วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เบบี้บูมเมอร์'ตู่ดิจิทัล4.0'?



ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เปิดเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวและสื่อโซเชียลมีเดียช่องทางอื่นๆ โดยบอกว่า การใช้โซเชียลมีเดียมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตนก็ต้องปรับตัเป็นตู่ดิจิทัลบ้าง เพราะตนเองเป็นเบบี้บูมเมอร์ ดังนั้น จึงต้องใช้ให้เป็นแสดงให้เห็นว่า ตนพยายามปรับตัวไม่ใช่มาทำเพราะรัฐบาลอยู่มา  4  ปี  ซึ่งก็เป็นช่องทางการสื่อสารหนึ่งที่จะสื่อสารกับประชาชน


"เบบี้บูมเมอร์"ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ระบุนั้นเป็นรุ่น คนรุ่น  1  ใน 8 กลุ่มที่มีการจัดประชากรของโลก หรือ 8 Generationคือ   

รุ่นแรก หรือรุ่นที่ 1 ก็คือ รุ่นที่เรียกว่า Lost Generation

ประชากรยุคแรกที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2426-2443 หรือที่เกิดในช่วงทศวรรษที่ 80 นั่นเอง ปัจจุบันคนรุ่นนี้อาจจะเสียชีวิตไปหมดแล้ว แต่ก็ยังมีประปรายที่พบว่าพวกเขาบางคนยังมีอายุ 115-120 ปีอยู่ โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่สังคมก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น

รุ่นที่ 2 เรียกว่า Greatest Generation

คนรุ่นนี้ รู้จักกันในนาม G.I.Generation เกิดในช่วงปี พ.ศ.2444-2476 หรือยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาจึงกลายมาเป็นกำลังหลักของการต่อสู้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อสงครามสงบ ก็เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก คนรุ่นนี้จึงกลายเป็นกำลังสำคัญอีกครั้งในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจโลกให้กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง

คนในยุคนั้นจึงมีความเป็นทางการสูง ผู้ชายจะใส่สูทผูกเนกไทเมื่อออกจากบ้าน คนในสังคมจะมีแบบแผนปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน คือ มีความคิด ความเห็น ความเชื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเชื่อมั่นในรัฐบาล อำนาจรัฐ และมีจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองดีร่วมกัน

รุ่นที่ 3 คือ Silent Generation

คนในรุ่นนี้หมายถึงผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ.2468-2488 ประชากรรุ่นนี้ จะมีจำนวนไม่มากเท่ารุ่นอื่นๆ เพราะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี และหลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้นผู้คนจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ต้องทำงานหนักในโรงงานชนิดหามรุ่งหามค่ำ คนรุ่นนี้จึงมีความเคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผนมาก มีความจงรักภักดีต่อนายจ้างและประเทศชาติสูง และเคารพกฎหมาย

ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้หญิงเริ่มออกมาทำงานนอกบ้านเพื่อช่วยสามีกันมากขึ้น กระทั่งเวลาผ่านไป เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น คนในรุ่นนี้จึงได้รับโอกาสมากขึ้น และมีช่องทางของการสร้างกิจการของตัวเองกันมาก รวมทั้งมีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆอันเป็นรากฐานของเศรษฐกิจ และสังคมมาจนถึงปัจจุบันนี้

รุ่นที่ 4 คือ รุ่นที่มีชื่อเสียงโด่งดังกันมาก หรือที่เรียกว่ารุ่น Baby Boomer นั่นเอง

เบบี้ บูมเมอร์ หรือ Gen–B หมายถึงกลุ่มคนที่เกิดระหว่างช่วงปี พ.ศ.2489-2507 ซึ่งเป็นยุคของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว สาเหตุที่เรียกคนในยุคนี้ว่า เบบี้ บูมเมอร์ ก็เพราะว่าหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง บ้านเมืองที่ผ่านการสู้รบได้รับความเสียหายอย่างหนัก ประชาชนที่เหลืออยู่ในแต่ละประเทศจึงต้องเร่งฟื้นฟูประเทศให้กลับมาแข็งแกร่งมั่นคงอีกครั้ง

