วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

บีบีซีไทยรายงาน!ป.โทวิปัสสนาดีกรีดับทุกข์อดีตปาร์ตี้เกิร์ล



วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์บีบีซีไทยได้เผยแพร่รายงานเรื่อง "ป.โทวิปัสสนาดีกรีดับทุกข์อดีตปาร์ตี้เกิร์ล" เรื่องโดย นันท์ชนก วงษ์สมุทร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย / วิดีโอโดย ภานุมาศ สงวนวงษ์ ความว่า 

ปริญญาโทสาขาวิปัสสนาภาวนา อาจจะฟังดูเป็นเรื่องที่คนทั่วไปอาจไม่เคยนึกถึง แต่สำหรับ "โชติรส จตุรสุววรณ" กราฟิกดีไซน์เนอร์สาววัย 27 ปี มันคือหนทางที่จะนำไปสู่การดับทุกข์

เป็นเวลา 3 สัปดาห์แล้วที่นิสิตปริญญาโทสาขาวิปัสสนาภาวนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม เข้าเรียนเป็นเทอมแรก ในห้องเรียนมีพระภิกษุ 17 รูป และฆราวาสหญิงเพียง 2 คน หนึ่งในนั้นคือ "พันช์" นิสิตหญิงวัย 27 ปี ผมยาวดัดเป็นลอนสีน้ำตาลอ่อน พร้อมหมวกปานามาปีกกว้างสีแดงคู่ใจ จดบันทึกคำสอนของอาจารย์โดยใช้ปากกาดิจิตอลเขียนลงบนแท็ปเล็ตอย่างขะมักเขม้น

แม้ว่าเธอจะมีท่าทีกระโดกกระเดกและขี้เล่น แต่รู้จักการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ในแวดวงของพระสงฆ์ เช่น ตักอาหารกลางวันทีหลังพระ และถวายอาหารให้ ทำให้การปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมรุ่นเป็นไปได้โดยไม่ลำบาก และทุกคนแลกเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อสื่อสารกันผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์

พันช์ ซึ่งจบการศึกษาด้านกราฟิกดีไซน์จากนิวซีแลนด์ บอกว่าพระภิกษุเหล่านี้เป็น "เพื่อนร่วมชั้นเรียน" ที่สามารถพูดคุยได้ปกติ แต่สำหรับพระภิกษุอีก 17 รูป นอกจากจะสร้างความแปลกใจให้แก่พวกท่าน เนื่องจากเธอเป็นนิสิตที่อายุน้อยที่สุดที่เข้าเรียนหลักสูตรนี้ตั้งแต่มีการก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2548 แต่ยังสร้างความอึดอัดใจ อันเกิดจากวินัยสงฆ์ และจารีตประเพณีไทย

"ตอนแรกนี่ลำบากใจนะ…พอมีผู้หญิงเข้ามาปุ๊ปเราจะรู้สึกอึดอัด ไม่รู้จะวางตัวยังไง แล้วไม่รู้จะใช้คำพูดประเภทไหน คุยกับเขายังไง ยิ่งเป็นเด็กผู้หญิงแล้วยังเด็ก ๆ ด้วยมันยิ่งทำให้เราลำบากขึ้น เลยต้องคิดว่าการจะพูด ต้องระวังให้มากขึ้น และการที่จะเรียกเขา 'โยม' แต่ละครั้งเนี่ย มันลำบาก" พระสังคม นาสวน วัย 53 ปี กล่าว



พระเทพสุวรรณเมธี ผู้อำนวยการหลักสูตรบัณฑิตศึกษา มจร วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส กล่าวว่า ในแต่ละรุ่น นิสิตส่วนมากจะเป็นพระสงฆ์ที่บวชระดับ 20 พรรษาขึ้นไป และมีโอกาสจะก้าวขึ้นเป็นพระสังฆาธิการในอนาคต เช่น เป็นเจ้าอาวาส

