วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

มุมมองประกันคุณภาพการเทศน์ของพระพรหมบัณฑิตกับทฤษฎีการสื่อสารSMCR



มุมมองประกันคุณภาพการเทศน์ของพระพรหมบัณฑิตกับทฤษฎีการสื่อสารSMCR : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร 


พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.๙, ศ.,ดร., ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, อัคคมหาบัณฑิต) กรรมการมหาเถรสมาคม,เจ้าคณะภาค ๒,เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร บรรยายเรื่อง "การประกันคุณภาพการเทศน์" แก่พระนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการเทศนา ปท.ศ. รุ่นที่ ๖ ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ณ ห้องเรียน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ (https://www.watprayoon.com/main.php?url=dhamma_view&id=1901&cat=D&dhamid=1,หลักการเทศน์ http://www.watprayoon.com/files/book/learntalkdharmma.pdf,วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๑)

พระพรหมบัณฑิตได้ระบุว่า การเป็นพระนักเทศน์จะต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพ โดยต้องพัฒนาตัวเองด้วยเตรียมตัว เตรียมเนื้อหาให้สมดุลกับผู้ฟังหรือผู้รับสาร เพื่อให้ผู้ฟังได้อะไรที่ใหม่ (นวัตกรรม) เกิดการเปลี่ยนแปลงคือมีความสุข แล้วต้องประเมินด้วยว่าขณะเทศน์มีผู้ฟังมากน้อยเพียงใด หลังจากนั้นมีผู้สนใจที่จะนิมนต์ไปเทศน์ใหม่หรือไม่ พร้อมกันนี้อย่างเช่นตนขณะเทศน์ก็ต้องมีการถ่ายทดสดผ่านสื่อออนไลน์เพื่อเป็นขยายผู้รับสารไปทั่วโลกและมีการแปลเป็นภาษาอื่นด้วยก็จะดียิ่ง หลังจากนั้นก็มีการอัพเป็นเอ็มพี ๓  ขึ้นเว็บไซต์วัดประยุรฯ

หลักการประกันคุณภาพนั้นคือการทำที่ได้มาตรฐาน ต้องประกอบด้วยหลักสากล  ๔ ประการคือ  

๑.ปัจจัยนำเข้า คือ การเตรียมตัว ด้วย ๑.๑.หาความรู้หาประสบการณ์ใส่ตัว ด้วยการลงทุนศึกษาค้นคว้าข้อมูล รวบรวมพุทธภาษิตเรื่องราวรวมถึงนิทานต่างๆ ไว้สาทก รวมถึงเตรียมอุปกรณ์เช่นทำเพาเวอร์พอยต์ ไมค์ แม้จะเสียโอกาสขาดรายได้หรือเสียโอกาสไปทำงานอย่างอื่นก็ต้องยอมเพราะเป็นการลงทุน และนักเทศน์ต้องมีจรรยาบรรณด้วย

๑.๒.หาความรู้ที่คนอื่นเขาทำไว้นำมาสะสม อย่างเช่นวันนี้ต้องบรรทึกข้อมูลไว้ฟังคราวต่อไป อย่างเช่นตนบรรยายครั้งนี้ก็มีการทำเป็นเอ็มพี 3 อัพขึ้นเว็บไซต์วัดประยุรฯ รวมถึงหนังสือต่างๆที่เทศน์ครั้งที่ผ่านมาเก็บไว้หมด สามารถค้นข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ต  มีผู้กล่าวไว้ว่า จำดีกว่าจด จำไม่หมดจดไว้ดีกว่าจำ และบอกด้วยว่าจดแล้วเก็บไว้ที่ไหนถึงจะหาง่าย 

ปัจจัยนำเข้าคือการเตรียมตัวนี้เป็นเป็นการจัดการความรู้และต้องเป็นความรู้ที่ถูกต้องด้วย พร้อมกันนี้จะต้องมีความแตกฉานความรู้นั้นเช่นในหมวดธรรมต่างๆ รวมถึงคำอธิบายให้ปรุโปร่ง โดยต้องมีหลักปฏิสัมภิทาญาณ (ปัญญาแตกฉาน)  ๔ ประการคือ  
   
