วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561

หนังสือสวดมนต์เจ็ดตำนานมีค่ามากว่ามีไว้สวดมนต์



วันที่ 21 ส.ค.2561 เฟซบุ๊ก Phanna Som ได้โพสต์ข้อความว่า ชัยมงคลคาถา กับ บริบทสงคราม

หากพูดถึงบทกวีนิพนธ์ภาษาบาลีที่แต่งได้อย่างงดงามระดับชั้นครู หรือเรียกแบบภาษาวัยรุ่นว่าแต่งได้ระดับขั้นเทพ หนึ่งในนั้นคงต้องยกให้ "ชัยมงคลคาถา" หรือเรียกแบบชาวบ้านว่า "คาถาพาหุง" เป็นการนำเอาเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติอันเกี่ยวกับชัยชนะต่างๆ ของพระพุทธเจ้า เช่น เหตุการณ์ที่ทรงเอาชนะมารและเสนามารในคืนวันตรัสรู้ รวมทั้งหมด 8 เหตุการณ์ มาแต่งเป็นบทกวีหรือคาถาได้ 8 คาถา ในแต่ละคาถาจะเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงว่าพระพุทธเจ้าทรงเผชิญเหตุการณ์อันตรายครั้งนั้นอย่างไร ทรงเอาชนะด้วยวิธีการอย่างไร เช่น เอาชนะด้วยบารมี 10 ด้วยเมตตาคุณ เป็นต้น แล้วจบลงด้วยการอ้างถึงเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอให้มงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน (ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ)

ชัยมงคลคาถา ถือว่าเป็นบทสวดที่ขาดไม่ได้ในงานมงคลต่างๆ เช่นในเทศกาลเข้าพรรษา ตามวัดวาอารามต่างๆ มักจะมีกิจกรรมการทำบุญตักบาตรในวันพระหรือวันธรรมสวนะ ฝ่ายพระสงฆ์จะนิยมสวดบทชัยมงคลคาถา หรือเรียกแบบภาษาทั่วไปว่า "สวดพาหุงมหากาฯ" บ้าง "สวดถวายพรพระ" บ้าง

ประเด็นที่ผมตั้งเป็นหัวข้อวันนี้ คือ เรื่อง "ชัยมงคลคาถา" คงได้มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมานานแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ยังไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่าแต่งขึ้นเมื่อใด เท่าที่พบมีเพียงฎีกาพาหุง ซึ่งแต่งขึ้นราว พ.ศ. 2006 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า คาถาพาหุงน่าถูกแต่งขึ้นก่อนหน้านั้นไม่นาน

ไม่แน่ใจว่า ชัยมงคลคาถา หรือคาถาพาหุงนี้ ถูกแต่งขึ้นบริบทแห่งสงครามสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือไม่ แต่จากที่อ่านข้อมูลและการนำมาใช้ในบริบทสงครามในยุคหลัง ทำให้เชื่อได้ว่า อาจถูกแต่งขึ้นในบริบทที่บ้านเมืองกำลังมีสงครามก็เป็นไปได้ ดังมีผู้สันนิษฐานถึงที่มาของคำว่า "บทถวายพรพระ" (ชื่อเรียกหนึ่งของชัยมงคลคาถา) หมายถึงบทที่แต่งถวายพระเจ้าแผ่นดินชนะศึก

อีกเหตุการณ์หนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี ออสเตรีย โดยส่งทหารเข้าร่วมสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร ที่น่าสนใจคือ ก่อนส่งทหารไปพระองค์ทรงนำกองทัพสวดคาถาพาหุง พร้อมทั้งคำแปลที่ทรงพระราชนิพนธ์ นอกจากนั้น ธงชัยเฉลิมพลที่ทรงออกแบบเพื่อใช้กับกองทัพที่ถูกส่งไปออกรบครั้งนั้น ด้านหนึ่งของธงเป็นรูปช้างเผือก อีกด้านหนึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 6 ที่น่าสนใจคือ ตรงชายขอบธงทั้งสองด้านมีคาถาพาหุง (ดังรูปข้างล่าง) โดยมีการปรับเปลี่ยนบรรทัดสุดท้ายของคาถาจากเดิม "ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ" เป็น "ตนฺเตชสา ภวตุ เม ชยสิทฺธิ นิจฺจํ" แปลว่า ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอความสำเร็จแห่งชัยชนะจงมีแก่ข้าพเจ้าเป็นนิจ เทอญ


แบบแผนบทสวดมนต์: บทพระปริตร/บทแนวพระปริตร


ไหนๆ ก็พูดถึงการสวดมนต์แล้ว ยังมีอะไรค้างคาใจหลายอย่าง จึงขอนำ้เสนออีกสักครั้งครับ โดยส่วนตัวแล้ว ผมนั้นค่อนข้างได้คุ้นเคยกับเรื่องบทสวดมนต์อยู่บ่อยๆ ที่พูดแบบนี้ก็ใช่ว่าเป็นคนขยันสวดมนต์มากกว่าใครๆดอกครับ หรือเพราะคิดว่าสวดมนต์แล้วจะเกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ก็หาไม่ ผมเพียงสนใจในแง่มุมบางอย่างที่หลายคนอาจไม่คิด เช่น ผมสนใจวิธีการของครูอาจารย์รุ่นเก่าเรื่องการสวดมนต์แบบ "ปฏิโลม" (ย้อนขน) หรือสวดแบบถอยหลัง คือสวดย้อนจากคำท้ายมาหาคำแรก เช่น สวดบทพาหุงย้อนจากคำท้าย คือคำว่า "สปญฺโญ" ย้อนมาหาคำแรก คือ คำว่า "พาหุง" ซึ่งวิธีการทำนองนี้พระพุทธเจ้าทรงใช้มาแล้วในการพิจารณาปฏิจจสมุปบาท

