วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561

๑๐ร.ร.ดังร่วมพิสูจน์'PAT๗.๖บาลี'พุทธนวัตกรรมเพื่อสังคม



'มหิดลวิทยานุสรณ์ สวนกุหลาบ เตรียมอุดม' โรงเรียนอันดับ ๑ ของประเทศ รวม ๑๐ โรงเรียนดังร่วมพิสูจน์พุทธนวัตกรรมเพื่อสังคม โปรแกรมคอมพิวเตอร์ PAT ๗.๖ ภาษาบาลี ภาษาพระพุทธเจ้า อาจารย์ 'มจร' เปรียญ ๙ อดีตนาคหลวง พัฒนาหวังเป็นฐานเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย


วันที่ ๕ ต.ค.๒๕๖๑ ​พระเทพสุวรรณเมธี,ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราช(มจร) วิทยาลัยวิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ในฐานะหัวหน้าทีมงานพัฒนาซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาภาษาบาลีและพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงความสำคัญของภาษามคธหรือต่อมาเรียกว่า “ภาษาบาลี”ว่า ภาษามคธ  เป็นภาษาของแคว้นมคธซึ่งเป็นแคว้นใหญ่มีอำนาจมากในสมัยพุทธกาล และยังได้ชื่อว่าเป็นภาษาดั้งเดิมของมนุษย์ ในคัมภีร์ปทรูปสิทธิปกรณ์แสดงไว้ว่า



สา   มาคธี   มูลภาสา       ​นรา   ยายาทิกปฺปิกา
​​พฺรหฺมาโน   จสฺสุตาลาปา   ​สมฺพุทฺธา   จาปิ   ภาสเร.
​​​​​​(พระพุทธัปปิยะ, ปทรูปสิทธิ, กรุงเทพมหานคร:
​​​​​​โรงพิมพ์ธรรมสภา, ๒๕๔๓, หน้า ๕๖.)
มนุษย์ต้นกัปป์  พระพรหม  เด็กที่ไม่เคยฟังไม่เคยเจรจา  และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมใช้ภาษาใด (ในการสื่อสาร)   ภาษานั้นคือ ภาษามคธ  เป็นภาษาดั้งเดิม ​ภายหลังพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วพระอรหันต์ทั้งหลายมีพระมหากัสสปะ เป็นต้น ได้ประชุมสงฆ์เพื่อรวบรวมคำสอนของพระพุทธองค์ให้เป็นหมวดหมู่ เรียกว่า "การสังคายนา"  จนเกิดเป็นคัมภีร์พระพุทธศาสนา คือ  "พระไตรปิฎก" ในการประชุมสังคายนาครั้งต่อ ๆ มา เพื่อให้ผู้ศึกษาพุทธพจน์ได้เรียนรู้เข้าใจตรงตามพระพุทธประสงค์มากที่สุด พระมหาเถระผู้รู้พุทธาธิบายจึงรจนาคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎก คือ คัมภีร์อรรถกถา ฎีกา ฯลฯ อธิบายลดหลั่นกันตามลำดับชั้น ภาษาที่บันทึกคัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาททั้งหมดนั้น  คือ  "ภาษามคธ"  ภาษามคธ จึงได้ชื่อว่า “ภาษาบาลี”  หมายถึงบันทึกรักษาคำสอนของพระพุทธองค์ไว้  จึงกล่าวได้ว่า การศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์ที่นับว่าเป็นการศึกษาที่ใกล้เคียงพุทธดำรัสที่สุด คือ การศึกษาพระพุทธพจน์จากภาษาบาลี


PAT๗.๖ พุทธนวัตกรรมเพื่อการสอบภาษาบาลีพร้อมแล้วสำหรับนักเรียนทั่วประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.เวทย์  บรรณกรกุล ผู้ออกแบบพัฒนาซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ PAT ๗.๖ ภาษาบาลี กล่าวว่า ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ได้รับการยอมรับให้เป็นภาษาบันทึกรักษาคำสอนพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเผยแผ่สืบต่อกันมาร่วม ๒๖๐๐ ปี ปัจจุบันสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ได้กำหนดระบบกลาง (Admissions) สำหรับสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่เรียกว่าการสอบ GAT และ PAT เป็นตัวชี้วัดตัดสิน โดยเฉพาะ PAT เป็นการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ มีการกำหนดให้ภาษาบาลีเป็นภาษาหนึ่งสำหรับใช้สอบเป็นคะแนนวัดความถนัดทางภาษาเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เรียกว่า PAT ๗.๖ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นต้นมา