๑. อัตถปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในอรรถ, ปรีชาแจ้งในความหมาย, เห็นข้อธรรมหรือความย่อ ก็สามารถแยกแยะอธิบายขยายออกไปได้โดยพิสดาร เห็นเหตุอย่างหนึ่ง ก็สามารถแยกแยะอธิบายขยายออกไปได้โดยพิสดาร เห็นเหตุอย่างหนึ่ง ก็สามารถคิดแยกแยะกระจายเชื่อมโยงต่อออกไปได้จนล่วงรู้ถึงผล) ซึ่งการที่จะมีปัญญาแตกฉานในอรรถนั้นจะต้องมีโยนิโสมนสิการ (คิดเป็น) หรือมนสิการ  ๔ ประการคือ

๑) อุบายมนสิการ แปลว่า คิดหรือพิจารณาโดยอุบาย คือคิดอย่างมีวิธี หรือคิดถูกวิธี หมายถึงคิดถูกวิธีที่จะให้เข้าถึงความจริง สอดคล้องเข้าแนวกับสัจจะ ทำให้หยั่งรู้สภาวลักษณะและสามัญลักษณะของสิ่งทั้งหลาย

๒) ปถมนสิการ แปลว่า คิดเป็นทาง หรือคิดเป็นทาง คือคิดได้ต่อเนื่องเป็นลำดับ จัดลำดับได้หรือมีลำดับ มีขั้นตอน แล่นไปเป็นแถวเป็นแนว หมายถึง ความคิดเป็นระเบียบตามแนวเหตุผลเป็นต้น ไม่ยุ่งเหยิงสับสัน ไม่ใช่ประเดี๋ยววกเวียนติดพันเรื่องนี้ ที่นี้ เดี๋ยวเตลิดออกไปเรื่องนั้นที่โน้น หรือ กระโดดไปกระโดดมา ต่อเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ ทั้งนี้รวมทั้งความสามารถที่จะชักความนึกคิดเข้าสู่แนวทางที่ถูกต้อง

๓) การณมสิการ แปลว่า คิดตามเหตุ คิดค้นเหตุ คิดตามเหตุผล หรือคิดอย่างมีเหตุผล หมายถึงการคิดสืบค้นตามแนวความสัมพันธ์สืบทอดกันแห่งเหตุปัจจัย พิจารณาสืบหาสาวหาสาเหตุ ให้เข้าใจถึงต้นเค้า หรือแหล่งที่มาซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาตามลำดับ

๔) อุปปาทกมนสิการ แปลว่า คิดให้เกิดผล คือใช้ความคิดให้เกิดผลที่พึงประสงค์ เล็งถึงการคิดอย่างมีเป้าหมาย ท่านหมายถึง การคิดการพิจารณาที่ทำให้เกิดกุศลกรรม เช่น ปลุกเร้าให้เกิดความเพียร การรู้จักคิดในทางที่ทำให้หายหวาดกล้ว ให้หายโกรธ การพิจารณาที่ทำให้มีสติ หรือทำให้จิตใจเข้มแข็งมั่นคงเป็นต้น(https://analyticalreflection.wordpress.com/2013/08/16/ความหมายของโยนิโสมนสิก/)
  
๒. ธัมมปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในธรรม, ปรีชาแจ้งใจหลัก, เห็นอรรถาธิบายพิสดาร ก็สามารถจับใจความมาตั้งเป็นกระทู้หรือหัวข้อได้ เห็นผลอย่างหนึ่ง ก็สามารถสืบสาวกลับไปหาเหตุได้)
   
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ, ปรีชาแจ้งในภาษา, รู้ศัพท์ ถ้อยคำบัญญัติ และภาษาต่างๆ เข้าใจใช้คำพูดชี้แจ้งให้ผู้อื่นเข้าใจและเห็นตามได้)
   
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ, ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ, มีไหวพริบ ซึมซาบในความรู้ที่มีอยู่ เอามาเชื่อมโยงเข้าสร้างความคิดและเหตุผลขึ้นใหม่ ใช้ประโยชน์ได้สบเหมาะ เข้ากับกรณีเข้ากับเหตุการณ์) (ตีความได้) (อ้างอิง :- องฺ.จตุกฺก. 21/172/216 ขุ.ปฏิ. 31/268/175 อภิ.วิ. 35/784/400,http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=17515.0)

