วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2561
"AI"บุก! ส่องท่าที"รัฐบาล-คณะสงฆ์"ยุคไทยแลนด์๔.๐
ปี๖๒รบ.ญี่ปุ่นทุ่มทุนพัฒนาวิจัย "AI"เต็มสูบ ส่องท่าที"รัฐบาล-คณะสงฆ์"ยุคไทยแลนด์๔.๐ : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร รายงาน
แรงยิ่งกว่าสึนามิสำหรับกระแสหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษย์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ที่มีประสิทธิภาพเสมือนมนุษย์ เป็นเทคโนโลยีที่มีพลังและมีบทบาทสำคัญในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรม การแพทย์ และด้านการสื่อสารสนเทศ เพราะ AI มีประสิทธิการในการสร้างเนื้อหาข่าวสารที่ถูกสื่อออกมาทางสื่อออนไลน์ได้เฉลี่ยเดือนละ ๓ หมื่นชิ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคนทั้งนักข่าว รีไรท์ เพราะ AI ทำหน้าที่ตามทฤษฎีการสื่อสาร SMCR คือเป็นทั้งผู้สร้างสาร ส่งสาร และผู้รับสารได้ ส่งผลกระทบมีข่าวปลอม (Fake news)ถูกโพสต์ในระบบสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมากยากที่จะแยกแยะว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม เนื่องจากข่าวปลอมมีสภาพเหมือนข่าวจริง หรือเรียกว่า "ข่าวเสมือนจริง" ดังนั้น หากผู้บริโภคข่าวสารหรือผู้รับสารไม่มีสติมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อแล้วก็ย่อมจะตกเป็นเหยื่อได้ง่ายๆ
ประเทศต่าง ๆ ได้หันมาให้ความสนใจวิจัยและพัฒนา AI ในภูมิภาคอาเซียนอย่างเช่นประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย จีนและญี่ปุ่น สำหรับประเทศญี่ปุ่นั้นจากประสบการณ์ของ"ซิลิคอนวัลเลย์" ในประเทศสหรัฐ และการวิเคราะห์การลงทุนในอนาคตของรัฐบาลญี่ปุ่นแผนงบประมาณในระยะยาวให้ความสำคัญกับซอฟท์แวร์ AI มากกว่าหุ่นยนต์ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า การลงทุนพัฒนาซอฟต์แวร์อย่าง AI นั้น สามารถคาดหวังผลลัพธ์ได้ชัดเจนกว่าการพัฒนาหุ่นยนต์ ผู้วิจัยหุ่นยนต์ญี่ปุ่นเห็นว่า ปี ๒๕๖๒ อาจกลายเป็นจุดพลิกผัน เมื่อ AI และเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติกลายเป็นเป้าหมายในการลงทุนวิจัยและพัฒนาแทนหุ่นยนต์ แนวโน้มอนาคตอาจกลายเป็นการพัฒนาหุ่นยนต์ในฐานะของแถม ของ AI ก็เป็นได้ ขณะที่ศาสตราจารย์ฮาจิเมะ อาซามะ (Hajime Asama) มหาวิทยาลัยโตเกียว และสมาชิก Council on Competitiveness-Nippon(COCN) เห็นว่า "หากญี่ปุ่นต้องการเป็นผู้นำในการพัฒนา AI สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องทำ ไม่เพียงแค่การพัฒนา AI และหุ่นยนต์ แต่ต้องลงทุนต่อเนื่อง ๑๐ - ๒๐ ปี เพื่อสร้างบุคลากร AI ที่มีความพร้อมและเทคโนโลยีที่จำเป็น เพื่อรองรับอนาคต"(เฟซบุ๊ก "คนไทย 4.0 ไทยแลนด์ 4.0" ได้โพสต์ข้อความโดยอ้างอิงข้อมูลจาก "Nikkan Kogyo Shimbun",เมื่อวันที่ ๒๔ ส.ค.๒๕๖๑)
อย่างไรก็ตาม AI มีคุณอนันต์แต่ก็มีโทษมหันต์เช่นเดียวกัน หากนักโกงนำ AI มาใช้ก็จะกลายเป็น AI ยอดนักโกง จะเกิดอะไรขึ้นหากกำหนดขอบเขตและเป้าหมายของปัญญาประดิษฐ์ได้ไม่ "แม่น" พอ จะเกิดอะไรขึ้นหากบางบริษัทกำหนดเป้าหมายให้ระบบวางแผนการจ้างงานให้ "ลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด และสร้างผลกำไรให้มากที่สุด" โดยไม่มีข้อจำกัดจะเริ่มไล่พนักงานออกโดยดูจากตัวเลขแค่บางตัวหรือไม่ ดังนั้น "เจฟฟ์ คลูน (Jeff Clune) นักวิจัยจากห้องพัฒนา AI ของ Uber หนึ่งในผู้ตีพิมพ์งานวิจัยที่รวบรวม "วิธีแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์" ของ AI ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Wired โดยเตือนว่า “การได้เห็นระบบเหล่านี้ทำงานอย่างสร้างสรรค์ในแบบที่คุณไม่คาดคิดมาก่อน ทำให้คุณระลึกถึงพลังอำนาจของพวกมัน และพร้อมๆ กันนั้น คุณก็ระลึกถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นด้วย”(ปัญญาประดิษฐ์ยอดนักโกง,http://dv.co.th/blog-en/AI-Creative-solution/,วันที่วันที่ ๒๕ส.ค.๒๕๖๑)
ไทยคลอดไทยแลนด์ ๔.๐ เดินหน้ารบ.ดิจิทัล
