วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เสียดาย!ร่างพรบ.การศึกษาสงฆ์:ม.สงฆ์ไม่มีวิชาเอกภาษาบาลี



วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2561 เฟซบุ๊กพิศาฬเมธ แช่มโสภา ได้โพสต์ข้อความว่า

เสียดาย..!
: ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาของคณะสงฆ์
: มหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่มีวิชาเอกภาษาบาลี
------------------------------------------------
(๑๑ -๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ : ๒๐.๐๐ - ๐๒.๐๐ น.)

จากข่าวที่ไม่ใหญ่โตเท่าใดนักว่า ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาของคณะสงฆ์ ฉบับที่ .. พ.ศ. .... ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐ เนื่องจากยังมีความขัดแย้ง ในตัวร่าง พรบ. ดังกล่าวอยู่.. และส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ตามภาษาราชการ)

แม้ผมจะไม่ได้มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการยกร่าง แต่เมื่อได้เห็นร่าง พรบ. ตอนเริ่มแรกๆ ก็ได้ช่วยแก้ไขไปบางส่วน แต่ยังไม่หมด เพราะต้องถือว่า มติคณะ กก. ยกร่างเป็นอย่างไร ให้เป็นไปตามนั้น คนนอกต้องวิจารณ์อย่างเดียว จะโดนสวนกลับบ้างก็ไม่ว่ากัน.
.
จนร่าง พรบ. สุดท้ายที่เสนอรัฐบาล ยังเห็นว่า มีส่วนที่บอกว่า เสียดาย..!

ถ้าร่าง พรบ. นั้น กำหนดให้ (ถ้าข้อมูลไม่คลาดเคลื่อนก่อนเสนอ)
๑. ผู้ที่จบ นักธรรมตรี-โท-เอก เป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.๓)
๒. ผู้ที่จบ ประโยค ๑ – ๒ และ ป.ธ. ๓ เป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.๖)
๓. ผู้ที่จบ ป.ธ. ๖ เป็นปริญญาตรี
๔. ผู้ที่จบ ป.ธ. ๘ เป็นปริญญาโท
๕. ผู้ที่จบ ป.ธ. ๙ เป็นปริญญาเอก
โดยให้ผู้จบตามข้อ ๔. และข้อ ๕. จะมีการออกกฎกระทรวงกำกับอีกครั้งว่า จะต้องทำอย่างไรบ้าง จะเรียนอะไรเพิ่มบ้าง จึงจะถือว่า เป็นปริญญาโทและเอก ตามลำดับ

ที่เสียดาย คือ ผู้ที่สอบได้ ป.ธ. ๗ ไม่ได้เป็นอะไรกับเขา ในทางการศึกษาเลย ถือว่า เป็นการศึกษาแบบสูญเปล่าทางการศึกษา ใช้ทำอะไรไม่ได้ ต้องสอบต่อ ป.ธ. ๘ อย่างเดียว หรือเลิกเรียนไป..

ต้องขอเรียนว่า การจะสอบ ป.ธ. ๘ ได้นั้น มีวิชาที่ยากมาก และผู้สอบมักจะตกกัน คือ วิชาแต่งฉันท์ภาษาบาลี (วิชาแต่งกาพย์ กลอน โครง ฉันท์ ในภาษาไทย) โดยแม่กองบาลีจะออกข้อสอบ เป็นข้อความ มาประมาณ ๑ หน้ากระดาษ แล้วให้ผู้สอบแต่งข้อความนั้น เป็นฉันท์ภาษาบาลีให้ได้ความ ตามข้อสอบ จะตัดต่อเติมอะไรก็แล้วแต่ แต่ต้องอ่านแล้วได้ความตามข้อสอบที่ออกมา
ฉันท์ที่ผู้สอบแต่ง ต้องมีอย่างน้อย ๓ ประเภท.. ! ในเวลาที่กำหนด (๔.๑๕ ชม.)
ขนาดกลอนไทย คนยังแต่งกันได้บ้าง ไม่ได้บ้าง.. !
นี่เป็นภาษาบาลี.. !
ใครไม่มีหัวทางนี้ ยากที่จะผ่านได้..
การสอบ ป.ธ. ๘ – ๙ แม้จะทำถูกทุกอย่าง.. แต่บางท่านยังตก เพราะสำนวนไม่ถึงขั้น.. พอดูสำนวนผู้สอบตก (สังเกตจากสำนวนการทำการบ้านของท่าน) ก็ทราบได้ว่า มือไม่ถึงจริงๆ..
นี่แหละคือปัญหาว่า ทำไมบางท่านจึงสอบ ป.ธ. ๘ ไม่ได้ ..? ทำไมบางท่านจึงสอบ ป.ธ. ๙ ไม่ได้ ? ติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี.. บางท่านมีความพยายามสูงถึง ๕ ปี เป็นอย่างต่ำ จึงสอบได้..
จึงเสียดายว่า ในร่าง พรบ. น่าจะกำหนดให้ ป.ธ ๔ – ๗ เป็นปริญญาตรี ไปเลย (เวลาเรียน รวม ๔ ปี) โดยเอาหลักสูตรภาษาบาลีมาตีค่าเป็นหน่วยกิต ตลอดปี
ถ้าหน่วยกิตไม่พอเท่าปริญญาตรีทั่วไป ก็เอาวิชาเสริม อื่นๆ มาสอนเสริม เช่น ประวัติพระพุทธศาสนาภาคภาษาไทย พระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ ธรรมภาคภาษาอังกฤษ วิชากรรมฐาน เป็นต้น เมื่อเรียนครบหน่วยกิตระดับปริญญาตรี ถือว่าจบปริญญาตรี..