แต่ทว่าสงครามที่ผ่านพ้นไป ก็ได้คร่ากำลังพลและแรงงานไปเป็นจำนวนมาก ประเทศเหล่านี้จึงขาดแรงงานในการขับเคลื่อนประเทศ

ผู้คนในยุคนั้น จึงมีค่านิยมที่จะต้องมีลูกหลานหลายๆคน เพื่อสร้างแรงงานขึ้นมาพัฒนา ประเทศชาติ จึงเป็นที่มาของคำว่าเบบี้ บูมเมอร์ นั่นเอง

ปัจจุบันคนในยุคเบบี้ บูมเมอร์ คือคนที่มีอายุตั้งแต่ 49 ปีขึ้นไป และต่างเริ่มเข้าสู่ช่วงอายุสูงวัยหรือวัยชรานั่นเอง คนกลุ่มนี้จัดเป็นคนที่มีชีวิตเพื่อการทำงาน เคารพกฎเกณฑ์กติกา มีความอดทนสูง ทุ่มเทให้กับการทำงานและองค์กรมาก เป็นพวกสู้งาน พยายามคิดและทำอะไรด้วยตัวเอง เป็นเจ้าคน นายคน และถูกครอบครัวสั่งสอนให้เป็นคน ประหยัด อดออม จึงมีการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ และระมัดระวัง

คนในยุคอื่นๆอาจจะมองคนในยุคเบบี้ บูมเมอร์ ว่าเป็นพวกอนุรักษนิยม เป็นคนที่เคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณี และคนกลุ่มนี้ ก็น่าจะถือได้ว่ามีจำนวนมากที่สุดในสังคมปัจจุบันนี้เลยทีเดียว

เหตุการณ์สำคัญที่คนในรุ่นนี้ทำแล้วประสบความสำเร็จจนมีชื่อเสียงขจรขจายก็คือ ข่าวความสำเร็จของการส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ ข่าวการทำสงครามเวียดนาม สงครามเย็นกับโซเวียต และที่ได้ชื่อว่าย่อโลกทั้งใบให้มาอยู่ในมือมือเดียวของคนก็คือ การสร้างนวัตกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมที่เรียกว่า ไอแพด (iPad) ของสตีฟ จอบส์ นั่นเอง

หลังยุค Baby Boomer ซึ่งส่งผลให้เด็กเกิดมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาก็คือ ทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกจึงไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้ได้ทุกคน เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาชนจึงกลับมานั่งคิดว่า หากไม่ควบคุมอัตราการเกิดไว้ สุดท้ายแล้วคนทั้งโลกก็จะขาดแคลนอาหาร

ดังนั้น จึงเกิดเป็นยุค Generation X หรือที่เรียกสั้นๆว่า Gen-X เป็นกระแสตีกลับจากยุค เบบี้ บูมเมอร์ ให้มีการควบคุมอัตราการเกิดของประชากร อย่างเช่นในประเทศจีน ก็มีการรณรงค์ให้ประชากรของตนมีลูกได้เพียง 1 คนเท่านั้น

5.Generation X

คนยุคนี้จะเกิดในระหว่างปี พ.ศ.2508-2522 หรืออาจจะเรียกได้อีกชื่อว่า “ยับปี้” (Yuppie) ที่ย่อมาจาก Young Urban Professionals เพราะเกิดมาเพียบพร้อมในยุคที่โลกมีความมั่งคั่งแล้ว จึงใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย เติบโตมากับการพัฒนาของวีดิโอเกม, คอมพิวเตอร์, สไตล์เพลงแบบฮิปฮอป และอาจทันดูทีวีจอขาวดำด้วย

ปัจจุบันคนในยุค Gen–X เป็นคนวัยทำงาน มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปแล้ว พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ที่เด่นชัดมากก็คือ ชอบอะไรง่ายๆ ไม่ต้องเป็นทางการ ให้ความสำคัญกับเรื่องความสมดุลระหว่างงานกับครอบครัว (Work–Life balance) มีแนวคิดและการทำงานในลักษณะรู้ทุกอย่าง ทำทุกอย่างเพียงลำพัง เป็นตัวของตัวเองสูง มีความคิดเปิดกว้าง มีความคิดสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม หลายคนใน Gen-X มีแนวโน้มที่จะต่อต้านสังคม ไม่ได้เชื่อเรื่องศาสนา และไม่ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีมากนัก เป็นคนที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวกับวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป อย่างเช่น มองว่าการอยู่ก่อนแต่ง หรือการหย่าร้าง เป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับเรื่องของเพศที่ 3 ซึ่งต่างจากกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ ที่มองเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องผิดจารีตประเพณีเป็นอย่างยิ่ง

