วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561

อิสราเอลสนใจฟังปฏิบัติสมาธิภาวนาวิถีพุทธจากพระวัชรยาน



วันที่ 2 ส.ค.2561 เฟซบุ๊ก Sunthorn Utaithum ได้โพสต์ข้อความว่า พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของ 3 ศาสนาเทวนิยม (Buddhism at the heart of the three major Abrahamic religions.) ตงซาร์ จัมยัง เคนเซ รินโพเช ลามะนิกายวัชรยานผู้มีชื่อเสียงชาวภูฏาน ทั้งยังเป็นผู้สร้างหนัง และนักเขียน ได้บรรยายเรื่องการปฏิบัติสมาธิภาวนาวิถีพุทธ ให้กับผู้สนใจชาวอิสราเอลฟัง ที่มหาวิทยาลัยฮิบรู นครเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล

อย่างไรก็ตาม "สมาน สุดโต" จากโพสต์ทูเดย์ได้เขียนบทความเรื่อง "แสงธรรมแห่งพระพุทธศาสนา แผ่ไปในประเทศอิสราเอล" เมื่อปี 2554 ความว่า 

คณะศิษย์กรรมฐานหลวงพ่อทอง หรือพระธรรมมังคลาจารย์ แห่งวัดพระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่ ได้จัดตั้งศูนย์วิปัสสนาขึ้นที่ประเทศอิสราเอล ทำให้แสงธรรมพระพุทธศาสนาทอประกายเรืองรองในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ชาวคริสต์ในขณะนี้

ระหว่างในวันที่ 20-28 มิ.ย. 2554 พระพรหมโมลี (ศ.ดร.สมศักดิ์ ป.ธ.9) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดพิชยญาติการาม และพระธรรมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อทอง พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา) วัดพระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่ และคณะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของพระพุทธศาสนา เมื่อเปิดศูนย์วิปัสสนา Newman Association-Buddhist Vipassana Meditation Center, Yevne’el, P.B. 77 zip code 15225, Israel. ที่ประเทศอิสราเอล

ศูนย์วิปัสสนาที่จะเป็นประวัติศาสตร์แห่งพุทธศาสนาแห่งนี้ ก่อตั้งโดยคณะศิษย์หลวงพ่อทอง คือ พระออฟเฟอร์ ธีรจิตฺโต และนายอิทาร์มาร์ นางลิโอรา นิวแมน ชาวอิสราเอล ดำเนินการในนามสมาคม Newman Association–Buddhist Vipassana Meditation Center

พระออฟเฟอร์ เกิดในเมืองเทลอาวิฟ ประเทศอิสราเอล ได้รับอบรมวิปัสสนากรรมฐานที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2533 จากนั้นมีความสามารถเป็นวิปัสสนาจารย์ อบรมชาวต่างประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ต่อมาจึงอุปสมบทโดยพระราชพรหมาจารย์ (สมณศักดิ์เดิมของพระธรรมมังคลาจารย์) เป็นพระอุปัชฌาย์ในปี พ.ศ. 2544 ได้เล่าถวายพระพรหมโมลี และคณะว่า เมื่อ 21 ปีที่แล้ว พระออฟเฟอร์ได้มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เรื่องพระพุทธศาสนา ผลจากการปฏิบัติที่เห็นเป็นรูปธรรม แข้งขาที่เคยปวดหายไป หลังที่เคยปวดบรรเทาลง แต่ยังไม่แน่ใจในเรื่องสายตา กลับอิสราเอลพบการเปลี่ยนแปลงในตัวเองว่ามีสภาพจิตสุขุม อัธยาศัยดีขึ้น จากนั้นได้เดินทางมาไทยเพื่อปฏิบัติวิปัสสนาบ่อยขึ้น และได้อุปสมบทที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง รับการอบรมและปฏิบัติที่วัดระยะหนึ่ง หลวงพ่อทองส่งให้ไปปฏิบัติศาสนกิจวัดสาขาที่ประเทศเยอรมนี ได้พบนายอิทาร์มาร์ นิวแมน ที่นั่น ท่านผู้นี้นิมนต์พระออฟเฟอร์ให้มาสอนวิปัสสนาที่ประเทศอิสราเอล จึงสอนแบบไปกลับระหว่างอิสราเอลและเยอรมนี ต่อมานายอิทาร์มาร์ได้ตั้งศูนย์วิปัสสนาถาวรที่คิบบุตซ์ โดยหลวงพ่อทองให้ชื่อศูนย์ตามนามสกุลนายอิทาร์มาร์ ว่า นิวแมน แอสโซซิเอชัน เมื่อปี พ.ศ. 2548 ซึ่งกรรมการคิบบุตซ์ให้สอนที่อาคารคิบบุตซ์เป็นเวลา 2 ปี