๒. ปัจจัยกระบวนการ หรือขั้นตอนการเทศน์ อย่างเช่นต้องรู้ว่า การให้ศีลอย่างไร ใช้ภาษาอย่างไร มีนิทานสาทกอย่างไร  เหมือนการทำอาหารปรุงอาหาร เนื้อหาเป็นอย่างไร กระบวนการสอนเทศน์ของหลักสูตรนี้ควรมีการนั่งกรรมฐานด้วยหรือไม่  ซึ่งหลักการเทศน์มีองค์ประกอบคือ ๑) การอุเทศน์คือการเริ่มต้นต้องมี ตตต (ต้นตื่นต้น) ๒. การนิเทศน์คือตอนกลางต้องมี กกก (กลางกลมกลืน) ต้องมีภาษิตเชื่อม ยกเป็นภาษาอังกฤษด้วยก็ได้ และ ๓.  การปฏินิเทศน์ตอนจบต้องมี จจจ (จบจับใจ) 

แล้วต้องประเมินตัวเองตามหลักพุทธลีลาคือ  ๑. แจ่มแจ้ง  ๒.จูงใจ ๓. แกล้วกล้า ๔. ร่างเริง หรือ ๔ส. คือ  ๑) สันทัสสนา  อธิบายให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เหมือนจูงมือไปดูเห็นกับตา  สอนให้เหมาะกับผู้ฟัง ลีลาสาริกาป้อนเหยื่อวัดประยุรฯ รูปแบบ แพตฟอร์ม ๒)  สมาทปนา ชักจูงใจให้เห็นจริงด้วย ชวนให้คล้อยตาม จนต้องยอมรับและนำไปปฏิบัติ เป็นขั้นเป็นตอน ๓) สมุตเตชนา เร้าใจให้แกล้วกล้า บังเกิดกำลังใจ ปลุกให้มีอุตสาหะแข็งขัน มั่นใจว่าจะทำให้สำเร็จได้ ไม่หวั่นระย่อต่อความเหนื่อยยาก ด้วยการทำจิตให้ผ่องแผ้ว และ ๔) สัมปหังสนา ชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง คือการอนุโมทนาคือประกาศอานิสงส์เช่นการทำบุญกับผู้ศึกษาธรรมพระนักเทศน์เท่ากับบูชาพระธรรม เบิกบาน ฟังไม่เบื่อ และเปี่ยมด้วยความหวัง เพราะมองเห็นคุณประโยชน์ที่ตนจะพึงได้รับจากการปฏิบัติ 

๓.ปัจจัยการผลิต คือการประเมินผู้ฟังหรือผู้รับสารผลเป็นอย่างไรจากผลผลิตนั้นเข้าใจหรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร อย่างเช่นหลักสูตรนี้มีผู้เรียน ๖๐ รูป หากจบ ๔๘ ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จ

๔.ปัจจัยผลกระทบ คือประเมินเช่นกันว่าเขาประทับใจหรือไม่  เขาต้องการฟังเราเทศน์อีกหรือไม่ มีการนิมนต์ไปเทศน์อีกหรือไม่  อย่างเช่นหลักสูตรนี้อยู่มาถึง ๖ รุ่นนี้ว่าผลกระทบดีถึงทำให้หลักสูตรนี้อยู่มาได้ 


ทั้งนี้พระพรหมบัณฑิตได้ยกตัวอย่างวิธีการเทศน์เรื่องจิตอาสา โดยสาทกยกนิทานหรือเรื่องราวสถานการณ์ปัจจุบันคือเรื่องน้ำท่วมจังหวัดเพชรบุรีแทนเปรียบเทียบกับการช่วยกู้ชีพทีมหมูป่า พร้อมยกศาสตร์พระราชาคือ ขาดเติมให้เต็มด้วยทาน เต็มให้รู้จักพอด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พอให้รู้จักแบ่งด้วยอัตถจริยา แบ่งให้เป็นธรรมด้วยสมานัตตตา