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า สมองคนเราถ้าถูกฝึกให้ทำงานในแบบที่โลกเขาไม่ค่อยทำกันหรือแบบที่สวนทางกับความเคยชินที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก อย่างเช่นการสวดมนต์ถอยหลัง มันน่าจะสามารถทำงานอย่างวิจิตรพิสดารและซับซ้อนมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งก็น่าจะเหมือนอวัยวะส่วนอื่นๆ ที่ฝึกให้ทำอะไรบ่อยๆแล้วจะเคยชินและทำได้ง่าย เมื่อเชื่อเช่นนี้ผมก็เลยพยายามทดลองทำดูทีละบทสองบทไปเรื่อยๆ ผ่านไปหลายปีตอนนี้พบว่า สมองคุ้นเคยกับการคิดย้อนศรแล้ว กล่าวได้ว่าผมสวดมนต์ถอยหลังได้เกือบครบทุกบทแล้ว (บทที่นิยมใช้สวดกัน) เห็นชัดว่า มีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น เช่น การจัดระเบียบข้อมูลในสมองทำได้ง่ายขึ้น ความจำดีขึ้นเมื่อเทียบกับแต่ก่อน (แต่ก่อนมีปัญหาเรื่องความจำเสื่อมจากโรคประจำตัว)

เกริ่นมายาวขอกลับมาที่หัวข้อดีกว่าครับ จากหัวข้อที่ตั้งไว้ และจากที่ผมได้พิจารณาโครงสร้างเนื้อหาของบทสวดมนต์แบบพระปริตรหรือบทสวดมนต์อื่นๆในแนวพระปริตร คิดว่า เบื้องหลังบทสวดเหล่านั้น มีแบบแผนหรือโครงสร้างการวางลำดับเนื้อหาที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง ซึ่งแบบแผนหรือโครงสร้างนี้เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ในการแสดงธรรมในพระสูตรต่างๆ รวมทั้งเป็นแบบแผนการแต่งคัมภีร์และการเทศน์ของพระสงฆ์รุ่นหลังด้วย แบบแผนหรือโครงสร้างที่ว่านี้ขอเรียกว่าแบบแผน "ไตรภาค" นั่นคือแบบแผน "ข้อเท็จจริง-การปฏิบัติ-ผลลัพธ์" (คล้ายปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ หรือ สัจธรรม-จริยธรรม-คุณค่าทางจริยธรรม)

หากเอาแบบแผนหรือโครงสร้างนี้ไปจับทุกบทสวดพระปริตรหรือบทสวดแนวพระปริตร จะเห็นว่า ส่วนใหญ่จะเดินตามโครงสร้างนี้ หรือแม้การแต่งบทสวดมนต์ของพระสงฆ์ไทยในพิธีสำคัญก็เดินตามโครงสร้างนี้ ยกตัวอย่างบท "ชัยมงคลคาถา" ดังกล่าวในครั้งที่แล้ว ในเบื้องต้นจะกล่าวถึงข้อเท็จจริง (facts/truths) ซึ่งอาจเท็จจริงนี้อาจเป็นเหตุการณ์ สถานการณ์ หรือหลักธรรมก็ได้ กรณีชัยมงคลคาถาจะกล่าวถึงเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ต่อมาในท่ามกลางจะกล่าวถึงการวิธีการปฏิบัติ (ethics) อย่างกรณีชัยมงคลคาถาจะบอกไว้ในคาถาสุดท้ายว่า "คนมีปัญญาสวดพุทธชัยมงคล คาถาทั้ง ๘ นี้เป็นประจำ โดยไม่เกียจคร้าน..." และในเบื้องปลายจะกล่าวถึงผลลัพธ์หรืออานิสงฆ์ที่จะพึงได้จากการปฏิบัตินั้น (moral values) อย่างในชัยมงคลคาถาจะบอกว่า "พึงขจัดอุปัทวันตรายทั้งหลายได้ บรรลุถึงซึ่ง พระนิพพานอันเป็นสุข"

สรุปแล้ว การสวดมนต์คือก็หลักการเป็นไปตาม "ยถากรรม" หรือหลักความเป็นเหตุเป็นผลตามเหตุปัจจัย ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าลาภลอยหรือความบังเอิญในบทสวดมนต์ หรือแม้แต่การปกป้องคุ้มครอง (protection/safeguard) ตามความหมายของคำว่า "ปริตร" ก็เกิดจากการปฏิบัตินั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บิ๊กเนมเพียบทั้ง "อดีต รมต. - สว." สนใจสมัครหลักสูตรดับทุกข์ผู้บริหาร

มูลนิธิสุญญตาวิหารเผยหลักสูตรการดับทุกข์สำหรับผู้บริหารระดับสูงรุ่นแรก มีผู้สนใจในช่วงสองอย่างล้นหลาม รองประธานมูลนิธิฯเผยมีทั้งอดีตรัฐมนตรี...