สำหรับประเทศไทยนั้นรัฐบาลมียุทธศาสตร์ในการผลักดันนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ภายใต้กรอบประกอบ ๑) โครงสร้างพื้นฐาน (Digital Infrastructure) ทั้งเน็ตประชารัฐ ซึ่งเป็นการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงหมู่บ้านทั่วประเทศ และเครือข่ายเคเบิลใต้น้ำ โดยเมื่อโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่จะตามมา คือ การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งด้าน e-Commerce, e-Health และการเรียนรู้ ๒) การผลักดันรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (Government Big Data) ด้วยการพัฒนาศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Goverment) ซึ่งมีองค์ประกอบ ๖ ด้านคือ ๑. Open Data ๒. Base Analytics Data ๓. Cloud Services Data อย่างเช่น Amazon และ Alibaba or MCU ๔. Hard ware,Soff Ware Data ๕. Data Analytic และ ๖. Data center เพราะปัจจุบันข้อมมูลที่มีจะต้องเป็นข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ (Data Analytic) ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ เพราะเป็นเรื่องใหญ่และหัวใจสำคัญคือจะต้องพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะต้องบอกได้ว่าข้อมูลอะไรที่สำคัญ ๓) ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security)๔) การพัฒนาเพื่อให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล (Application and Development) ได้แก่ IoT Institute, Digital Park, Smart Cities และ ๕) การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล (Digital Manpower) ให้แก่บุคลากรและประชาชนทุกระดับ
หลังจากนั้นรัฐบาลได้ดำเนินการภายใต้กรองดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมีการประชุมสัมมนาประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชากรทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง และมีการพิจารณาปรับปรุงแผนการดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล บุคคลที่เป็นหัวจักรสำคัญรองจากนายกรัฐมนตรีคือดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อย่างเช่นเป็นประธานเปิดงานแสดงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้ชื่อ "Digital Thailand Big Bang Regional 2018"ที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ ประเด็นที่เน้นย้ำคือระบบอินเทอร์เน็ตประชารัฐซึ่งจะเอื้อต่อการสร้างรายได้จำหน่ายสินค้าผ่านเน็ต ผ่านระบบดิจิทัล เพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน(กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจัดงาน,http://www.banmuang.co.th/news/region/117434,วันที่ ๒๕สิงหาคม ๒๕๖๑)
วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๑ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "โอกาสการลงทุนภายใต้นโยบายเศรษฐกิจประเทศไทย ๔.๐" ในงานประชุม ADES 2018 - ASEAN Digital Economy Summit "ธุรกิจบล็อกเชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล" ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพมหานคร จุดเน้นก็ยังเป็นว่าระบบอินเทอร์เน็ตประชารัฐ รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีบิ๊กดาต้ามาใช้ในการผนวกรวมข้อมูลจากทั้ง ๒๐ กระทรวงเข้าไว้ด้วยกัน("พิเชฐ"เผยยุทธศาสตร์เทคโนโลยีรับ"ไทยแลนด์ 4.0"http://www.banmuang.co.th/news/politic/121302,วันที่ ๒๕สิงหาคม ๒๕๖๑)
วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๑ ได้ร่วมงานสัมมนาครั้งใหญ่แห่งปี TFIT Forum 2018 ภายใต้แนวคิด "Embracing Digitalization to Empower Thailand's Future" โดยผนึกกำลังดิจิทัลไทยก้าวไกลระดับโลก เพื่อขับเคลื่อนไทยสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมดิจิทัลอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระดมวิทยากรชั้นนำระดับชาติและต่างชาติร่วมเปิดมุมมอง ถ่ายทอดความคิดเห็นและประสบการณ์ที่จะนำไปสู่การสร้างประเทศนวัตกรรมดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จผ่านความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ซึ่งไฮไลท์ของงานคือการสัมมนาหัวข้อ "ทิศทางและการขับเคลื่อนดิจิทัลไทยในแง่มุมของภาครัฐและภาคเอกชน" ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ สมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TFIT) จัดขึ้นที่ห้อง Convention Centre A1 ชั้น ๒๒ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า เป้าหมายของงานคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างความเชื่อมั่นด้านดิจิทัลให้กับสังคม พร้อมพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่ผลักดันประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ทั้งนี้ องค์กรสมาชิก ทั้ง ๒๒ สมาคมของ TFIT ประกอบด้วย สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) สมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย (ATCM) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (CAT) สมาคมการค้าผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี (COA) สมาคม ซีไอโอ ๑๖ (CIO16) สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ (CIPAT) สมาคมดิจิทอลคอนเทนท์ไทย (DCAT) สมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย (ELAT) สมาคมเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (INA) สมาคมศึกษาและพัฒนาโอเพ่นซอร์ส (OSEDA) สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์ไทย (TACGA) สมาคมการค้าธุรกิจศูนย์บริการทางโทรศัพท์ไทย (TCCTA)สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCT) สมาพันธ์สมาคมดิจิตอลคอนเทนต์บันเทิงไทย (TDEC) สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย (TISPA) สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย (TISPA) สมาคมส่งเสริมการส่งออกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (TSEP)(สัมมนาครั้งใหญ่ผนึกกำลังดิจิทัลไทยก้าวไกลระดับโลก,http://www.banmuang.co.th/news/politic/121578,วันที่ ๒๕สิงหาคม ๒๕๖๑)
วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๑ กล่าวรายงานในพิธีเปิดงานสัมมนาและนิทรรศการนานาชาติ "Digital Thailand Big Bang Regional 2018" ที่จังหวัดระยอง ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัดขึ้น โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ระยองฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดระยอง(ดร.สุวิทย์ชมม.บูรพาร่วมขับเคลื่อนEECสู่ Thailand4.0,http://www.banmuang.co.th/news/education/122050,วันที่ ๒๕สิงหาคม ๒๕๖๑)
วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ ๔/๒๕๖๑ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ แกรนด์ ถนนพระราม ๙ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ โดยมีมติเห็นชอบนโยบายและแนวปฏิบัติในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ๑) การจัดทำหลักเกณฑ์การให้บริการ Cloud Computing ๒) การจัดทำร่างหลักเกณฑ์เอกสารที่มีความมั่นคงปลอดภัย (Secure Document) ๓) อยู่ระหว่างการศึกษาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับมาตรฐานข้อมูล (Data Set) ในรูปแบบ Open Data / Open API รองรับการใช้ประโยชน์จาก Big Data และ ๔) การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับการใช้งาน Digital ID เนื่องจากปัจจุบันมีการดำเนินการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (National Digital ID Platform) ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาครัฐและภาคเอกชนในการใช้งาน รวมถึงการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมในอนาคต(รมว.ดิจิทัลฯประชุมคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 4/2561,http://www.banmuang.co.th/news/it/122833,วันที่ ๒๕สิงหาคม ๒๕๖๑)
