วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ดร.สุวิทย์ชมม.บูรพาร่วมขับเคลื่อนEECสู่Thailand4.0



รมว.ดิจิทัลฯ ร่วมพิธีเปิดงานนิทรรศการ “Digital Thailand Big Bang Regional 2018” ที่ จ.ระยอง 

วันที่ 17 ส.ค.2561  ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวรายงานในพิธีเปิดงานสัมมนาและนิทรรศการนานาชาติ "Digital Thailand Big Bang Regional 2018" ที่จังหวัดระยอง ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัดขึ้น โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานฯ สำหรับจังหวัดระยองเป็นจังหวัดที่ 3 ของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และกำลังก้าวขึ้นเป็นเมืองอัจฉริยะอีกเมืองหนึ่ง ตามแผนการพัฒนาของ EEC มีแผนเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานในทุกด้าน ทั้งด้านคมนาคม พลังงาน และสาธารณูปโภค ซึ่งจะทำให้จังหวัดระยองกลายเป็นเมืองอัจฉริยะเพื่อโลกอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล

ดังนั้น การจัดงาน Digital Thailand Big Bang Regional 2018 ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการเปิดโลกดิจิทัลให้แก่ประชาชนในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง สร้างความตระหนักถึงโอกาสในการเข้าถึงและรับรู้ด้านนวัตกรรมดิจิทัลอย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ ภายในงานฯ ได้มีการนำเสนอแนวคิดเมืองอัจฉริยะด้วยโมเดลพัฒนาเมืองในโลกที่ผันผวน รวมถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกด้วยนโยบายผลักดันเต็มรูปแบบ ตลอดจนกิจกรรมพิเศษจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายวงการที่พร้อมมาให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และการนำเสนอภาพรวมการพัฒนาประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2561 ณ ระยองฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

ดร.สุวิทย์ชมมหาวิทยาลัยบูรพากับการขับเคลื่อน EECสู่ Thailand4.0

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ตามที่เคยได้เล่าให้ฟังหลายครั้งว่าหัวใจที่สำคัญการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 คือ มหาวิทยาลัย เมื่อวานนี้ (16 ส.ค.2561) เป็นโอกาสที่ดีอีกครั้งที่ได้รับเชิญให้เป็นประธานในการเปิดงาน “Burapha Innovation Fair 2018 และงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติภาคตะวันออก ครั้งที่ 35” และกล่าวปาฐกพิเศษในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยบูรพากับการขับเคลื่อนประเทศไทย” ณ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี โดยมีมีประเด็นสำคัญ อย่างที่ทราบกันดีว่าโลกในปัจจุบันนี้ไม่เหมือนโลกใบเดิมในอดีตที่คุ้นเคย ในอดีตนั้นโลกมีลักษณะที่  1) Stability (ความมีเสถียรภาพ)  2) Certainty (ความแน่นอน)  3) Simplicity (ความเรียบง่าย) และ  4) Clarity (ความชัดเจน) ทั้ง 4 คุณลักษณะนี้ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถวางแผนและออกแบบการเรียนการสอนได้ง่าย

แต่โลกในปัจจุบันไม่เหมือนโลกในอดีต เพราะเป็นโลกที่ VUCA ซึ่งเป็นโลกที่ 1) Volatility (ความผันผวน)  2) Uncertainty (ความไม่แน่นอน) 3) Complexity (ความซับซ้อน) และ  4) Ambiguity (ความกำกวม) กล่าวโดยสรุปคือ โลกในปัจจุบันเป็นโลกที่วุ่นวายยุ่งเหยิง (disrupt) คำถามที่สำคัญ คือ เราจะอยู่ภายใต้โลกที่เป็นเช่นนี้ได้อย่างไร

การที่เราจะอยู่ภายใต้โลกที่ disrupt ได้นั้น สิ่งสำคัญ คือ การ reinvention หรือการคิดและทำเรื่องใหม่ในทุกระดับ ถ้าเราเลือกที่จะอยู่แบบเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง โลกก็จะเข้ามา disrupt เรา แต่หากเราเลือกที่จะ reinvent เราก็จะเป็นผู้ที่ disrupt โลกได้ จึงนำไปสู่แนวคิดที่สำคัญของ Thailand 4.0 คือ “Reinventing the Nation” คือ เมื่อโลกเปลี่ยนแล้ว ประเทศไทยจะต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับโลก โดย Thailand 4.0 จะทำโมเดลที่สร้างการเปลี่ยนแปลง (Game Changing Model) ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายในและเชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก โดยอาศัยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ“เมื่อไม่พอต้องรู้จักเติม เมื่อพอต้องรู้จักหยุด และเมื่อเกินต้องรู้จักปัน”

จากแนวคิดดังกล่าว การจะสร้างให้เกิด Thailand 4.0 ได้นั้น มหาวิทยาลัยจึงเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะ หัวใจสำคัญของ Thailand 4.0 อยู่ที่ “คน” เพราะคนนั้นจะเป็นผู้ที่ reinvent เพื่อสร้าง innovation เพื่อไป disrupt โลก ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า มหาวิทยาลัยจึงมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้สร้างคน ที่จะต้องมี 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1) มีเป้าหมาย (Purposeful)  2) มีความคิดสร้างสรรค์ (Generative)  3) คิดถึงผู้อื่น (Mindful) และ4) ลงมือปฏิบัติ (Action-based)

