วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2561
ตั้งวงถกสื่อปรับตัวก้าวกระโดดรับสังคมดิจิทัล สื่อเดนมาร์กเสนอ 9 ทางออก
"พัฒนาอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยนั้น เทคโนโลยีเข้ามาสู่สังคมไทยแบบก้าวกระโดด จนทำให้สังคมไทยปรับตัวไม่ทัน กระทั่งปัจจุบัน ผู้บริโภคสื่อออนไลน์หลงเชื่อข่าวหลอกลวง (Fake News) อย่างหนัก และขาดการตรวจสอบทำให้ต้องอาศัยสื่อเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ในการตรวจสอบข้อมูล คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควรปรับตัวแก้ไขกฎเกณฑ์ในหลายๆ เรื่องที่ล้าสมัย โดยเฉพาะในขั้นตอนการให้ไลเซนส์ เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อออนไลน์ (Social Network)"ศ.ดร. กาญจนา กาญจนสุต ผู้อำนวยการ Internet Education and Research Laboratory สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สนทนาผ่าน Skype จากประเทศนิวซีแลนด์
"ขณะเดียวกันการนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านทางแพลตฟอร์มต่างๆทั้งสื่อดั้งเดิมเช่นหนังสือพิมพ์พยายามปรับตัวสู่ออนไลน์แต่ก็ต้องพบกับปัญหา" น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ "ส่งผลให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนากิจการสื่อขึ้นมาเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือสื่อที่ประสบปัญหาการดำเนินกิจการหลังการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ" นายภูวสิษฏ์ สุขใส รองเลขาธิการ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
ความจริงแล้ว "เทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาเพื่อ Disruption แต่เข้ามาเพื่อให้สามารถตรวจสอบความจริงของข้อมูล และเปลี่ยนแพลตฟอร์มการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อจากเดิมที่เป็น One - way Communication เป็น Two - way Communication เพื่อให้บุคคลภายนอกสามารถแสดงความเห็นได้ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มมูลค่าของสื่อ" ความเห็นของผู้แทนสื่อออนไลน์ ที่ร่วมวงสนทนาเวที Media Forum ครั้งที่ 1 “สื่อมวลชนยุคดิจิทัลก้าวกระโดด : โอกาสและความท้าทาย (Journalism & Digital Disruption : Prospects & Pitfalls) ที่จัดโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับ Center for Humanitarian Dialogue โครงการ Media Fun Facts และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ วันที่ 8 สิงหาคม 2561 ที่Nexdots (Co-Working Space) ชั้น 2 I’m Park สามย่าน จุฬาฯ ซอย 9 (ตั้งวงถกสื่อปรับตัวก้าวกระโดดรับสังคมดิจิทัล http://www.banmuang.co.th/news/politic/121044)
แล้วสำนักข่าวในปัจจุบันจะปรับตัวอย่างไร “เพอร์ เวสเตอร์การ์ด” และ “โซเรน ชูลต์ซ ยอร์เกนเซ่น” สื่อมวลชนเดนมาร์กที่มีประสบการณ์การทำงานข่าวมานานหลายสิบปีกับหลายสำนักข่าวในบ้านเกิดเคยผ่านงานบรรณาธิการและผู้บริหารองค์กรข่าว ตลอดปี 2017 เวสเตอร์การ์ดและยอร์เกนเซ่นตระเวนไปศึกษากระบวนการทำงานของกองบรรณาธิการยุคใหม่ในสำนักข่าวจำนวน 54 แห่ง ที่สหรัฐอเมริกาและ 9 ประเทศของทวีปยุโรป พบว่า ความเสื่อมถอยจริงๆ เกิดจาก “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ภายในสถาบันวิชาชีพสื่อเอง เมื่อผู้คนในสังคมพากันหันหลังให้สื่อมวลชนหน้าเดิมๆ โดยใช้เวลาบริโภคข่าวสารทางวิทยุ ทีวี และหนังสือพิมพ์ ลดลง
