วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2561

โลกมืดสร้างปัญญาประดิษฐ์!รบ.ไทย-ฮังการีหนุนม.พุทธสร้างพุทธปัญญาส่อง



ระหว่างวันที่ 23-27 สิงหาคม 2561 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร.ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ  (International Buddhist Studies College=IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  พร้อมคณะ เดินทางไปที่วิทยาลัยธรรมะ เกต ปูดาเปสด์ ประเทศฮังการี สถาบันสมทบของ มจร เพื่อปรึกษาหารือกับอธิการบดีจัดทำหลักสูตรร่วมกันในสาขาสติกับสมาธิ (Mindfulness and Meditation)ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญา 2 ใบ ตามนโยบายของพระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดีรูปใหม่ ที่ตั้งใจผลักดันให้สำเร็จให้ได้ อันจะทำให้ชาวยุโรปได้มีโอกาสเรียนรู้และปฏิบัติ ทั้งในเชิงวิชาการและการปฏิบัติการเกี่ยวกับสติและสมาธิอย่างเป็นระบบ หลังจากนั้นจะผลักไปสู่การเรียนแบบออนไลน์เชื่อมโยงกับห้องเรียนออนไลน์ ที่กำลังสร้างขึ้น ณ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ภายในปีนี้นั้น

พระมหาหรรษา เปิดเผยว่า วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติกับวิทยาลัยธรรมะ เกต ปูดาเปสด์ ได้เจรจาความร่วมมือในขั้นตอนสุดท้าย เพื่อวางแนวทางในการเปิดหลักสูตรปริญญา 2 ใบ สาขาสติกับสมาธิ ในปีการศึกษา 2562 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.พระคำหมาย ธัมมสามิ จากศูนย์พระพุทธศาสนาอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ  ร่วมเป็นพยานและเสนอแนวทางในการจัดทำหลักสูตรดังกล่าว พร้อมกันนี้เป็นการกล่าวลาและส่งต่อตำแหน่งอธิการบดี จาก ดร.จาโนส เจเลน สู่ ดร.กาเบอร์ นักธุรกิจสีขาวที่ผันตัวเองมารับตำแหน่งอธิการบดี หลังจากนี้ จะเป็นการตั้งกรรมการร่วมจากสองฝ่ายเพื่อจัดทำหลักสูตรร่วมกันแล้วเสนอให้รัฐบาลของสองประเทศให้ความเห็นชอบต่อไป

"วิทยาลัยธรรมะ เกต ปูดาเปสด์นั้นได้ก่อตั้งขึ้นมากว่า 30 ปี โดยได้รับการรับรองสถานะจากรัฐบาลฮังการี ให้สามารถจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี จนถึงปริญญาเอก โดยได้รับการรับรองมาตรฐานจากสหภาพยุโรปและการสนับสนุนงบประมาณและทุนอีรัสมุส และเพื่อให้การทำงานกับ มจร ผ่านวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติได้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดร.จาโนส เจเลนในฐานะอธิการบดีและอดีตทูตจากหลายประเทศ จึงได้ผลักดันให้รัฐบาลฮังการีและรัฐบาลไทยลงนามความร่วมภายใต้ข้อตกลงในการทำงานร่วมกันระหว่างสองสถาบัน ผลจากข้อตกลงดังกล่าว ทำให้สหภาพยุโรปรองรับ มจร ไปพร้อมๆ กันอย่างเป็นทางการด้วย" ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ กล่าวและว่า

 สหภาพยุโรปเคยประสบกับความทุกข์ยากในยุโรปสมัยกลาง หรือเรียกว่า “ยุคมืด” (Dark Age) แต่จำให้นักวิทยาศาสตร์ถูกสังเวยชีวิตจำนวนมาก อันเนื่องมาจากการค้นพบสิ่งต่างๆ ของนักวิทยาศาสตร์ท้าทายความเชื่ออยู่เดิมที่มีอยู่ในศาสนา หลังจากเข้าสู่ยุคสว่าง (Enlightened Age) หรือยุครุ่งเรือง (Renaissance) จึงทำให้หมู่ชนในสหภาพยุโรปพากันประกาศตนเป็นอิสระจากศาสนา หรือที่เรียกว่า Free from Religion และทำให้ยุโรปได้พัฒนาวิทยาการต่างๆ ก้าวหน้ามาโดยลำดับ ตั้งแต่ยุคของกาลิเลโอ จนเขาได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่”

