วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

"การเผยแผ่พระพุทธศาสนากับการพัฒนาที่ยั่งยืน"อย่างไร



วันที่ 15  ส.ค. 2561  เฟซบุ๊ก Phramaha Boonchuay Doojai ของพระครูพิพิธสุตาทร,ดร. อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อความว่า บทเรียนว่าด้วย “การเผยแผ่พระพุทธศาสนา” (1) “การเผยแผ่พระพุทธศาสนา กับ การพัฒนาที่ยั่งยืน”

มีโอกาสได้เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษให้ เรื่อง “ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในโครงารประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการพระบัณฑิตนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ณ วัดพระธาตุดอยสะเก็ด อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ทุกครั้งที่เราพูดถึง “การเผยแผ่พระพุทธศาสนา” สิ่งแรกที่ลอยเข้ามาสู่ห้วงคำนึง คือ “ธรรมาสน์” หรือไม่ก็ “Podium” ตามมาด้วย “Microphone” จนกลายเป็นข้อจำกัดที่จะให้รูปแบบการเผยแผ่พระพุทธศาสนารูปแบบอื่นไม่มีช่องที่จะเป็นที่ยอมรับ ในการนำหลักพุทธธรรมเข้าสู่วิถีปฏิบัติแห่งชีวิตของชาวพุทธได้




การที่ได้รับโอกาสให้มาเป็นวิทยากรบรรยายในเรื่อง “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” จึงเป็นโอกาสที่จะได้นำเสนอภาพ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก” ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาที่ยั่งยืน และบทเรียนของพระสงฆ์ที่ใช้ศาสตร์พระราชาสร้างการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน โดยเนื้อหาสาระที่นำเสนอเป็นประเด็นที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นบทเรียนในการทำงานเพื่อสังคมของพระสงฆ์ในอนาคต ดังนี้

@ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสหประชาชาติ ที่กำหนดไว้ 17 ประการ ได้แก่

1. ความยากจน : ยุติความยากจนทุกรูปแบบทั่วโลก

2. ความหิวโหย : ยุติภาวะขาดแคลนอาหาร มุ่งสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food security) พัฒนาคุณภาพสารอาหารและ ส่งเสริมการทำการเกษตรที่ยั่งยืน

3. สุขภาวะ: สร้างสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีในทุกช่วงอายุ

4. การศึกษา :ส่งเสริมคุณภาพการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาตลอดชีวิตแก่ทุกคน

5. ความเท่าเทียมทางเพศ : สร้างความเท่าเทียมทางเพศ และให้โอกาสที่เท่าเทียมกับผู้หญิง

6. น้ำและการสุขาภิบาล : พัฒนาคุณภาพน้ำ และโอกาสในการใช้น้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคสำหรับทุกคน

7. พลังงาน : เพิ่มโอกาสในการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ทันสมัย น่าไว้วางใจ ยั่งยืนและเพียงพอต่อการใช้งานของทุกคน

8. เศรษฐกิจและการจ้างงาน : ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุมสร้างอาชีพที่ครอบคลุม มีประสิทธิภาพและเหมาะสมแก่ทุกคน

9. โครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม : พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่น ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และ กระตุ้นการสร้างนวัตกรรม

10. ความเหลื่อมล้ำ : ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและภายนอกประเทศ

11. เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ : สร้างเมืองที่ผู้คนสามารถตั้งถิ่นฐานได้อย่างครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่น และยั่งยืน

12. แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน : ส่งเสริมแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

13. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ : เตรียมพร้อมในการตั้งรับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและผลกระทบที่จะตามมาอย่างเร่งด่วน

14. ทรัพยากรทางทะเล : อนุรักษ์และใช้ทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

15. ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ : ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศภาคพื้นดินอย่างยั่งยืน มีการบริหารจัดการป่าไม้ ยับยั้งกระบวนการตัดไม้ทำลายป่า ยับยั้งและฟื้นฟูการเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

16. สังคมและความยุติธรรม : สร้างสังคมสงบสุขอย่างทั่วถึงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในทุกชนชั้น พลเมืองทุกคนสามารถได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม และสร้างสถาบันที่ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพโปร่งใส และครอบคลุมทุกระดับชั้น

17. ความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล : สร้างความเข้มแข็งให้วิธีการดำเนินงานร่วมกัน และพัฒนาความสัมพันธ์อันดีในกลุ่มพันธมิตรทั่วโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ

1. หลักพุทธธรรมจะสามารถช่วยเป็นพลังส่งเสริมให้ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ทั้ง 17 ประการขององค์การสหประชาชาติ บรรลุได้หรือไม่ ?

2. วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่ใช้กันเป็นธรรมเนียมประเพณี ณ ปัจจุบันนี้ จะสามารถเป็นวิธีการที่จะเป็นโอกาสในการนำหลักพุทธธรรมไปเป็นพลังส่งเสริมให้ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ทั้ง 17 ประการขององค์การสหประชาชาติ บรรลุได้หรือไม่ ?

คำตอบน่าจะอยู่ที่ “พุทธบริษัท” ทุกหมู่เหล่า ที่จะช่วยกันค้นหา "พุทธธรรม" ที่เหมาะสม รวมถึง "วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา" ที่เหมาะสม ต่อไป โดยไม่ติดกับดัก "ธรรมเนียมประเพณี" ที่สามารถปรับเปลี่ยน "รูปแบบ - from" ให้ทันสมัย แต่ยังคงรักษา "สาระ - content" เอาไว้ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติมที่ : https://www.un.or.th/globalgoals/th/the-goals/

................

(หมายเหตุ ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Phramaha Boonchuay Doojai)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ "ปารายนวรรค...