คำถามก็คือว่าจะทำอย่างไรสื่อมวลชนจึงจะยังเป็นสถาบันสำคัญที่ทรงคุณค่าและได้รับความน่าเชื่อถือจากสังคม? ซึ่งก็ได้คำตอบ“9 แนวทางการทำงานใหม่ๆ”
(1)จาก “สื่อที่เป็นกลาง” สู่ “สื่อที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตน”แทนที่จะยึดหลักการความเป็นกลางและมุ่งมั่นทำข่าวซึ่งมีเนื้อหาครอบจักรวาลแบบเก่า หลายสำนักข่าวยุคปัจจุบันกลับพยายามแสวงหาแนวทางการทำงานและขับเน้นอัตลักษณ์เฉพาะอันโดดเด่นของตัวเองความเปลี่ยนแปลงทำนองนี้เกิดขึ้น เมื่อเนื้อหาสาระของข่าวสารยุคออนไลน์มีลักษณะการแพร่กระจายเป็นเสี้ยวเล็กส่วนน้อย อันไร้ที่มาที่ไป จำนวนมากมายมหาศาล ในโลกอินเตอร์เน็ต ในสภาวการณ์เช่นนั้น ผู้อ่านจะรู้สึกว่าตนเองมีความยึดโยงอยู่กับสำนักข่าวที่มีอัตลักษณ์ จุดยืน และวัตถุประสงค์การทำงานชัดเจน สำนักข่าว/สื่อมวลชนร่วมสมัยต้องนำเสนอภาพลักษณ์อย่างไม่อ้อมค้อมว่าตัวเองเป็นใคร มองโลกในแง่มุมไหน จากพื้นฐานทางด้านภูมิศาสตร์, สังคม-ประชากรศาสตร์ (อายุ, เพศสภาพ, ชาติพันธุ์, ระดับการศึกษา, ระดับรายได้ ฯลฯ) และแนวคิดทางการเมืองแบบใด
(2)จาก “สื่อครอบจักรวาล” สู่ “สื่อเฉพาะกลุ่ม”
สื่อยุคเดิมมักนำเสนอเนื้อหาในแบบ “ปกิณกคดี” หรือ “ครอบจักรวาล” ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ แต่สำนักข่าวที่ประสบความสำเร็จยุคใหม่มักนำเสนอเนื้อหา “เฉพาะทาง” เพื่อสร้างความผูกพันกับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมีความสนอกสนใจในเนื้อหาแนวนั้นจริงๆ (กระทั่งพร้อมจะจ่ายเงินซื้อ/สนับสนุนคอนเทนต์ดังกล่าว)
อย่างไรก็ดี สื่อหลายสำนักในโลกตะวันตกดูจะไม่สะดวกใจกับการป่าวประกาศออกมาชัดๆ ว่ากลุ่มผู้บริโภคหลักของตนคือประชากรกลุ่มไหนบ้าง
เพราะการที่สื่อมวลชนเลือกจะผูกมัดตัวเองกับผู้บริโภคกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วปลีกตนออกจากภารกิจการเชื่อมโยงชุมชน/กลุ่มคนอันแตกต่างหลากหลายเข้าหากัน ก็มีความย้อนแย้งกับหลักคุณค่าเรื่องระบอบประชาธิปไตยอยู่พอสมควร
แต่ก็มีสื่อหลายสำนัก ซึ่งสามารถสร้างฐานผู้บริโภคเจ้าประจำของตนเอง และพัฒนาศักยภาพการทำงานข่าวเพื่อตอบสนองผลประโยชน์สาธารณะไปได้พร้อมๆ กัน
(3)จาก “มวลชน” สู่ “ชมรม”
กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายของสำนักข่าวแบบเดิมคือ “มวลชน” อันกว้างใหญ่ไพศาล ปราศจากอัตลักษณ์ ภูมิหลัง ความสนใจเฉพาะ ที่จับต้องได้ในเชิงประจักษ์
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวในยุโรปและอเมริกาจำนวนไม่น้อยเริ่มจำกัดกรอบผู้บริโภคของตนเองให้แคบลงและชัดขึ้น ผ่านการสร้างชุมชนหรือ “ชมรม” คนอ่าน/คนดูขึ้นมา
จริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์ลักษณะนี้พัฒนาขึ้นจากการมีคนอ่านที่เป็นแฟนขาประจำหรือระบบสมาชิกบอกรับหนังสือแบบเดิม มาสู่การเป็น “สมาชิก” วงใน ซึ่งจะได้เสพคอนเทนต์สุดพิเศษ (กว่าผู้อ่านธรรมดาทั่วไป) ผ่านระบบลงทะเบียนหรือจ่ายค่าสมาชิกออนไลน์
