถ้ามองว่าไม่ต้องอยู่ร่วมกันก็ใช้วิธีสุดโต่งคือ เป็นการมองแต่มุมตนเองเท่านั้น ไม่ฟังใคร โดยพระพุทธเจ้าใช้คำว่า "เอกังสวาท"  เป็นการมองมุมเดียว มองสุดโต่ง จะเกิดความขัดแย้ง เกิดการทะเลาะ การด่า การวิวาทะ นึกถึงแต่ส่วนตนเองเท่านั้น ซึ่งค่อยข้างมีมากในการสื่อสารออนไลน์ 

ส่วนการมองเพื่ออยู่ร่วมกันและหาทางออกร่วมกัน พระพุทธเจ้าใช้คำว่า "วิภัชชวาที" เป็นการมองแบบแยกแยะ หาสาเหตุ แก้ปัญหา สานเสวนา รับฟัง พิจารณาไตร่ตรอง แยกส่วน หาประโยชน์ร่วมกัน แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง ค้นหาความทุกข์ ความต้องการที่แท้จริง เป็นการใช้เครื่องมือของพุทธสันติวิธี ด้วยการ"นุ่มนวลกับคนแต่จริงจังกับปัญหาหรือประเด็น" ที่เกิดขึ้น ประเด็นเสียงระฆังจึงเห็น Mindset ของแต่ละคนในการมอง  ถ้ามองผ่านกฎหมายก็อาจจะมีผิดถูก ใครสร้างก่อนหลัง ฟ้องร้องขึ้นศาล  แต่ถ้ามองผ่านพุทธสันติธีก็พยายามหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ ด้วยการใช้เครื่องมือ เริ่มจากการสื่อสารเชิงสันติ มีการฟังด้วยหัวใจด้วยความเข้าใจ มีการทดสอบความดังของเสียงของผู้เกี่ยวข้องอย่างน่าเชื่อถือ มีการสานเสวนา รวมถึงการไกล่เกลี่ย 
          
"ดังนั้น  ถ้าเสียงรบกวนจริงมองว่าควรมีการปรับเวลาหรือความดังของเสียงลงตามสัปปุริสธรรมถือว่าเป็นพุทธสันติวิธี  แต่ถ้าเป็นอคติภายในหัวใจของคนๆ นั้น จึงยากที่จะเข้าใจวิถีปฏิบัติของวัดอันเกิดขึ้นมายาวนาน เพราะถ้ามีอคติจะไม่เข้าใจ สำหรับส่วนตัวแล้วมองว่าเสียงระฆังเป็นเสียงแห่งสติเสียงแห่งสันติภาพ ย้ำเตือนให้เรามีสติทุกลมหายใจ เพราะ   เสียงเพลงฟังแล้วเพลิดเพลิน เสียงสรรเสริญฟังแล้วรื่นหู เสียงคุณครูฟังแล้วรู้วิชา  เสียงนินทาฟังแล้วไม่น่าฟัง  เสียงระฆังฟังแล้ว  สงบเย็น หรือ รำคาญ  ถามใจตนเอง จึงสรุปว่า ระฆังแห่งสติจะดังกังวานขึ้นมาทุกครั้ง เมื่อเรากลับมานั่งตามดูลมหายใจ" พระอาจารย์ปราโมทย์  กล่าว


ดังนั้นจากกรณีนี้สอดคล้องกับบทกลอนที่มีผู้แต่งไว้ว่า 


วัดจะดีมีหลักฐาน  เพราะบ้านช่วย
บ้านจะสวยเพราะมีวัด  ดัดนิสัย
บ้านกับวัดผลัดกันช่วย  ก็อวยชัย
ถ้าขัดกันก็บรรลัย  ทั้งสองทาง


.............

(หมายเหตุ : ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Pramote OD Pantapat)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: กลิ่นธรรม

 ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno   คลิกฟังเพลงที่นี่ (Verse 1)   ยามเช้าแสงทองจับขอบฟ้า ไอหมอกบางพัดพาเบา ๆ หอมกลิ่นบุปผา…อาบใจ...