นอกจากนั้น หัวใจที่สำคัญของ Thailand 4.0 อีกเรื่องคือ “องค์ความรู้” ซึ่งองค์ความรู้ส่วนใหญ่และงานวิจัยส่วนใหญ่ยังอยู่กับมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยจะต้องหาคำตอบในการเปลี่ยนงานวิจัยไปสู่นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการที่จะสร้างคนและองค์ความรู้ได้นั้น มหาวิทยาลัยจะต้องปิดช่องว่างที่สำคัญ 2 ด้าน คือ ช่องว่างด้านยุทธศาสตร์ (Strategic Gap) คือการวางแผนและยุทธศาสตร์เพื่อรองรับสิ่งแวดล้อมและพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไป และช่องว่างด้านศักยภาพ (Capability Gap) คือ การพัฒนาขีดความสามารถของอาจารย์ เครื่องมือ และเครือข่ายต่างๆ

จากความเข้าใจของตนนั้น ขณะนี้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยกำลังเผชิญกับ 4 กับดักที่สำคัญ คือ 1) กับดัก Comfort Zone คือ ยังคงอยู่ในกรอบเดิมที่ตัวชี้วัดไม่เหมาะสม ทำให้ไม่ต้องรับผลจากการดำเนินงานที่อาจไม่ตอบโจทย์ 2) กับดัก Commodity คือ เกือบทุกมหาวิทยาลัยมุ่งไปสู่การเป็น Comprehensive-based University ทำให้ซ้ำซ้อน ไม่มีความแตกต่าง 3) กับดัก Mismatch คือ มหาวิทยาลัยยังคงผลิตนักศึกษาเพื่อสร้างรายได้ ด้วยการผลิตบัณฑิตเอาใจตลาดมากจนเกินไป โดยไม่ตอบโจทย์เรื่องการมีงานทำ และ 4) กับดัก Irrelevance คือ การไม่คิดที่จะปรับทิศทางให้สอดรับกับกระแสโลกที่เปลี่ยนไป

นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังต้องปรับการศึกษาจากรูปแบบเดิมที่เป็นโรงงานผลิตคนเพื่อป้อนภาคอุตสาหกรรมอันเป็นผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอดีตไปสู่การศึกษาในรูปแบบใหม่ที่การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเกิดเฉพาะในห้องเรียน ในโรงเรียน หรือในระบบการศึกษาเท่านั้น ทำให้การสร้างคนของมหาวิทยาลัยของไทยยังไม่ตอบโจทย์

อีกทั้ง ในการสร้างองค์ความรู้ผ่านการวิจัย มหาวิทยาลัยจะต้องมีบทบาทในการสร้างนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งมีการวิจัยที่จะตอบโจทย์ในอนาคตเพื่อให้ประเทศไทยนั้นสามารถยืนอยู่บนขาของตนเองได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยยังขาดอยู่อย่างมาก ดังนั้น ทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และภาคเอกชน จึงต้องร่วมกันสร้างฐานของเทคโนโลยีของตัวเองให้เกิดขึ้นเพื่อให้นำไปสู่การพัฒนา Deep Technology ให้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมในอนาคต ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรมขึ้น เพื่อให้มหาวิทยาลัยแต่ละกลุ้มมีบทบาทและหน้าที่ที่ชัดเจน สามารถรวมพลังร่วมกับสถาบันและหน่วยงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ที่สำคัญของประเทศผ่านกลไกต่างๆ ภายใต้กระทรวงใหม่ ในด้านการบริหารจัดการ กฎระเบียบ และงบประมาณ เช่น การร่วมวิจัยในโจทย์สำคัญของภาครัฐ (Research Procurement) การบริหารจัดการงบประมาณแบบหลายปีต่อเนื่อง (Multiple-year Budgeting)

ดร. สุวิทย์ กล่าวด้วยว่า "ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้นตนเห็นว่ามหาวิทยาลัยบูรพาเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่จะมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะในขณะที่กำลังเผชิญกับปัญหาเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ แต่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีโอกาสที่มหาวิทยาลัยอื่นไม่มี คือ การตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นพื้นที่ที่เปรียบเสมือนประตูที่จะเชื่อมประเทศไทยสู่โลก ดังนั้น การบ้านชิ้นสำคัญที่มหาวิทยาลัยบูรพาจะต้องทำเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศและภูมิภาคนี้ คือ “การ Reinventing มหาวิทยาลัยบูรพา” 


..................

(หมายเหตุ : ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee) 





 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รัฐบาลจัดใหญ่เตรียม 24 ขบวน อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ “พระเขี้ยวแก้ว” จากจีน คาดผู้เข้าร่วมกว่า 2,700 คน

พระเขี้ยวแก้วจีนเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับการเคารพบูชาอย่างสูงในพระพุทธศาสนา การอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาประดิษฐานในประเทศไทยสะท้อนถึงความร...