แผน AIรัฐบาลยังไม่ชัดแค่นำร่องรองบปี๖๒
จนกระทั้งวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล แต่ปรากฏว่าได้แจกเอกสารกำหนดหลักการและแนวคิดของตนเอง ให้ทุกหน่วยงานนำไปศึกษา ทบทวน และ ปฎิบัติตาม เพื่อจัดทำแผนใหม่ ("บิ๊กตู่"ยังไม่พอใจ!ตีกลับแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล,http://www.banmuang.co.th/news/politic/122711,วันที่ ๒๕สิงหาคม ๒๕๖๑)
จะเห็นได้ว่าการดำเนินการของรัฐบาลภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ผลักดันนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ตามกรอบ ๕ ประการนั้น ยังไม่เห็นภาพนำ AI มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนายังไม่ชัดเจนทั้งนี้คงรอผลการนำร่องที่โรงเรียนมีชัยพัฒนาที่จังหวัดบุรีรัมย์และระยอง ทั้งนี้พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)เมื่อเดือนกรกฎาคมว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบแนวนโยบายและจุดเน้นการจัดทำแผนดำเนินงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๒ ต้องเตรียมคนให้พร้อมกับการเข้าสู่ยุคที่มีการใช้หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์คิดและทำแทนกำลังคน ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้
ภาคธุรกิจเอกชนและการศึกษาปรับเดินเครื่องเต็มสูบ
ส่วนภาคธุรกิจและเอกชนได้เตรียมพัฒนาคนเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องถึงขั้นปัญญาประดิษญ์(เอไอ) หรือหุ่นยนต์ มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม อาจจะส่งผลให้แรงงานตกงานได้ ภาคการศึกษาก็มีการปรับหลักสูตรพัฒนาคนให้สอดคล้อง วันที่ ๘ ส.ค.๒๕๖๑ รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สถาบันที่มีการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อันดับต้นๆของประเทศไทย กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ พระจอมเกล้าฯลาดกระบัง จะมีการพัฒนาหลักสูตรด้าน AI เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแล้ว ยังได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ประเทศอังกฤษ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรปริญญาตรี สองปริญญาข้ามสถาบัน (Double degree) ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ และ หลักสูตรด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical & Computer Engineering: ECE) ซึ่งจะช่วยให้การเรียนการสอนมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น และคาดว่าจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ นี้ ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจที่มีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้มากที่สุด ส่งผลให้เกิดการปรับลดพนักงานตามมาได้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิค ธุรกิจการเงิน Call Center พนักงานบัญชี เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล พนักงานต้อนรับ พนักงานพิสูจน์อักษร เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ คนเดินหนังสือ,พนักงานส่งของ และนักวิจัยการตลาด (ธุรกิจไทยพึ่งAIแทน!พนักงานส่งผล 13 อาชีพเสี่ยงตกงาน,http://www.banmuang.co.th/news/education/120954,วันที่ ๒๕สิงหาคม ๒๕๖๑)
