วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2561

"ความรุนแรง-สงคราม"หลบใน "มาร์ค"มองไม่เห็น?




สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร รายงาน



จากประเด็นที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกัฐมนตรี ออกมาเคลื่อนไหวประกาศสงคราม ไม่ยอมแพ้ ต่อสู้ทางการเมืองต่อไป ได้มีคอการเมืองออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างมากมาย ก็เป็นลักษณะการเมืองไทยที่ห้อยโหนกระแสกันไป  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นเป็นห่วง โดยกังวลเรื่องความรุนแรงว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่นั้น



คนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำนี้มักจะคิดไปถึงความรุนแรงทางกาย คือการฆ่ากันประหัดประหารกัน ทางวาจาก็คือการด่าทอ พูดจาเสียดสีกัน ที่นี้มาดูความหมายและแนวความคิดของคำว่า "รุนแรง" กันบ้างเป็นอย่างไร



ความรุนแรง” นั้นมีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม   รศ.ดร.โคทม  อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี  มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้นำเสนอตามกรอบความคิดของ “โยฮันกัลตุง” (Johan Galtung) โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ   ทางตรงหรือกายภาพ   เชิงโครงสร้าง   และเชิงวัฒนธรรม   ความรุนแรงทางกายภาพนั้นจะต้องมีผู้กระทำให้เกิดขึ้นทั้งทางกายและทางวาจา  ส่วนความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือเชิงระบบจะไม่ปรากฏผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ มีลักษณะเป็นการขัดขวางไม่ให้มีการตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน  การแบ่งชนชั้น ลัทธิเหยียดผิว ชาติพันธุ์ การทำลายตนเอง การทำลายชุมชน  และการทำลายรัฐ-ชาติ โดยรัฐประหาร การกบฏ การก่อการร้าย สงคราม ขณะที่ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมก็จะไม่ปรากฏผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเช่นกัน โดยจะการถ่ายทอดออกมาเป็นความเกลียด ความกลัว อคติ ความเจ็บแค้น เป็นความรุนแรงทางศาสนา อุดมการณ์ ภาษา และศิลปะ



ขณะที่คำว่า “สงคราม” จัดเป็นอาชญากรรมเพียงอย่างเดียวที่ยกเว้นการพิพากษาโทษ เป็นการฆ่าแบบเป็นระบบป่าเถื่อนของผู้มีกำลังทางอาวุธเพื่อแสดงอำนาจ โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีความเคียดเเค้นชิงชังต่อกัน บางสงครามอาศัยความเชื่อทางศาสนาเป็นข้ออ้างหรือเป็นเครื่องมือปลุกระดม และเป็นเครื่องมือของคนไม่มีเหตุผลไม่มีปัญญา สิ่งหนึ่งที่สงครามขาดไม่ได้เลย คือ “ผู้หญิง” ที่ต้องตกเป็นทาสทางกามารมณ์ ถูกข่มขืน สตรีต้องตกเป็นม่าย ดังนั้น ขึ้นชื่อว่าสงครามแล้วเห็นจะมีประโยชน์อยู่อย่างเดียว คือ “ทำสงครามกับกิเลส” จัดการกับกิเลสภายในตนเอง เริ่มตั้งแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ภายในใจของตน เราควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ก่อให้เกิดสงคราม ด้วยการเริ่มจัดการกับสงครามภายในใจของเราเอง ดับสงครามภายใน เพื่อป้องกันสงครามภายนอก



แต่มีลักษณะสงครามอีกประเภทหนึ่งคือสงครามหลบในหรือสงครามโลกแบบไร้ตัวตน โดย พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ได้ระบุว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 เกิดแล้วซึ่งมีลักษณะไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด เป็นสงครามรูปแบบใหม่ไม่ใช้อาวุธ ไม่ใช้กำลัง กระจายไปทั่วโลก เป็น “สงครามไร้ตัวตน นิรนาม”เป็นยุคแห่งการนำศาสนาและวัฒนธรรมมาใช้ในกระบวนการทางจิตวิทยาโดยอาศัยสื่อต่างๆเป็นเครื่องมือ ใครครองสื่อมากจะสามารถคุมได้หมด “Medid Power” ทั้ง Facebook Twitter Online Mobile Phone จึงนับได้ว่าเป็นการต่อสู้กันด้วยสิ่งที่มองไม่เห็น เป็นต่อสู้แบบ Soft Power และ Hard Power และมีการผสมผสานเป็น “Smart Power” ซึ่ง หมายถึงการสนับสนุนด้วยวิธีทางการทูตให้ความคุ้มครองรักษาสันติภาพ ให้ความช่วยเหลือ 



ฉะนั้นการสงครามอาจจะเป็นแนวทางให้คิดถึงวิธีการที่จะระงับสงครามโดยสันติวิธี มิใช่สงครามเพื่อระงับสงครามแต่ยุคปัจจุบันใช้สื่อโชเซียลในการสร้างความรุนแรงสร้างสงคราม ศาสนาต่างๆ จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการก่อสงครามศาสนา จึงมีคำกล่าวว่า...“ผู้ที่จะชนะในสงครามครั้งใหญ่นี้ได้จะต้องเป็นผู้ที่เข้าร่วมสงครามด้วย ผู้ที่เป็นคนดูอยู่เฉยๆ จะถือว่าพ่ายแพ้”  ขณะเดียวกันประเทศอเมริกาต้องการเป็นผู้นำฝ่ายเดียว ต้องการสร้างเงินสกุลเดียวของโลก และต้องการสร้างศาสนาโลกเดียว แต่พระพุทธทาสกล่าวว่า.... “โลกต้องมีศาสนาครบทุกชนิดมีศาสนาเดียวไม่ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจกัน” สิ่งที่น่ากลัวมากคือเวลามีความขัดแย้งมักจะก่อสงคราม ไม่ค่อยจะหาทางประนีประนอม 



ขณะที่ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เห็นว่า พลังหรืออำนาจ(Power) นั้นมี ๓ ประการ คือ  Power Over การใช้พลังเหนือคนอื่นเป็นความรุนแรง หากนำมาใช้จะส่งผลเสียระยะยาวมาก   Power  with เป็นการใช้พลังร่วมกัน ร่วมทำอะไรบางอย่าง  และ Power  Wisdom  เป็นการใช้พลังปัญญา ซึ่งการใช้อำนาจนั้นต้องมีทั้ง Free และ Faisหรือ Win Winชนะทั้งคู่ 


ทั้งความรุนแรงและสงครามนี้จัดได้ว่าเป็นอาการแห่งทุกข์ประการหนึ่ง หากสังคมไทยและสังคมโลกตั้งการออกจากทุกข์ก็จงศึกษา "อริยสัจโมเดล" และสันติศึกษาเถิด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...