วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561
สธ.แนะคนไทย"ฝึกสมาธิ"เป็นประจำมีผลช่วยทำให้สุขภาพจิตดี
เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2557 นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 6 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันสมาธิโลก เป็นวันรวมใจของชาวพุทธและชาวโลก ขณะนี้หลายประเทศทางตะวันตกได้นำสมาธิ (Meditation) ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวพุทธไปฝึกปฏิบัติ กระทรวงสาธารณสุขได้นำการฝึกสมาธิหรือสมาธิบำบัดมาใช้รักษาควบคู่ไปกับการรักษาโรคทางกาย โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินงานสมาธิบำบัดในสถานบริการสุขภาพ เพราะเมื่อจิตใจสงบนิ่ง และร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟินออกมาจะมีผลช่วยลดอาการเจ็บปวด เพิ่มภูมิต้านทานโรค ลดความตึงเครียด ลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้เส้นเลือดมีความยืดหยุ่น ช่วยให้การไหลเวียนเลือดเป็นปกติ ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดในหัวใจตีบตัน อีกทั้งยังกระตุ้นให้ร่างกายทำลายเซลล์ที่มีปัญหาและเซลล์มะเร็งอีกด้วย หลังดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแล้วร้อยละ 73 คาดว่าจะสามารถดำเนินงานสมาธิบำบัดครอบคลุมโรงพยาบาลทุกแห่งภายในปี 2558 โดยเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมแล้ว จะช่วยฝึกสอนการทำสมาธิเบื้องต้นให้ผู้ป่วยและญาติ ระหว่างที่พักรักษาตัวในหอผู้ป่วยตามความสมัครใจ และนำกลับไปใช้ต่อที่บ้านได้ตลอดเวลา
สมองของคนเราเป็นตัวควบคุมความคิด อารมณ์ความรู้สึก ความจำ ซึ่งมีการทำงานอันสลับซับซ้อน วิชาการที่เรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างและการทำงานของสมอง เราเรียกว่า วิชา วิทยาศาสตร์ทางระบบประสาท (Neuroscience) ซึ่งเป็นวิชาการที่มีความสำคัญมาก กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในทางการแพทย์ เนื่องจากมันทำให้เราเข้าใจกลไกการทำงานต่างๆของสมองในด้านต่างๆ เช่น ความคิด ความจำ การรับอารมณ์ความรู้สึก
สำหรับเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก เช่น ความสุข ความทุกข์ ความเจ็บปวด เสียใจ เศร้าใจ ท้อแท้ เป็นต้น วิชาการที่ศึกษาเรื่องระบบประสาทต่ออารมณ์ความรู้สึกนี้ เรียกว่า Affective Neuroscience มีนักวิจัยทางด้านระบบประสาทเกี่ยวกับอารมณ์คนหนึ่งที่มีผลงานน่าสนใจ คือ ศาสตราจารย์ริชาร์ด เดวิดสัน (Richard Davidson Ph.D)
ศาสตราจารย์ผู้นี้สนใจและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอารมณ์ต่อระบบประสาท และวิธีการฝึกสมาธิและการเจริญสติต่อการเปลี่ยนแปลงของสมอง มีงานวิจัยที่น่าสนใจ คือ แต่เดิมนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เซลล์สมองที่มีมาแต่เกิดจะค่อยๆโตขึ้น จนเต็มที่ในวัยหนุ่มสาวและกลางคน เมื่อเข้าสู่วัยชราก็จะเริ่มเสื่อมลง และตายลงในที่สุด เซลล์สมองมีจำนวนเท่าไหร่ก็มีเท่านั้น ไม่มีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ
ต่อมา ดร.เดวิดสัน ได้ทำการศึกษาในพระทิเบตรูปหนึ่งชื่อ พระ ดร.แมทธิว ริคาร์ด ซึ่งฝึกสมาธิมาเป็นเวลา 20-30 ปี เมื่อตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ fMRI ก็พบว่า