แต่ในอนาคต มีแนวโน้มว่าจะมีฆราวาสมาเรียนหลักสูตรนี้มากขึ้น เพื่อนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ในสังคมโลกที่มีพัฒนาการทางวัตถุอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความเครียดทางจิตใจ


บรรลุโสดาบัน คือความฝันอันสูงสุด



สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ รองอธิการบดี มจร. วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส ก่อตั้งหลักสูตรปริญญาโทวิปัสสนาภาวนา เมื่อปี 2548 เพื่อให้พระภิกษุได้หันมาสนใจเรื่องการปฏิบัติตามเป้าหมายเดิมของคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ การได้บรรลุมรรคผลนิพพาน และสร้างบุคลากรที่มีความรู้ด้านการปฏิบัติ เพื่อให้เป็นทายาทสืบสานพระพุทธศาสนา ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหลักสูตร มีพระและฆราวาสสำเร็จการศึกษาแล้วกว่า 470 รูป/คน มีฆราวาสหญิงเรียนทั้งหมด 42 คน

วิจักขณ์ พานิช นักวิชาการด้านศาสนา กล่าวว่า การที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมกับการศึกษาของสงฆ์ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ และผู้ที่มาเข้าร่วมคอร์สปฏิบัติธรรมส่วนมากก็เป็นผู้หญิง แต่เนื่องจากไทยไม่อนุญาตให้มีการบวชภิกษุณี วิธีนี้อาจเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้หญิงไทยที่อาจจะไม่ได้มีโอกาสในการบวช



"และอาจจะเป็นลักษณะการศึกษาพุทธไทยที่ผู้หญิงบางกลุ่มรู้สึกว่าอยากจะประสบความสำเร็จให้ได้อย่างผู้ชาย" เขาให้เหตุผล

สำหรับพันช์ แรงจูงใจของเธอเริ่มมาจากความทุกข์เรื่องเพื่อนและความรัก ที่เธอประสบเมื่อไปเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ประเทศนิวซีแลนด์ การศึกษาธรรมะจากหนังสือและซีดีทำให้เธอมีความสนใจนำมาปรับใช้ และเริ่มเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมระยะสั้น เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง

"ตอนที่เรียนเมืองนอก มาจากเราดื้อมาก เป็นคนปาร์ตี้ ทุก ๆ คนรู้จักเราว่าเป็น "ปาร์ตี้เกิร์ล" ใช้ชีวิตสนุกไปวัน ๆ" เธอกล่าว "[แต่ตอนนี้]เราใช้เหตุผลแก้ปัญหามากขึ้น ไม่เหวี่ยงใคร เรายังเป็นตัวเองอยู่นะ แต่เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น เลยเริ่มคิดว่า อันนี้ทางแล้วแหละ"




ที่สถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง เธอได้รู้จักกับ เพชรินทร์ พรนภดล ซึ่งชักชวนให้เข้าเรียน หลักสูตรวิปัสสนาภาวนา ขณะนี้ทั้ง 2 คน ร่วมเรียนรุ่นเดียวกัน ซึ่งพันช์ บอกว่าเป้าหมายของเธอคือเป็น "โสดาบัน"

"การบรรลุธรรม มี 4 ขั้น ขั้นแรกเรียกว่าโสดาบัน แต่ละขั้นสำหรับเราคือการเก็บสติจนครบเลเวล (ระดับ) นั้น" พันช์กล่าว "โสดาบันมีความหมายว่าเป็นฆราวาสชั้นดี หมายความว่าเราจะใช้ชีวิตฆราวาสปกติ จะมีครอบครัว ลูก ทำงานอะไรได้ปกติ อย่างนางวิสาขามีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมืองและใช้ชีวิตอย่างเป็นความสุข พอเจออะไรที่มีความทุกข์ เราสามารถวางความทุกข์ได้"


ตามรอยเจ้าชายสิทธัตถะ



เพชรินทร์ เคยคิดภูมิใจที่เธอเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่เรียนจบปริญญาเอกสาขาไมโคร-นาโนเทคโนโลยี ซึ่งสอนให้ผลิตเซ็นเซอร์จิ๋วในตัวคนหรือในงานอากาศยาน