6.Generetion Y

ถัดจากยุค Gen-X ก็มาถึงยุคของ Gen-Y หรือ ยุค Millennials ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงระหว่าง ปี พ.ศ.2523-2540 คนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและมีค่านิยมที่แตกต่างกันระหว่างรุ่นปู่ย่าตายายกับรุ่นพ่อแม่ของพวกเขา แต่กระนั้นเขาก็รับเอาความเจริญรุดหน้าของเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ตเข้ามาแทรกอยู่ในการดำรงชีวิตประจำวันด้วย

ยุคนี้จะเป็นยุคที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตเป็นอย่างมาก ทำให้พ่อแม่ที่ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว จะดูแลเอาใจใส่ลูกๆเป็นอย่างดี เด็กยุคนี้จึงมักจะถูกตามใจตั้งแต่ยังเล็ก ได้ในสิ่งที่คนรุ่นพ่อแม่ไม่ค่อยได้

มีการศึกษาดี มีลักษณะนิสัยชอบการแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบถูกบังคับให้อยู่ในกรอบ ไม่ชอบอยู่ในเงื่อนไข ชอบเสพข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆที่หลากหลาย มีอิสระทางความคิด กล้าซักถาม กล้าถามในทุกเรื่องที่ตัวเองสนใจ ไม่หวั่นคำวิจารณ์ มีความเป็นสากลมาก มองว่าการนิยมชมชอบวัฒนธรรมหรือศิลปินต่างชาติเป็นเรื่องธรรมดา

ปัจจุบันคนกลุ่มนี้อยู่ทั้งในช่วงวัยเรียนและในวัยทำงาน ที่สำคัญจากการที่ยุคนี้เป็นยุคที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องสูง จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกลุ่มนี้จะมีความสามารถในการทำงานที่เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร ชอบงานด้านไอที ใช้ความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ รวมทั้งมีความสามารถที่จะทำอะไรได้หลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน เรียกได้ว่า สามารถใช้เครื่องมือเครื่องไม้ได้อย่างคล่องแคล่วอย่างที่เราอาจไม่เคยเห็น ภาพคนยุคใหม่ที่นั่งเล่น iPad ไปด้วย คุยโทรศัพท์ไปด้วย แถมบางคนยังกินข้าวไปพร้อมๆกันอีกต่างหาก

ในเรื่องการทำงาน คนกลุ่มนี้ต้องการความชัดเจนในการทำงานว่าสิ่งที่ทำมีผลต่อตนเองและต่อหน่วยงานอย่างไร และชอบทำงานเป็นทีม ต่างจากกลุ่ม Gen-X ที่ชอบทำงานแบบวันแมนโชว์มากกว่า เพราะคนในวัย Gen-X จะถูกฝึกมาแบบนั้น ต่างจากคนในวัย Gen-Y ที่เติบโตมาพร้อมกับการประชุม การระดมความคิดเห็น

แต่ทว่า คนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยอดทนเหมือนคนรุ่นพ่อแม่นัก หวังจะทำงานได้เงินเดือนสูงๆ แต่ไม่อยากไต่เต้าจากการทำงานข้างล่างขึ้นไป คาดหวังในการทำงานสูง ต้องการคำชม

กลุ่ม Gen-Y มักจะจัดสรรเวลาให้งานและชีวิตส่วนตัวในจุดที่สมดุลกัน พอหลังเลิกงานอาจไปทำกิจกรรมอื่นๆเพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเอง เช่น ไปเล่นฟิตเนส ไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง จะไม่ค่อยหมกมุ่นอยู่กับงานเหมือนกับคนรุ่นก่อน

นอกจากนี้แล้ว กลุ่ม Gen-Y จะเป็นคนมองโลกในแง่ดี มีใจช่วยเหลือสังคม รักษาสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์ที่ดี และแน่นแฟ้นกับพ่อแม่