(คิบบุตซ์เป็นรูปแบบชุมชนในประเทศอิสราเอล ที่ได้รับอิทธิพลจากสังคมนิยม ชุมชนจะแบ่งงานกันทำตามความถนัด เช่น 5 คนเลี้ยงเด็ก 5 คนทำความสะอาด 40 คนทำเกษตรกรรม เป็นต้น ส่วนรายได้ต้องนำเข้าส่วนกลาง โดยแต่ละครอบครัวจะได้รับการอุปถัมภ์จากคิบบุตซ์ ทางด้านปัจจัยสี่และสิ่งจำเป็นอื่นๆ หากครอบครัวใดมีความประสงค์นอกเหนือจากที่จัดไว้ให้ เช่น ครอบครัวนาย ก. ต้องการซื้อจักรยานให้ลูก ก็ต้องทำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป)

ระยะที่ดำเนินการศูนย์วิปัสสนาที่คิบบุตซ์ ผู้คนจากเมืองอื่นๆ ในอิสราเอลเดินทางเข้ามาเยือนคิบบุตซ์แห่งนี้ เพื่อหาความสงบทางจิตด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และยังทำให้เกิดความนิยมจากผู้สนใจในการพัฒนาจิต อันเป็นเหตุให้สำนักปฏิบัติธรรมแบบอื่นๆ หลั่งไหลเข้ามาเช่าที่ในคิบบุตซ์เพื่อเปิดเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้น

เมื่อครบวาระ 2 ปี คณะกรรมการในคิบบุตซ์มีความเห็นแบ่งเป็นสองฝ่าย พวกหนึ่งมีความเห็นว่า การเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นสิ่งที่ดี แต่อีกพวกหนึ่งกลัวว่าพุทธศาสนาจะเป็นภัยคุกคาม ในที่สุดพระออฟเฟอร์จึงตัดสินใจเลือกไปสอนวิปัสสนากรรมฐานที่อื่น เพื่อไม่ให้ชุมชนแตกแยกออกเป็นสองฝ่าย

นายอิทาร์มาร์ และนางลิโอรา นิวแมน ได้ตระหนักถึงความจำเป็นของศูนย์วิปัสสนากรรมฐานว่า ต้องมีความเป็นเอกเทศ ต้องมีที่ดินเป็นของตนเอง จึงตัดสินใจขายบ้านอันเป็นที่พำนักของตนในเมืองรามาทกาน และนำเงินที่ได้ไปซื้อที่ดินในเมืองยับนิเอล ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ไร่ ในการนี้ได้จัดสรรพื้นที่ครึ่งหนึ่งถวายแก่พระสงฆ์ เพื่อนำมาสร้างเป็นสำนักปฏิบัติธรรม และอีกครึ่งหนึ่งจัดสรรเป็นที่พำนักของตนเอง

ในการจัดตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานบนที่ดินที่จัดหามาสามารถดำเนินการได้ เพราะในการทำเรื่องเสนอต่อส่วนราชการว่า เป็นการจัดซื้อที่ดินในนามบุคคล จึงมีความเป็นอิสระในการจัดสรรที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในการต่างๆ ตามต้องการ เมื่อการจัดสรรที่ดินลุล่วงแล้ว นายอิทามาร์ และนางลิโอรา นิวแมน ได้ถวายที่ให้พระออฟเฟอร์ ธีรจิตฺโต ซึ่งสามารถครอบครองที่ดินได้ตามกฎหมายต่อไป

ในการเปิดอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ในวันที่ 20-28 มิ.ย. 2554 พระพรหมโมลี และพระธรรมมังคลาจารย์ เมตตามาเป็นประธาน โดยมีผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรม 47 คน เป็นชาวยิว (อิสราเอล) 37 คน ชาวเยอรมัน 8 คน ชาวอังกฤษ 1 คน และชาวกรีก 1 คน โดยในจำนวนนี้มี 5 คนที่ขอบรรพชาเป็นสามเณร และ 3 คนขอบวชเป็นชี ตลอดช่วงระยะเวลาที่ทำการอบรมวิปัสสนากรรมฐานนี้

ในพิธีเปิดศูนย์วิปัสสนาในดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งอิสราเอลนี้ เอกอัครราชทูตไทย (ณัฐวุฒิ โพธิสาโร) และเอกอัครราชทูตศรีลังกา (ไม่มีชื่อ) ประจำประเทศอิสราเอล ได้ให้เกียรติมาร่วมอนุโมทนา แต่ละท่านกล่าวว่า เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของพระพุทธศาสนา ที่สามารถจารึกพระธรรมของพระพุทธเจ้าลงในดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

ในการกล่าวอนุโมทนาในนามคณะสงฆ์ไทย พระพรหมโมลี เล่าถึงความเป็นมาของศูนย์ปฏิบัติธรรมและการพบพระธรรมของพระออฟเฟอร์ว่า คล้ายๆ กับการได้พบธรรมของพระภิกษุผู้หนึ่ง ในสมัยต้นพุทธกาลที่มี นามว่าพระยศ (ขณะยังเป็นยศกุลบุตร) ที่เดินไปบ่นไปว่าที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ เมื่อถึงสถานที่ที่พระพุทธเจ้ากำลังจงกรม พระองค์จึงตรัสว่าที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง (ยศกุลบุตรจึงเข้าไปเฝ้าฟังธรรมแล้วขอบวช)

พระออฟเฟอร์ได้เดินทางมายังประเทศไทยในครั้งแรกนั้น มาในรูปแบบนักท่องเที่ยว ได้พบกับธรรมได้เห็นธรรม จนบัดนี้ก็ได้สอนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ชาวอิสราเอล

วิปัสสนากรรมฐานนั้น ได้รับการคิดค้นจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นเวลากว่า 2,590 ปีที่ผ่านมา

ธรรมของพระพุทธเจ้า เป็น “เอหิปัสสิโก” คือ ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วนั้น ควรแก่การนำมาชม ธรรมนั้นสามารถขจัดปัดเป่าความทุกกายทุกข์ใจได้

ผู้ใดที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานด้วยความเพียรจะสรรเสริญว่า ธรรมของพระพุทธเจ้านั้นช่างน่าอัศจรรย์จริง

นอกจากนั้น พระพรหมโมลีได้เขียนบันทึกว่า การเปิดศูนย์วิปัสสนาที่อิสราเอล ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์สำคัญยิ่งที่พระพุทธศาสนาได้แผ่ถึงดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ด้วยบารมีหลวงปู่พระธรรมมังลาจารย์ ที่สอนวิปัสสนากรรมฐานมานานและฝึกอบรมพระออฟเฟอร์ ชาวอิสราเอล ให้นำพระพุทธศาสนามาประดิษฐานในดินแดนแถบนี้

ขอให้พระพุทธศาสนาจงประดิษฐานมั่นคงอยู่ในประเทศนี้ตลอดกาลนานเทอญ

พระพรหมโมลี บอกแก่โพสต์ทูเดย์ว่า ในอนาคตพระพุทธศาสนาอาจตั้งมั่นในประเทศนี้ก็ได้ เมือชาวอิสราเอลได้ศึกษาคำสอนพระพุทธศาสนา และรู้ว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าช่วยให้ผู้ปฏิบัติพ้นทุกข์ได้ 

...........

(หมายเหตุ : ข้อมูลจากhttps://www.posttoday.com/dhamma/102484)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...