ขณะเดียวกันการมีฐานข้อมูลสมาชิกที่ละเอียดรอบด้าน ย่อมส่งผลให้แนวทางการทำงานข่าวและการนำเสนออัตลักษณ์เฉพาะของสำนักข่าวมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
(4)จาก “หยดหมึก” สู่ “หยาดเหงื่อ”
แทนที่จะนำเสนอเนื้อหาสาระรูปแบบเดิมๆ สื่อยุคใหม่จำเป็นจะต้องใช้พลังกายหรือออกแรงหนักกว่าเก่าในการสื่อสารกับผู้บริโภค (physical journalism)
ผ่านการออกไปพบปะคนดู/คนอ่าน/คนฟังในกิจกรรมเอาต์ดอร์ต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่อรองรับแฟนขาประจำ ซึ่งจะช่วยทำให้เนื้อหาที่ถูกผลิตมีชีวิตชีวา และตัวสื่อเองได้ผูกสัมพันธ์กับผู้บริโภคอย่างกระชับแน่นมากขึ้น
(5)จาก “ผู้พูด” สู่ “ผู้ฟัง”
องค์กรสื่อเก่าๆ มักชอบทำตัวเป็นป้อมปราการปิดทึบ มากกว่าจะเป็นบ้านเรือนที่เปิดกว้างเข้าถึงง่ายสำหรับทุกผู้คน แต่สำนักข่าวจำนวนมากในสังคมตะวันตกกำลังพยายาม “เปิด” ตัวเอง และ “เดิน” เข้าไปหากลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น
ในการณ์นี้ เท่ากับว่าสื่อมวลชนต้องเปลี่ยนหน้าที่ จากการเป็นคนพูด คนเผยแพร่ข่าวสารทางเดียว ไปเป็นฝ่ายรับฟังปัญหา-ความทุกข์ร้อน ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาโดยพลเมือง พร้อมทั้งสร้างกระบวนการทำงานที่โปร่งใสภายในกองบรรณาธิการ
การเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคอาจทำได้ทั้งการติดต่อสื่อสารเป็นการส่วนตัว การจัดเสวนาในรูปแบบชมรม/ชุมชน กระทั่งการศึกษาวิเคราะห์ “สมอลล์ และบิ๊กเดต้า”
(6)จาก “การเว้นระยะห่าง” สู่ “การสร้างความร่วมมือ”
อุดมคติของสื่อมวลชนยุคโน้นคือ การรักษาความเป็นอิสระและความเป็นกลาง ด้วยการเว้นระยะห่างจากทุกฝ่ายนอกกองบรรณาธิการ ทั้งสามัญชนคนธรรมดา, กลุ่มผลประโยชน์, องค์กร/สถาบันภาครัฐ, บริษัทเอกชน และผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย
แต่ระยะห่างเหล่านั้นได้เหือดหายไปแล้วในยุคปัจจุบัน
ถ้ามองความเปลี่ยนแปลงข้อนี้ในแง่ดี ก็มีหลายสำนักข่าวที่พยายามทำงานร่วมกับพลเมืองกลุ่มต่างๆ เพื่อผลิตเนื้อหาแปลกใหม่ท้าทาย
นี่เป็น “วารสารศาสตร์-นิเทศศาสตร์เชิงลึก” ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคแน่นแฟ้นขึ้นอีกระดับ
(7)จาก “ขาตัวเอง” สู่ “ขาคนอื่น”
จากยุคสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ มาถึงเว็บไซต์ (ช่วงต้น) สำนักข่าวต่างๆ ล้วนยืนหยัดมั่นคงอยู่บน “แพลตฟอร์ม” ของตนเอง
ครั้นมาถึงยุคโซเชียลมีเดียรุ่งเรือง ก็มีความเห็นสอดคล้องกัน (สำหรับสื่อตะวันตก) ว่า การต้องนำข่าวสารไปฝาก (ชะตากรรม) ไว้บนแพลตฟอร์มของยักษ์ใหญ่รายอื่นนั้น ได้ส่งผลเสียหายในเชิงธุรกิจและในเชิงวิชาชีพอยู่ไม่น้อย
ด้วยเหตุนี้ สื่อสังคมออนไลน์จึงอาจกลายเป็น “ดาบสองคม” สำหรับสื่อมวลชน
อย่างไรก็ดี หากใช้โซเชียลมีเดียให้เป็น แพลตฟอร์มของคนอื่นย่อมกลายสภาพเป็นอาวุธอีกประเภท ที่จะช่วยให้สำนักข่าวสามารถทำงานผลิตเนื้อหาซึ่งเชื่อมโยงกับผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันนำไปสู่ความเข้มแข็งในเชิงคอนเทนต์
(แทนที่จะใช้ “ขาคนอื่น” เป็นพื้นที่แปะลิงก์ข่าวเพียงอย่างเดียว)
(8)จาก “ปัญหา” สู่ “ทางแก้”