ทฤษฎีสื่อสารSMCR 


ขณะที่ทฤษฎีสื่อสารSMCR ของ “เดวิด เค. เบอร์โล” (David K.Berlo) ประกอบด้วย  ๑. ผู้ส่ง (Source) ต้องเป็นผู้ที่มีทักษะความชำนาญใน “การเข้ารหัส” (Encode) เนื้อหาข่าวสาร และควรจะมีความสามารถในการปรับระดับของข้อมูลนั้นให้เหมาะสมและง่ายต่อระดับความรู้ของผู้รับ ตลอดจนพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับผู้รับด้วย ๒. ข้อมูลข่าวสาร (Message) เกี่ยวข้องด้านเนื้อหา สัญลักษณ์ และวิธีการส่งข่าวสาร


๓. ช่องทางในการส่ง (Channel) หมายถึง  ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ หรือเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง คือ การได้ยิน การดู การสัมผัส การลิ้มรส หรือการได้กลิ่น หรืออุปกรณ์ต่างๆ ๔. ผู้รับ (Receiver) ต้องเป็นผู้มีทักษะความชำนาญใน “การถอดรหัส” (Decode) สาร เป็นผู้ที่มีทัศนคติ ระดับความ และพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรม เช่นเดียวหรือคล้ายคลังกันกับผู้ส่งจึงจะทำให้การสื่อสารความหมายหรือการสื่อสารนั้นได้ผล 


ตามทฤษฏี  S M C R นี้ มีปัจจัยที่มีความสำคัญต่อขีดความสามารถของผู้ส่งและรับที่จะทำการสื่อสารความหมายนั้นได้ผลสำเร็จหรือไม่เพียงใด ได้แก่

(๑) ทักษะในการสื่อสาร (Communication Skills) มีความชำนาญหรือมีความสามารถในการถอดรหัสในการส่งและการรับสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันได้อย่าง (๒) ทัศนคติ (Attitudes) ผู้ส่งและผู้รับต้องมีมีทัศนคติที่ดีต่อกันจะทำให้การสื่อสารได้ผลดี  (๓) ระดับความรู้ (Knowledge Levels) ผู้ส่งและผู้รับมีระดับความรู้เท่าเทียมกันก็จะทำให้การสื่อสารนั้นลุล่วงไป  (๔) ระบบสังคมและวัฒนธรรม (Socio-Culture Systems) ระบบสังคมและวัฒนธรรมในแต่ละชาติมีส่วนกำหนดพฤติกรรมของประชาชนในประเทศนั้น ๆ ซึ่งมีความแตกต่างกัน รวมถึงมีการศึกษาถึงกฎข้อบังคับทางศาสนาของแต่ละศาสนาประกอด้วยด้วย (เมื่อสื่อออนไลน์ทะลุกำแพงวัด!ทักษะสื่อสารตามSMCRจำเป็นที่พระต้องมี?,https://siampongsnews.blogspot.com/2018/08/smcr.html)


ดังนั้น การประกันคุณภาพการเทศน์ตามการบรรยายของพระพรหมบัณฑิตตามหลักสากล ๔ ประการสามารถบูรณาการเข้ากับทฤษฎีการสื่อสาร SMCR คือ ๑.ปัจจัยนำเข้าคือการเตรียมตัวนั้นนับได้ว่าเป็นคุณสมบัติของผู้ส่งสารหรือ S ๒. ปัจจัยกระบวนการคือ M พร้อมนี้นี้ควรนำทฤษฎีการสื่อสาร "๕W๑H"มาประกอบด้วย ๓.ปัจจัยการผลิต และ ๔.ปัจจัยผลกระทบ นั้นเป็นคุณสมบัติของผู้รับสารที่ผู้ส่งสารต้องวิเคราะห์ ขณะที่  C ในที่นี้คือ การเทศน์ พร้อมกันนี้ยังรวมถึงการใช้สื่อออนไลน์และอุปกรณ์เสริมในการเทศน์เป็นต้น  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รวม 4 สุดยอดเหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส จ.นครพนม อายุ109 ปี

เหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช  หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม อายุ 109 ปี รวมความเป็นสุดยอดดังนี้ สุดยอดพุทธศิลป์ สุดยอดม...