7.Generation Z

Gen-Z คือ คำนิยามล่าสุดของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน หมายถึงคนที่เกิดหลังปี พ.ศ.2540 ขึ้นไป เทียบอายุแล้วก็คือ วัยเด็กๆนั่นเอง เด็กๆกลุ่ม Gen-Z จะเติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่อยู่แวดล้อม มีความสามารถในการใช้งานเครื่องมือทางเทคโนโลยีต่างๆ และเรียนรู้ได้รวดเร็ว เพราะพ่อแม่ใช้สิ่งต่างๆเหล่านี้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

แต่สิ่งหนึ่งที่เด็กรุ่นนี้แตกต่างจากรุ่นอื่นๆสมัยที่ยังเป็นเด็กอยู่ก็คือ พวกเขาจะเห็นภาพที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานทั้งคู่ ต่างจากรุ่นก่อนๆที่อาจจะมีพ่อออกไปทำงานคนเดียว ด้วยเหตุผลนี้ เด็ก Gen–Z หลายๆคน จึงได้รับการเลี้ยงดูจากคนอื่นมากกว่าพ่อแม่ของตัวเอง
และนอกจาก Gen-Z ที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว ปัจจุบันยังมีคำนิยามเพิ่มขึ้นมาอีก 1 กลุ่ม แต่ก็ไม่ได้จัดร่วมกับ 7 Generation ข้างต้น นั่นก็คือ กลุ่ม Gen-C

8.Generation C

กลุ่มนี้เป็นกลุ่มหรือคำใหม่ที่ Google และ Nielsen บัญญัติใช้สำหรับเรียกกลุ่มคนยุคใหม่ที่ไม่ได้แบ่งตามอายุเหมือนคนใน 7 Generation ข้างต้น หากแต่จัดกลุ่มตามพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต และโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ทั้งนี้ คนที่จะถูกจัดเข้ากลุ่ม Gen-C นั้น ก็คือ คนในกลุ่ม Baby Boomer และGen-X ที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง ด้วยการหันมาให้ความสนใจกับเทคโนโลยีมากขึ้น ไปจนถึงขั้นเสพติดการเชื่อมต่อ แต่ไม่รวมคนกลุ่ม Gen-Y ด้วย  นั่นเพราะคนกลุ่มนี้ ปกติก็จะมีการเชื่อมต่อโลกไร้สายเป็นประจำอยู่แล้ว ต่างกับคนในกลุ่ม Baby Boomer และ Gen–X ที่ในอดีตแทบไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เลย แต่เมื่อเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีครองโลก พฤติกรรมของคนเหล่านี้จึงต้องเปลี่ยนไปตามกระแสโลกาภิวัตน์

สำหรับคน Gen-C นั้น จะมีนิสัยที่เห็นเด่นชัดมากๆคือ มีการเชื่อมต่อตลอดเวลา มีการ อัพเดตข้อมูล สนใจข่าวสารที่ได้รับรู้มาในโลกไซเบอร์ พร้อมจะแชร์ต่อทุกเมื่อ ติดตามดูคลิปในยูทูบมากกว่านั่งดูโทรทัศน์ เหมือนกับสังคมออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของตัวเองไปแล้ว และคนกลุ่มนี้ก็ยังกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนวัฒนธรรมใหม่ๆด้วย

อย่างไรก็ตาม คนกลุ่ม Gen–C นี้ แม้จะชอบโพสต์ข้อความมากมาย แต่ก็จะโพสต์ด้วยความระมัดระวังมากกว่าคน Gen–Y ที่จะโพสต์ตามอารมณ์มากกว่า ต่างกับคน Gen–C ที่จะโพสต์เพื่อแบ่งปันความรู้ หรือประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ

Cr.https://www.thairath.co.th/content/475518





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะสร้าง AI แบบมีตัวตนบริบทพุทธสันติวิธี ดูแลผู้สูงอายุผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย

Embodied AI สามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสงบสุขและความเมตตาผ่านการปฏิสัมพันธ์ที่มีมนุษยธรรม และการช่วยเหลือมนุษย์ในหลากหลายบริบท แต่ต้...