ถ้าจะถามว่า จบจากไหนล่ะ ?
คำตอบคือ จากมหาวิทยาลัยสงฆ์ ครับ..

ตรงนี้ จะเป็นจุดเชื่อมต่อให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง มีวิชาภาษาบาลีเป็นวิชาเอก ในระดับปริญญาตรี จะเป็นส่วนหนึ่งของคณะไหน หรือจะตั้งคณะใหม่ก็ได้)

ส่วนระดับปริญญาโท – เอก ก็เอาผู้ที่จบ ป.ธ. ๘ เป็น ปริญญาโทสาขาวิชาภาษาบาลี ส่วนผู้ที่จบ ป.ธ. ๙ เป็น ปริญญาเอกสาขาวิชาภาษาบาลี มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งจะต้องให้เรียนวิชาพื้นฐาน เช่น ระเบียบวิธีวิจัย พระไตรปิฎกศึกษา สัมมนาพระไตรปิฎก ฯลฯ ให้มีหน่วยกิตเท่าระดับปริญญาโทและเอกของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง

คิดว่า เมื่อถึงขั้นนี้ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง (มจร. และ มมร.) จะสามารถจัดการเรียนการสอนได้ ให้ผู้เรียนมีหนทางเลือกที่หลากหลาย.. มีโอกาสที่จะก้าวหน้า ไม่ว่าจะอยู่ในเพศไหน..

ให้สมกับที่เป็น “มหาวิทยาลัยสงฆ์” ที่มีการเรียนการสอนวิชาเอกภาษาบาลี มันน่าจะเป็นความภูมิใจที่จะได้รับสนองงานคณะสงฆ์ ด้านการสนับสนุนเรียนการสอนภาษาบาลี

ตรงนี้ จะเป็นการทำให้การเรียนภาษาบาลีมีความหมายมากยิ่งขึ้น.. สำหรับผู้เรียน..

สำหรับผู้บริหาร กระบวนการเรียนการสอนก็เป็นไปตามเดิม.. สำนักเรียนไหนสำนักเรียนนั้น..

ปรับที่การบริหารงานในมหาวิทยาลัยสงฆ์นิดหน่อยก็ทำได้ คือ
๑. เอาสำนักเรียน สำนักเรียนคณะจังหวัด ทุกสำนักเรียน เป็น “ศูนย์บริการ /วิทยาเขต หรือเรียกอย่างอื่น” ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แต่ละฝ่าย
๒. เอาเจ้าสำนักเรียน เจ้าคณะจังหวัดทุกรูป (สำนักเรียนคณะจังหวัด) เป็น ผู้อำนวยการศูนย์บริการ /วิทยาเขต หรือเรียกอย่างอื่น
๓. ถ้าจะให้เต็มรูปแบบ ก็เอาระบบการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และบาลี มาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ดังนี้
๓.๑ นักธรรมตรี – โท – เอก เป็นโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย
๓.๒ ประโยค ๑ – ๒ และ ป.ธ. ๓ เป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัย
๓.๓ ปธ. ๔ – ๗ ป.ธ. ๘ และ ป.ธ. ๙ เป็นการเรียนระดับปริญญาตรี – โท – เอก ตามลำดับ
โดยมี แม่กองธรรมสนามหลวง และแม่กองบาลีสนามหลวง เป็น ที่ปรึกษาอธิการบดี