คนที่ฝึกสมาธิเป็นเวลานานๆ สมองมีส่วนเปลือกนอกสีเทาๆ ที่เรียกว่า Gray Matter ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ของเซลล์ประสาท จะหนาตัวขึ้น นั่นหมายถึง มีเซลล์สมองเพิ่มขึ้น และบริเวณส่วนหน้าแถวหน้าผากด้านซ้าย จะมีการทำงานของคลื่นสมองดีขึ้น มีลักษณะของคลื่นสมองช้าลงและสม่ำเสมอมากขึ้น ที่เรียกว่า “คลื่นแกรมม่า” ซึ่งพบในคนที่จิตเป็นสมาธิลึกๆ
ต่อมา เขาได้ทดลองในอาสาสมัครที่ฝึกสมาธิทุกวัน วันละ 30 นาที เช้าและเย็น เป็นเวลา 3 เดือน แล้วตรวจดูด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ fMRI ก็พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน แสดงว่า สมองคนเรามีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างและการทำงาน ซึ่งเขาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Neuroplasticity หรือ ความยืดหยุ่นของสมอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ค้นพบใหม่ และได้ทำลายความเชื่อเก่าที่ว่า สมองเปลี่ยนแปลงไม่ได้
เขาได้ทดลองทั้งแบบสมถและวิปัสสนากรรมฐานก็พบว่า ได้ผลเช่นเดียวกัน สมองของคนเราสามารถพัฒนาได้ตลอดเวลาโดยการจริญสติ ทำให้สมองสร้างเซลล์สมองใหม่ๆมากขึ้น การทำงานดีขึ้น คลื่นสมองสม่ำเสมอ ช้าลง ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่มีความสุข สุขภาพจิตดี
นอกจากนั้น เขายังได้ศึกษากรณีของอารมณ์เครียด อารมณ์โกรธ และอารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสมองในทางตรงข้าม คือมันทำให้เซลล์สมองเสื่อม ความจำเสื่อมลง และเซลล์อายุสั้นลง
ดร.ริชาร์ด เดวิดสัน นักวิจัยทางระบบประสาทที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลก
ศจ.ดร.เดวิดสันจบปริญญาตรีทางจิตวิทยาในปีค.ศ. 1972 และต่อปริญญาโทและเอก ด้านจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 1976 หลังจบการศึกษาแล้ว ได้ทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ค 8 ปี เขาได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของสมองกับอารมณ์ไว้มากมาย ต่อมา ดร.เดวิดสันได้ย้ายมาทำงานที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ตั้งแต่ปี 1984 ถึงปัจจุบัน และได้เริ่มต้นบุกเบิกงานวิจัยด้านอารมณ์ต่อสมอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณราว 10 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบัน เขาเป็นผู้อำนวยการของศูนย์วิจัย 3 แห่งของมหาวิทยาลัย คือ
1. Waisman laboratory for Brain Imaging and Behavior
2. Center for Investigating Healthy Minds
3. Laboratory for Affective Neuroscience (psyphz.phych.wisc.edu)
และมีผลงานตีพิมพ์ 150 เรื่อง เขียนหนังสือ 13 เล่ม ซึ่งเป็นการศึกษาการทำงานของสมองกับอารมณ์ในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น เด็กสมาธิสั้น คนที่มีความเครียด โรคซึมเศร้า ศึกษาการทำงานของสมองในคนที่มีบุคลิกแบบชอบใช้ความรุนแรง คนที่เป็นฆาตกร คนที่มีบุคลิกก้าวร้าว ทำให้ได้ค้นพบคลื่นสมองและวงจรที่มีลักษณะเฉพาะในคนเหล่านี้