แต่ในปี 2558 เมื่อเธอลาออกจากการเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตที่โรงงานอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติเยอรมันที่เงินเดือนหลักแสน เพื่อมาปฏิบัติธรรม และต่อมาสมัครเรียนหลักสูตรวิปัสสนาภาวนาที่ มจร. คนรอบข้างเธอต่างมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ประหลาด

"เขามองว่าเราน่าจะเป็นประโยชน์ทางงานด้านวิศวะมากกว่า แต่เรามองไม่เห็นประโยชน์ของการที่จะพัฒนาวัตถุเทคโนโลยี ณ ตอนนี้สายตาคนอื่นเขามองเราด้วยความเสียดายว่า อุตส่าห์ไปเรียน อุตส่าห์ได้ทุน เป็นผู้หญิงคนเดียวที่ได้โอกาส" เธอกล่าวกับบีบีซีไทย

หลังจากเรียนจบปริญญาโทคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพชรินทร์ได้ทุนรัฐบาลเยอรมันไปเรียนที่ Braunschweig University of Technology และได้ทำงานที่สถาบันฟิสิกส์แห่งชาติของเยอรมัน


ผู้ปฏิบัติเดินจงกรมที่ธรรมโมลี



การเดินทางเข้าสู่เส้นทางของการปฏิบัติธรรมเริ่มขึ้นเมื่อปี 2549 หลังจากที่เธอเรียนจบ และได้เข้าคอร์สปฏิบัติธรรมระยะสั้นจากการชักชวนของเพื่อน ซึ่งเธอก็ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องประมาณ 2 ครั้งต่อปี จนกระทั่งเห็นถึงผลในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานที่ทำให้เธอมีสมาธิมากขึ้น


แต่ท่ามกลางความสำเร็จของเธอก็ยังมีความทุกข์แฝงอยู่



"เราอยากมีชื่อเสียงมากขึ้นกว่าเดิม อยากสำเร็จมากขึ้นกว่าเดิม เราเป็นผู้จัดการโรงงานไม่พอ เราอยากที่จะเป็นซีอีโอ เรามีครอบครัวที่ดีแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นตื่นตาที่ได้พบเจอคนใหม่ ๆ …อยากมีอยากได้ อยากเป็นอย่างพวกไฮโซ อยากซื้อปอร์เช่ขับ" เธอกล่าว "แค่เราไปปฏิบัติธรรมปีละครั้งสองครั้ง เราจะได้แค่ความสุขใจธรรมดา ได้แค่ความสงบ แต่เราไม่ได้ปัญญา ไอ้ตัวปัญญานี่แหละที่สำคัญ ที่มันจะมาสอนให้เรารู้ว่าเราควรที่จะหยุดกับความอยากแล้วควรจะอยู่กับสิ่งที่เรามีอยู่ ก็เลยคิดว่า งั้นลาออกดีกว่า"

เพชรินทร์ใช้เวลาที่มีไปปฏิบัติธรรมระยะยาว หวังว่าจะเข้าใจตัวเอง และหลุดพ้นจากความทุกข์ เธอสมัครเข้าเรียนปริญญาโทหลักสูตรวิปัสสนาเพราะต้องการศึกษาเปรียบเทียบว่าวิธีการปฏิบัติที่ทำมาและผลการปฏิบัติมีความสอดคล้องกับคำสอนในพระไตรปิฏกหรือไม่


บรรลุธรรมใน 7 เดือน

เสียงระฆังดังก้องเป็นเวลาร่วมนาที ในเวลาตี 3:45 ของเดือน พ.ค. เป็นสัญญาณว่านิสิตจะต้องตื่นเพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติธรรม ที่กินเวลาจนถึง 3 ทุ่มของทุกวัน ในอิริยาบถนั่งและเดิน

ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมธรรมโมลี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทุกคนต้องปิดวาจา และห้ามสบตากัน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน นี่คือการทดสอบและเตรียมความพร้อมก่อนที่จะได้รับคัดเลือกเป็นนิสิตหลักสูตรวิปัสสนาภาวนา สำหรับพันช์ นั่นคือช่วงเวลาที่นานที่สุดที่เธอเคยปฏิบัติมา

ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องศึกษาหน่วยกิตรายวิชา ก่อนจะเข้าปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาติดต่อกันนาน 7 เดือน จึงจะมีสิทธิ์เสนอสอบวิทยานิพนธ์ตามหลักสูตร ถือเป็น "คอร์ส" วิปัสสนาที่ค่อนข้างยาวนาน

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์อธิบายว่า การกำหนดหลักสูตรยึดตามแนว "สติปัฏฐาน 4" ซึ่งได้กล่าวถึงอานิสงส์ของผู้ปฏิบัติติดต่อกันตั้งแต่ 7 วันขึ้นไป ถึง 7 ปี

"ถ้าปฏิบัติกันติดต่อกันไม่ขาดสาย ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล อย่างน้อยก็ขั้นพระโสดาบันขึ้นไป หรืออาจจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้บรรลุนิพพานในชาตินี้เลย เพราะฉะนั้นเราก็คิดว่าถ้า 7 ปีก็คงจะนานไป ก็เอากลาง ๆ 7 เดือน" สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ กล่าว

ผู้เรียนจะต้องปฏิบัติวิปัสสนาทั้งในไทยและเมียนมา โดยมีพระวิปัสสนาจารย์จากสำนักปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา มหาสีสาสนเยกต้า กรุงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นต้นแบบของการภาวนาแบบ "พองหนอ-ยุบหนอ" เป็นหนึ่งผู้ฝึกสอน

แม้ว่าจะเป็นหลักสูตรภาษาไทย แต่ก็มีนิสิตต่างประเทศที่เป็นพระและภิกษุณีที่สำเร็จการศึกษาถึง 9 รูป ซึ่งมาจากภูมิภาคเอเชียทั้งหมด โดยนิสิตรุ่น 13 จากประเทศลาวและเวียดนามบอกกับบีบีซีไทยว่า ตั้งใจจะกลับไปเป็นวิปัสสนาจารย์ที่ประเทศของตัวเองหลังจากเรียนจบ

ภิกษุณีมัชฌิมญาณี จากประเทศจีน ที่จบปริญญาตรีหลักสูตรนานาชาติสาขาพุทศาสตร์ จาก มจร. และใช้เวลาฝึกฝนภาษาไทยก่อนเข้าเรียนต่อหลักสูตรปริญญาโท หวังว่าจะนำความรู้ที่ได้ไปสอนวิปัสสนาภาวนาที่วัดในมณฑลหูหนาน ซึ่งนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ยอมรับว่า การตั้งหลักสูตรให้เป็นปริญญานั้น เป็นการประยุกต์ให้เข้ากับการศึกษาสมัยใหม่ ถือเป็นแรงจูงใจและเป็นผลตอบแทนแก่ผู้มาศึกษาได้สำเร็จเป็นรูปธรรม และเรียกร้อง "ศรัทธา" ของผู้ศึกษาให้มาสนใจ

"ถ้าไม่มีปริญญาเป็นเครื่องชักจูง ก็ไม่ค่อยสนใจกัน" กรรมการเถรสมาคม และประธานกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าว