การพัฒนาโปรแกรมภายใต้กรอบการวิจัยและพัฒนา (R&D)

รองศาสตราจารย์ ดร.เวทย์  ได้กล่าวถึงการออกแบบและพัฒนาซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ดังกล่าวว่า ได้ดำเนินการภายใต้กรอบการวิจัย เริ่มตั้งแต่กระบวนการวิเคราะห์เนื้อหา ตรวจสอบความถูกต้องสอดคล้องระหว่างข้อสอบ PAT ๗.๖ กับเนื้อหาหลักภาษาบาลี โดยวิเคราะห์ค่าความสอดคล้อง (IOC) และค่าความยากง่าย (P) และค่าอำนาจจำแนก (R) โดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์ข้อสอบ (item Analytical) โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาบาลี จากนั้นได้เลือกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ออกแบบพัฒนาเนื้อหาและข้อสอบแบบปฏิสัมพันธ์ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ดำเนินการทดลองตามแนวปฏิบัติการทดลองของการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) ตามลำดับดังนี้

ขั้นที่ ๑ การทดลองรายบุคคล (One to One Testing) เป็นการทดลองเพื่อตรวจสอบหาข้อบกพร่องของโปรแกรม PAT ๗.๖ ภาษาบาลี ขั้นที่ ๒ การทดลองกับกลุ่มเล็ก (Small Group Testing) เป็นการทดลองเพื่อหาแนวโน้มประสิทธิภาพของโปรแกรมที่สร้างขึ้น และเป็นการตรวจสอบหาข้อบกพร่องในด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข ขั้นที่ ๓ การทดลองภาคสนาม (Field Testing) เป็นขั้นการทดลองเพื่อหาประสิทธิภาพของโปรแกรมที่ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วจากการทดลองขั้นที่ ๒ ไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียนจากโรงเรียนชั้นนำในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดนครปฐม จำนวน ๑๐ โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นต้น รวม ๓๐ คน ซึ่งกำหนดให้นักเรียน ๑ คน เรียนกับคอมพิวเตอร์ ๑ เครื่อง แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ประสิทธิภาพโปรแกรมโดยใช้สูตรการหาประสิทธิภาพ KW-CAI

จากการนำพุทธนวัตกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ PAT ๗.๖ ภาษาบาลี ทดลองกับนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๑ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ได้รับผลการเรียนภาษาบาลีด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ อยู่ในระดับเป็นที่น่าพอใจมาก โดยในการทดสอบใช้โปรแกรมดังกล่าว มีการจัดแข่งขันตอบปัญหาความถนัดทางภาษาบาลี PAT ๗.๖ มีผลการแช่งขันปรากฏว่า โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้รับรางวัลที่สองและที่สามตามลำดับ

"จากการสัมภาษณ์คณะครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ร่วมในโครงการ ส่วนมากแสดงความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน คือ เห็นควรจัดทำสำเนาพุทธนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ PAT ๗.๖ ภาษาบาลี เผยแผ่ไปยังโรงเรียนทั่วประเทศเพื่อใช้เป็นสื่อการสอนและติวเตอร์สอบภาษาบาลี" รองศาสตราจารย์ ดร.เวทย์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนวคิด 3Ts ใช้เอไอฝึกอบรมการสื่อสารอาเซียนให้น่าเชื่อถือ

แนวคิด 3Ts ซึ่งเสนอโดยประเทศไทยในการประชุม SOMRI ครั้งที่ 21 มุ่งยกระดับการสื่อสารในภูมิภาคอาเซียนเพื่อรับมือกับความท้าทายทางเทคโนโลยีและการ...