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวในการเป็นประธานในการเปิดงาน “Burapha Innovation Fair 2018 และงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติภาคตะวันออก ครั้งที่ ๓๕” ที่มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ว่า โลกในปัจจุบันนี้ไม่เหมือนในอดีต เพราะเป็นโลกที่ VUCA ซึ่งเป็นโลกที่ ๑) Volatility (ความผันผวน) จากเดิมที่ Stability (ความมีเสถียรภาพ) ๒) Uncertainty (ความไม่แน่นอน) จาก Certainty (ความแน่นอน) ๓) Complexity (ความซับซ้อน) จาก Simplicity (ความเรียบง่าย) และ ๔) Ambiguity (ความกำกวม) Clarity (ความชัดเจน) สรุปคือ โลกในปัจจุบันเป็นโลกที่วุ่นวายยุ่งเหยิง (disrupt) จึงต้อง reinvention หรือการคิดและทำเรื่องใหม่ในทุกระดับ ถึงจะอยู่ภายใต้โลกที่เป็นเช่นนี้ได้จึงเป็นที่มาของ ไทยแลนด์ ๔.๐ คือ “Reinventing the Nation” คือ เมื่อโลกเปลี่ยนแล้ว ประเทศไทยจะต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับโลก โดย ไทยแลนด์ ๔.๐ จะทำโมเดลที่สร้างการเปลี่ยนแปลง (Game Changing Model) ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายในและเชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก โดยอาศัยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ“เมื่อไม่พอต้องรู้จักเติม เมื่อพอต้องรู้จักหยุด และเมื่อเกินต้องรู้จักปัน”(ดร.สุวิทย์ชมม.บูรพาร่วมขับเคลื่อนEECสู่ Thailand4.0, http://www.banmuang.co.th/news/education/122050,วันที่ ๒๕สิงหาคม ๒๕๖๑) สอดคล้องกับแนวคิดของพระพรหมบัณฑิตที่สรุปศาสตร์พระราชาบูรณาการกับหลักทสพิธีราชธรรมที่ว่า "ขาดเติมให้เต็มด้วยทาน เต็มให้รู้จักพอด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พอให้รู้จักแบ่งด้วยอัตถจริยา แบ่งให้เป็นธรรมด้วยสมานัตตตา" (พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.๙, ศ.,ดร., ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, อัคคมหาบัณฑิต) กรรมการมหาเถรสมาคม,เจ้าคณะภาค ๒,เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร บรรยายเรื่อง "การประกันคุณภาพการเทศน์" แก่พระนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการเทศนา ปท.ศ. รุ่นที่ ๖ ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ณ ห้องเรียน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เขตธนบุรี,มุมมองประกันคุณภาพการเทศน์ของพระพรหมบัณฑิตกับทฤษฎีการสื่อสารSMCR,http://www.banmuang.co.th/news/education/122938,วันที่ ๒๕สิงหาคม ๒๕๖๑)
ดร.สุวิทย์ได้มองว่า มหาวิทยาลัยในประเทศไทยกำลังเผชิญกับ ๔ กับดักที่สำคัญ คือ ๑) กับดัก Comfort Zone คือ ยังคงอยู่ในกรอบเดิมที่ตัวชี้วัดไม่เหมาะสม ทำให้ไม่ต้องรับผลจากการดำเนินงานที่อาจไม่ตอบโจทย์ ๒) กับดัก Commodity คือ เกือบทุกมหาวิทยาลัยมุ่งไปสู่การเป็น Comprehensive-based University ทำให้ซ้ำซ้อน ไม่มีความแตกต่าง ๓) กับดัก Mismatch คือ มหาวิทยาลัยยังคงผลิตนักศึกษาเพื่อสร้างรายได้ ด้วยการผลิตบัณฑิตเอาใจตลาดมากจนเกินไป โดยไม่ตอบโจทย์เรื่องการมีงานทำ และ ๔) กับดัก Irrelevance คือ การไม่คิดที่จะปรับทิศทางให้สอดรับกับกระแสโลกที่เปลี่ยนไป ดังนั้นมหาวิทยาลัยจะต้องปรับการศึกษาจากรูปแบบเดิม เป็นการการสร้างองค์ความรู้ผ่านการวิจัย โดยจะต้องมีบทบาทในการสร้างนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งมีการวิจัยที่จะตอบโจทย์ในอนาคตเพื่อนำไปสู่การพัฒนา Deep Technology ให้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมในอนาคต ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรมขึ้น สามารถรวมพลังร่วมกับสถาบันและหน่วยงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ที่สำคัญของประเทศผ่านกลไกต่างๆ ภายใต้กระทรวงใหม่ ในด้านการบริหารจัดการ กฎระเบียบ และงบประมาณ เช่น การร่วมวิจัยในโจทย์สำคัญของภาครัฐ (Research Procurement) การบริหารจัดการงบประมาณแบบหลายปีต่อเนื่อง (Multiple-year Budgeting)(ดร.สุวิทย์ชมม.บูรพาร่วมขับเคลื่อนEECสู่ Thailand4.0, http://www.banmuang.co.th/news/education/122050,วันที่ ๒๕สิงหาคม ๒๕๖๑)
พระพุทธศาสนา"คณะสงฆ์-มจร"จะอยู่ตรงไหน