สื่อมวลชนรุ่นปัจจุบันเริ่มตระหนักว่าพวกตนอาจสามารถสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมได้มากขึ้น หากเพิ่มเติมแนวทาง/วิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ลงไปในรายงานข่าวว่าด้วยสถานการณ์นั้นๆ (แทนที่จะขุดคุ้ยเรื่องบ่อเกิดและสภาพปัญหาอยู่มุมเดียว)
นี่คือ “วารสารศาสตร์เชิงสร้างสรรค์” (constructive journalism) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิถีทาง ที่สื่อมวลชนจะได้สร้างการมีปฏิสัมพันธ์และหาทางออกให้แก่สังคมร่วมกับผู้บริโภค
การทำงานในลักษณะนี้ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องต้องอ่านเยอะขึ้น แบ่งปันข้อมูลระหว่างกันมากขึ้น และมีความสนใจใคร่รู้ในประเด็นปัญหาเฉพาะต่างๆ สูงขึ้น
การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
(9)จาก “นักสังเกตการณ์” สู่ “นักปฏิบัติ”
สำนักข่าวบางแห่งเริ่มทดลองสานสัมพันธ์กับผู้บริโภคในแบบที่ฮาร์ดคอร์พอสมควร นั่นคือ การออกไปทำงานจัดตั้งกลุ่มกิจกรรมเคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นทางสังคมเสียเอง
ใช่ว่าคนทำงานข่าวทุกรายจะเห็นด้วยกับแนวทางนี้ และแน่นอน นี่ไม่ใช่กลยุทธ์ที่เหมาะสมกับทุกๆ องค์กรสื่อ
แต่สื่อบางสำนักก็ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงกลุ่มแฟนประจำ ทั้งยังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางด้านหรือสร้างความตระหนักรู้ในสังคม ผ่านกิจกรรมเคลื่อนไหวเรียกร้องเช่นนี้
ระหว่างการศึกษา เวสเตอร์การ์ดและยอร์เกนเซ่นพบว่าขณะที่สื่อดิจิตอลก่อตั้งใหม่ต่างมีความทะเยอทะยานที่จะสร้างนวัตกรรมชนิดถึงรากถึงโคนโดยธรรมชาติ บรรดาสถาบันสื่อเก่าแทบทุกเจ้าก็มีความเข้าใจใกล้เคียงกัน ว่าถึงเวลาที่พวกตนจะต้องเปลี่ยนแปลง และทดลองทำงานในรูปแบบใหม่ๆ อย่างไม่รู้จบ
อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ไม่เชื่อว่าจะมีโมเดลหรือวิถีทางแบบใดแบบหนึ่ง ที่เป็นคำตอบสมบูรณ์แบบสำหรับทุกสำนักข่าว เพราะวิถีทางแต่ละประเภท ก็เผยให้เห็นสถานการณ์การทำงานของสื่อมวลชน ซึ่งผิดแผกกันไปในแต่ละสังคม
แต่โมเดลใหม่ๆ นับสิบนับร้อยหนทางเหล่านั้นก็มีหลักใหญ่ใจความร่วมกันอยู่
นั่นคือความหวังที่จะประคับประคองให้วิชาชีพสื่อมวลชนสามารถอยู่รอดและตอบสนองความต้องการของผู้คนในสังคมต่อไปเรื่อยๆ ท่ามกลางยุคสมัยอันผันแปร
เรียบเรียงและเก็บความจาก 54 newsrooms, 9 countries, and 9 core ideas: Here”s what two researchers found in a yearlong quest for journalism innovation By PER WESTERGAARD AND S?REN SCHULTZ J?RGENSEN
54 NEWSROOMS, 9 COUNTRIES, AND 9 CORE IDEAS: HERE’S WHAT TWO RESEARCHERS FOUND IN A YEARLONG QUEST FOR JOURNALISM INNOVATION
(มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 สิงหาคม 2561 คอลัมน์ เปลี่ยนผ่าน เผยแพร่ วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2561, “9 โมเดล” ทางรอด! ของ “สำนักข่าว” ยุคใหม่ https://www.matichonweekly.com/column/article_124021)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
เพลงคาถาบูชาพระเขี้ยวแก้ว
ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno คลิกฟังเพลงที่นี่ (Verse 1) สาธุ ข้าพเจ้าขอกราบไหว้ พระบรมสารีริกธาตุ พระผู้ทรงชัย พระพุทธ...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น