แต่ในขณะเดียวกัน การศึกษาส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการเรียนจากพระไตรปิฎก ทำให้นิสิตทุกคนต้องเรียนรู้ภาษาบาลี เนื่องจากเป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าใช้สื่อสารแสดงธรรม ซึ่งสมเด็จพระพุทธชินวงศ์คาดหวังว่า นิสิตที่จบไปแล้วจะสามารถสอนได้โดยอ้างอิงจากพระไตรปิฎก ทำให้นักวิชาการด้านศาสนาบางคนวิจารณ์ถึงความไม่เป็นสากลของหลักสูตรดังกล่าว โดยวิจักขณ์มองว่า ไม่สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการเรียนปริญญาแบบศาสตร์ตะวันตก ที่ต้องมี methodology (ระเบียบวิธี) ในการทำความเข้าใจ เช่น ศึกษาในแง่จิตวิทยา ปรัชญา หรือแม้กระทั่งประสาทวิทยาศาสตร์ ที่ชาติตะวันตกสนใจเรื่องการนั่งสมาธิในแง่ซึ่งช่วยเรื่องสุขภาพและสมอง

"ผมคิดว่าหลักสูตรนี้พยายามชูเรื่องการปฏิบัติว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นสิ่งที่ได้ผล และไม่ได้เป็นหลักสูตรเพื่อจะเรียนเรื่องทฤษฎีอะไรให้มันกว้างหรือมีแนวทาง หลักคิด ที่แหลมคมในเชิงสติปัญญา" เขากล่าว "ซึ่งมันก็เป็นไปได้ มันก็มีคนเรียนอย่างนี้จริง ๆ แล้วศาสนาอื่นที่เรียนแบบนี้ก็มีจริง ๆ...แต่ถ้ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ตั้งคำถามกับพระไตรปิฏกปุ๊ป ก็จบเลย"

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ จอร์เจส ดรายฟัส อาจารย์ประจำสาขาวิชาศาสนาที่ Williams College ที่สหรัฐอเมริกาฯ ซึ่งกล่าวว่า ในแง่วิชาการ ควรจะมีเครื่องมืออย่างอื่นในการทำความเข้าใจกับวิปัสสนานอกจากการจำกัดอยู่ที่การตีความแบบนิกายเถรวาทที่อาจจะแคบเกินไป เนื่องจากไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงการภาวนารูปแบบอื่น ๆ ที่มีในประเทศไทยหรือต่างประเทศ เช่น วิปัสสนารูปแบบเซ็น ที่ปฏิบัติกันในธิเบต

"สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกรำคาญใจมาก คือ คนไทยที่สนใจด้านพุทธศาสนาและพระไทยไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับพุทธแบบอื่นนอกจากพุทธแบบเถรวาท" เขากล่าว "การเรียนพระไตรปิฏกเป็นสิ่งที่ดี แต่มันมีอะไรที่ศึกษาได้อีกเยอะในเชิงวิชาการสำหรับปริญญาโทสาขาวิปัสสนาภาวนา เช่น การศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องสติในฝั่งประเทศตะวันตก"

แต่สำหรับเพชรินทร์ ผู้ที่อยู่กับการศึกษาสายวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลาร่วม 10 ปี เธอมองว่าพื้นฐานวิทยาศาสตร์ที่เรียนมาทำให้เธอเข้าใจพุทธศาสนาอย่างมาก

"ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เป็นตรรกะมาก ทุกคำสอนเราพิสูจน์ได้จริง ๆ เพราะพุทธไม่ใช่ศาสนาที่ใช้ความเชื่อนำ แต่เป็นศาสนาแห่งปัญญา" เธอกล่าว "ศรัทธาของคนพุทธทั่วไปที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ เค้าจะเชื่อไปก่อน พอได้ปฏิบัติแล้ว ความงมงายจะคลายลง ปัญญาแท้จริงจะมาแทนที่ ถึงตอนนั้น เราจะรู้ด้วยตัวเองว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนคือความจริง"


....................

(หมายเหตุ :ที่มา https://www.bbc.com/thai/thailand-45292992)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: ไทยใหญ่ใจแกร่ง

ເນື້ອເພງ :: #ດຣສົມພົງສ໌,ai ທຳນອງ: - ຮ້ອງໂດຍ #suno   คลิกฟังเพลงที่นี่ (Verse 1) ไทยใหญ่ใจใหญ่พิทักษ์ถิ่น มิหวังลิ้นกลืนกินถิ่นใครเขา รักษาสั...