สุดท้าย ดร.เดวิดสันได้ทำการศึกษาคลื่นสมองในคนฝึกสมาธิและวิปัสสนา ทำให้ได้ทราบว่า สมองคนเราสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ตลอดเวลา โดยการทำสมาธิและวิปัสสนา ซึ่งจะแก้ไขอารมณ์ด้านลบได้ โดยการพัฒนาสมองส่วนที่เกี่ยวกับการรับอารมณ์ และวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงสมองคือการเจริญสติให้อยู่กับปัจจุบัน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการป้องกันโรคจิต โรคประสาท ทำให้มีสุขภาพจิตดี
ดร.เดวิดสันได้รับรางวัลทางวิชาการจำนวนมาก ในปี ค.ศ.2000ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของสมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา และเป็น 1 ใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลต่อคนในโลก ในปี 2006 ของนิตยสารไทม์ ศจ.เดวิดสันทำสมาธิภาวนาอยู่เป็นประจำทุกวัน เขาสนใจพุทธศาสนาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 2 ได้มีโอกาสเดินทางมาเรียนรู้เกี่ยวกับการฝึกสมาธิในอินเดีย และได้เป็นกรรมการสถาบัน Mind and Life Institute ในปี 1991เป็นต้นมา
สถาบันแห่งนี้เป็นสถาบันที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการศาสนา พระภิกษุ มาพบกันเพื่อเสวนาทางวิชาการว่าด้วยพุทธศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในแง่มุมต่างๆ ซึ่งมีการจัดประชุมวิชาการทุกปี โดยมีองค์ทะไลลามะ เป็นประธาน ศจ.เดวิดสันได้ทำงานร่วมกับองค์ทะไลลามะอย่างยาวนาน ซึ่งท่านได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยของเขาตลอดมา สถาบันแห่งนี้ได้สร้างองค์ความรู้และเชื่อมวิทยาศาสตร์เข้ากับศาสนา เป็นผู้จุดประกายให้นักวิทยาศาสตร์หันมาสนใจเรื่องของจิต เรื่องของศาสนาในแง่มุมต่างๆ และมีผลงานวิชาการออกมามากมายจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน ศจ.เดวิดสันเป็นนักวิจัยทางระบบประสาทที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลก มีงานวิจัยอันโดดเด่น ซึ่งทำให้วิชาวิทยาศาสตร์ทางสมองพัฒนาขึ้นมากในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (ท่านผู้อ่านเข้าไปดูข้อมูลได้ใน Richard J Davidson หรือฟังคำบรรยายใน youtube โดยพิมพ์ชื่อของเขาลงไป มีคำบรรยายให้ฟังหลายเรื่อง ที่ขอแนะนำ ได้แก่ Richard Davidson : science and Dharma 5/9/2011, Transform your mind,Change your Brain และNeuroplasticity : Implication of Scie ntific Research on Meditation for spiritual care. หรือพิมพ์คำว่า Neuroplasticity ก็จะมีคำบรรยายเรื่องนี้หลายตอนที่น่าสนใจ
พระ ดร.แมทธิว ริคาร์ด นักวิทยาศาสตร์แห่งความสุข จากดอกเตอร์ด้านวิทยาศาสตร์ สู่การเป็นพระสงฆ์ในพุทธศาสนา
พระทิเบตรูปหนึ่งที่ร่วมงานวิจัยทดลองผลของการฝึกสมาธิต่อสมอง กับ ศจ.เดวิดสัน คือ พระ ดร.แมทธิว ริคาร์ด (Matthieu Ricard) ชาวตะวันตกที่บวชเป็นพระทิเบต ในสำนักขององค์ทะไล ลามะ จบปริญญาเอกทางด้านโมเลกุลพันธุศาสตร์ สถาบันปาสเตอร์ กรุงปารีส ในปี 1972
หลังจบการศึกษา ท่านได้เดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนที่เมืองดาร์จิริ่ง ทางตอนเหนือของอินดีย แถบเทือกเขาหิมาลัย และที่นี่เองที่ทำให้ท่านเกิดแรงบันดาลใจในการค้นหาหนทางแห่งความพ้นทุกข์ จึงได้บวชและศึกษาพุทธศาสนาแบบทิเบต ฝึกการทำสมาธิภาวนาอยู่ที่นี่เป็นเวลา 26 ปี