ขณะที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง ความรุนแรง ขาดความรัก ทุกข์ทรมานกับวัตถุนิยมที่กำลังถาโถมโลก ขาดสติในการทำหน้าที่ยังยั้งชั่งใจ และขาดปัญญาในการนำพาโลกไปสู่หนทางแห่งความถูกต้อง และดีงาม พระพุทธศาสนาจึงกลายเป็นคำตอบที่โดดเด่นในศตวรรษที่ 21 ที่คนทั่วโลกพยายามศึกษา และนำจุดเด่นไปออกแบบเป็นเครื่องมือในการสร้างความสุขในโลกยุคดิจิทัล ความเร็วและแรงกลับไม่ใช่คำตอบ แต่กลายเป็นเป็นความช้า แต่ยั่งยืน ช้าแต่มีพลัง น้อยแต่มาก ที่สามารถให้คำตอบแก่คนยุคปัจจุบันนี้

 "จากโจทย์ข้อนี้ จึงทำให้วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติออกแบบปณิธานของตัวเองว่า “#Wisdom for the World” เป็นการตอกย้ำว่า “#พุทธปัญญาเพื่อชาวโลก” ไม่ว่าจะเป็นสติ สมาธิ หรือสันติภาพ ล้วนแต่เป็นพุทธปัญญา ปัญญาอันเกิดจากที่พระพุทธเจ้าได้ทุ่มเทกายใจ อุทิศตน เสียสละและอดทน จนสามารถเข้าถึงและค้นพบปัญญาดังกล่าวที่มีอยู่ และปรากฏอยู่แล้วในธรรมชาติแล้วนำปัญญานั้นออกมาเปิดเผยแก่ชาวโลก จุดแข็งในข้อนี้ คือ ปัญญานั้นมิได้เป็นปัญญาที่ถูกผูกขาดโดยพระพุทธเจ้า เพราะพระองค์ย้ำว่า “ไม่ว่าตถาคตจะเกิดหรือไม่ก็ตาม ธรรมะเหล่านี้ก็มีอยู่แล้วในธรรมชาติ” ปัญญาจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ปัญญาจึงเป็นสิ่งสากล หรือเป็นปัญญาสากลที่คนทั้งโลกสามารถเข้าถึง และนำไปใช้ประโยชน์ตามกาละ และเทศะต่างๆ" พระมหาหรรษา กล่าวและว่า 

ขณะนี้ โลกกำลังเอียงสุดขั้ว โลกกำลังมืดบอด มัวเมากับวัตถุนิยม โลกกำลังเห็นแก่ตัว โลกกำลังเร้าร้อน ห้ำหั่นและเบียดเบียน แย่งชิง ทุจริตคดโกง โดยไร้ความละอายชั่วกลัวบาปดังเช่นปรากฏให้เห็นและเป็นอยู่ หากพุทธบุตรละเลย แล้วมองไม่เห็นโอกาสที่จะหยิบพลังแห่งสันติสุขด้วยวิถีอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็นับว่า “เสียดาย” จนยากแก่การพรรณา จนในที่สุด ไม่รู้ว่าจะสบดวงตาในฐานะพุทธบุตรได้อย่างไร?!?!?


..............


(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Hansa Dhammahaso)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กกต.เตือนผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ศึกษาและทำความเข้าใจระเบียบการแนะนำตัวให้เป็นไปตามกฎหมาย

   เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567  ด้วยปรากฏว่ามีบุคคล กลุ่มบุคคล ได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้ที่ประสงค์จะลงสมัครรับเล...