ทางด้านพระพุทธศาสนาที่ประชากรไทยส่วนใหญ่นับถือนั้นจากรายงานข้อมูลพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา ประจำปี ๒๕๕๙ ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพระสงฆ์ทั้งมหานิกายและธรรมยุต จำนวน ๒๙๘,๕๘๐ รูป ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาตามที่มหาเถรสมาคมในฐานะองค์กรสูงสุดของสถาบันสงฆ์ไทยเสนอ มียุทธศาสตร์พระพุทธศาสนา ๔.๐ เพื่อสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ขณะนี้ยุทธศาสตร์ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ได้เริ่มที่ทำ "สมาร์ทการ์ดพระ" มีโครงการนวัตกรรมเชิงพุทธ และฐานข้อมูลศาสนบุคคล (Smart Card) เป็นต้น
ขณะที่มหาวิทยาลังสงฆ์โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)นั้น เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ ได้พัฒนายกระดับเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนานานาชาติ ตั้งวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มีส่วนในการจัดทำหนังสือพระไตรปิฎกสากล ดังนั้น ผลงานของ มจร ๔.๐ จึงนับได้ว่าเป็นการสร้างนวัตกรรม (Innovation) ใหม่ ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเชื่อมโยงกับนานาชาติ เพื่อการสื่อสารธรรมพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งปัญญาที่เป็นแสงสว่างในโลก โดยบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคมตั้งแต่ระดับชุมชนและระดับโลก มีการเรียนการสอนหลายระดับซึ่งในระดับปริญญาโทและปริญญามีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างนิสิตที่สามารถสร้างเครือข่ายแห่งปัญญาให้เกิดขึ้น ด้วยการเกิดสติและปัญญาบ่มเพาะโพธิแห่งปัญญา
พร้อมกันนี้มีการผลักดันให้เปิดการเรียนการสอนออนไลน์ ขณะนี้วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติได้หารือกับที่วิทยาลัยธรรมะ เกต ปูดาเปสด์ ประเทศฮังการี สถาบันสมทบของ มจร เพื่อปรึกษาหารือกับอธิการบดีจัดทำหลักสูตรร่วมกันในสาขาสติกับสมาธิ (Mindfulness and Meditation) เป็นการการเรียนแบบออนไลน์เชื่อมโยงกับห้องเรียนออนไลน์ หลังจากนั้นภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิเศรษฐีเรือทอง วัดพุน้อย จังหวัดลพบุรี จัดโครงการพัฒนาทรัพยากรสงฆ์เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาภาคใต้หัวข้อ “อบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนา Mobile Applicationบนระบบปฏิบัติการ Android”
พร้อมกันนี้ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) มจร ภายใต้การนำของพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการ IBSC ได้ร่วมกับบริษัท Google ประเทศไทย นำโดยนายไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย ได้ประชุมเพื่อปรึกษาหารือแนวทางในการนำ Digital และเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาวิทยาลัยให้ก้าวไปสู่ Smart College เมื่อนั้นภาพแห่งความฝันที่ว่า "ศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ" จะบรรลุผลในที่สุด ต่อมาบริษัท กูเกิล ประเทศไทย ผนึกกำลังกับวิทยาลัยพุทธศาสตร์ มจร จัดหลักสูตร "Google for Education" ให้แก่ผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัย เพื่อนำเครื่องมือของ Google ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน การจัดประชุม การบริหารจัดการสำนักงาน เพื่อให้เอื้อต่อการจัดการศึกษาของวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
คณะสงฆ์ โดยเฉพาะ มจร จะพัฒนาโดยการนำ AI มาประยุกต์ใช้เกิดเป็น "พุทธปัญญาประดิษฐ์" หรือพุทธนวัตกรรม ("IBSC มจร" ผนึก "Google" พัฒนาพุทธปัญญาประดิษฐ์เพื่อชาวโลก,http://www.banmuang.co.th/news/education/103933,วันที่ ๒๕สิงหาคม ๒๕๖๑) มากน้อยเพียงใดนั้น คงขึ้นอยู่กับความรู้ ทัศนคติ ทักษะและเครือข่ายเป็นสำคัญ แม้จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็ตาม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
เพลง: ไทยใหญ่ใจแกร่ง
ເນື້ອເພງ :: #ດຣສົມພົງສ໌,ai ທຳນອງ: - ຮ້ອງໂດຍ #suno คลิกฟังเพลงที่นี่ (Verse 1) ไทยใหญ่ใจใหญ่พิทักษ์ถิ่น มิหวังลิ้นกลืนกินถิ่นใครเขา รักษาสั...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น