หลังจากนั้น ท่านได้เดินทางกลับไปเผยแผ่ธรรมที่ยุโรปและอเมริกา โดยได้รับเชิญไปบรรยายในมหาวิทยาลัยต่างๆ และเขียนหนังสือธรรมะ
ท่านได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับนักวิทยาศาสตร์ ในกิจกรรมของสถาบัน Mind and Life Institute และได้รับการชักชวนให้มาร่วมงานวิจัยกับศจ.เดวิดสัน ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ในปี 2009
เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ท่านได้รับเชิญไปร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการนำเอาวิถีทางแห่งพุทธธรรมมาใช้ในการบำบัดความทุกข์ และเมื่อเศรษฐกิจทุนนิยมกำลังล่มสลาย ท่านได้กล่าวกับนักธุรกิจใหญ่ของโลกจำนวนมากที่มาประชุม The World Economic Forum ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ว่า
“โลกทุนนิยมเกิดจากความโลภของผู้คนอย่างไม่มีข้อจำกัด ความจริงสิ่งต่างๆที่อยู่ในโลกมีพอสำหรับความต้องการของทุกๆคน แต่ไม่พอสำหรับความทะยานอยากของคนจำนวนน้อย ถึงเวลาที่เราจะต้องหยุดความโลภในการแสวงหาวัตถุในนามของการทำธุรกิจเพื่อสังคมได้แล้ว
วิถีของทุนนิยมจะทำให้เกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากร มีความขัดแย้งไปทั่ว คนที่แข็งแรงกว่าจะเอารัดเอาเปรียบคนที่อ่อนแอกว่า จะเกิดทำร้ายกัน ขาดความรักความเมตตาต่อกัน สภาพแวดล้อมของโลกจะถูกทำลาย ทำให้เราอยู่ไม่ได้”
ท่านได้เผยแพร่ความคิดเรื่อง การพัฒนาชีวิตเพื่อให้เกิดความสุข โดยการละความโลภ โกรธ หลง ตามแนวทางพุทธศาสนา และเขียนหนังสือเผยแพร่ทั่วไปในโลกตะวันตก หนังสือของท่านได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม
ท่านยังเป็นประธานองค์กร Karuna Shechen ซึ่งเป็นองค์กรการกุศล ไม่แสวงหากำไร ทำงานช่วยสังคมในแง่การศึกษา การรักษาโรค และงานสังคมสงเคราะห์ งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ท่านอุทิศรายได้จากการจำหน่ายหนังสือและเงินบริจาคทำบุญ ทำโครงการเพื่อมนุษยชน 41 โครงการ เช่น สร้างสะพาน 8 แห่ง, สร้างโรงเรียน 13 แห่งในทิเบต และ 4 แห่งในเนปาล สร้างบ้านพักคนชรา 3 แห่ง ช่วยให้เด็กนักเรียนได้เรียนหนังสือ 15,000 คน ช่วยรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ 1 แสนคนต่อปี ท่านสอนให้คนมีน้ำใจอันดีงาม มีความเมตตากรุณา ช่วยเหลือผู้อื่น ให้รักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งหาได้ยากในโลกวัตถุนิยม
ปัจจุบัน ท่านเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่มีชื่อเสียงในโลกตะวันตก ได้รับการยกย่องให้เป็นนักวิทยาศาสตร์แห่งความสุข และรัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งชาติฝรั่งเศส (French National Order of Merit) เป็นรางวัลแห่งคุณความดี เพื่อยกย่องท่าน
ที่มา :: http://www.manager.co.th/
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บุคคลไม่ควรคบยามสูงวัย
การแยกแยะบุคคลที่ควรคบในวัยสูงอายุเป็นสิ่งสำคัญในบริบทพุทธสันติวิธี เพื่อเสริมสร้างความสงบสุขภายในและการใช้ชีวิตที่สมดุล การปฏิบัติตามหลักธร...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น