หากจะบอกว่า ไม่มีกฎหมาย ระเบียบ รองรับ มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็กำหนดตำแหน่งขึ้นมาก็ได้ เพราะกฎหมายประเภทนี้ กำหนดโดยสถาบัน คือ คนในองค์กร ไม่ใช่พระธรรมวินัยที่แสดงและบัญญัติโดยพระพุทธเจ้า

กฎหมายที่กำหนดโดยคน สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยคน ดังนั้น ตำแหน่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นใน ม.สงฆ์ สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้

รวมทั้งตำแหน่งครูสอนปริยัติธรรม อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ ครูสมัยเก่าที่ไม่จบปริญญา ก็ยกท่านเป็นมหาคุรุ (ให้สิทธิสอนไปตามปกติ) ส่วนครูสอนที่จบปริญญา ก็จะสามารถทำผลงานทางวิชาการได้เหมือนบุคลากรในมหาวิทยาลัย

หากจะกล่าวถึงงบประมาณ อาจมี ๒ แบบ คือ แบบเดิม คือ แต่ละสำนักเรียนสอนอย่างไร ก็ใช้งบตามนั้น หรือจะเอางบมาตั้งไว้ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ แล้วจัดสรรให้ก็ได้ แต่ทางที่ดี ควรใช้วิธีแรก เพียงแต่เอามาจัดเข้าเป็นรูปแบบการศึกษาภาบาลี

ปัญหาที่จะตามมาหลายอย่าง ก็ค่อยๆ จัดการไปได้ โดยให้สภาพคงเดิมไว้ให้มากที่สุด..
ผมเชื่อว่า บุคลากรของมหาวิทยาลัยสงฆ์ จบปริญญาโท – เอก มากมาย สามารถจัดการเรื่องนี้ได้โดยราบรื่น ในทุกปัญหาที่จะพึงมี..

ที่สำคัญ อย่าเริ่มต้นด้วยคำว่า “ทำไม่ได้” เพราะผมมองในฐานะคนนอก แม้จะจบไม่เท่าท่าน.. แต่ผมยังเห็นช่องว่า “ทำได้”

ที่เขียนมานี้ ไม่กระทบ ร่าง พรบ. ฉบับนี้ เพราะเอาการศึกษาคณะสงฆ์ทุกระบบมารวมกันแล้ว ยังตอบปัญหาไม่ได้..! และจะถูกตีกลับอย่างนี้เรื่อยไป..

ปรับใจให้กว้าง และปรับบทบาท (ส่วนหนึ่ง) เพื่อสนองงานคณะสงฆ์ ทำโครงการเสนอมหาเถรสมาคมให้ความเห็นชอบ (โรงเรียนสาธิต เตรียมอุดมศึกษา ป.ตรี ป.โท และ ป. เอก ด้านภาษาบาลี) มีหรือที่มหาเถรสมาคมจะคัดค้าน เพราะเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญของงานคณะสงฆ์

ทั้ง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร. และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) จะมี วิชาเอกภาษาบาลี เป็นที่เชิดหน้าชูตา สมกับเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อคณะสงฆ์

เปิดสอนมาหลายปี ผู้จบการศึกษาระดับต่างๆ ไปหลายรุ่น ล้วนแต่วิชาเอกอื่น แต่ไม่มีจบวิชาเอกภาษาบาลี.. น่าคิดเหมือนกัน..

เวลาเขียนน้อย จำกัดด้วยสภาพแวดล้อมต่างๆ อาจไม่หมดกระบวนความ..

แต่สำหรับผม เขียนเรื่องใด จะคิดรอบด้าน ไปจนสำเร็จ จนจบกระบวนการคิดที่จะทำ.. ไม่ใช่ดีแต่คิด แต่ทำไม่ได้..

ไม่ใช่วิสัยผม.. ที่เสนอความคิด ต้องทำได้ หากจะทำ..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประยุกต์ใช้ AI บริหารการศึกษา "มจร" ปริบทพุทธสันติวิธี

การประยุกต์ใช้ AI ในการบริหารการศึกษาของ มจร เป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาและเสริมสร้างความสามารถของมหาวิทยาลัยในด้านการศึกษาและการเผยแผ่พุทธศาสน...