วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561

งดงามหมู่สงฆ์!ลูกศิษย์ดูแลอุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์


          


เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 คณะทำงานธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติได้สาธิตการที่สัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกดูอุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์และอาจารย์ตามกรณีตัวอย่างที่พระที่จังหวัดยโสธร และพระอุดมธีรคุณ หัวหน้าศูนย์ศึกษามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) จังหวัดนครราชสีมา ผู้ประสานพลังหลัก ทีมขับเคลื่อนธรรมนูญสงฆ์ธรรมยุตไปเยี่ยมสงฆ์อาพาธคือพระราชสุทธาจารย์ (หลวงตาบวร) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดยโสธร (ธ) พระอุปัชฌาย์เจ้าคุณพระอุดมธีรคุณ เมื่อครั้งบรรพชาสามเณร



ทั้งนี้การดูแลตนเองและกันเองตามพระธรรมวินัย หนึ่งในหลายรูปแบบที่มีเป็นการทั่วไปที่พระธรรมวินัยกำหนดไว้ มีคำ 2 คำ คือ คำว่า “สัทธิวิหาริก” กับ “อันเตวาสิก” นั้น ผู้ที่เคยผ่านการบวชเรียนมาแล้วคงจะคุ้นเคยกับสองคำนี้มากกว่าคนทั่วๆ ไป



“สัทธิวิหาริก” แปลว่า ผู้อยู่ด้วย เป็นคำเรียกผู้ที่ได้รับอุปสมบท คือ ถ้าอุปสมบทต่อพระอุปัชฌาย์รูปใด ก็เป็นสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์รูปนั้น ที่เรียกว่า สัทธิวิหาริก นั้น เพราะพระวินัยกำหนดไว้ว่า ภิกษุผู้บวชใหม่จะต้องถือนิสสัยโดยอยู่กับพระอุปัชฌาย์อย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้พระอุปัชฌาย์อบรมแนะนำสั่งสอนเหมือนบิดาสอนบุตร ภิกษุผู้มีพรรษาพ้น 5 แล้ว ไม่ต้องถือนิสสัยต่อไป เรียกภิกษุนั้นว่า นิสสัยมุตตกะ (ผู้พ้นนิสสัยแล้ว)



ธรรมเนียมหรือข้อปฏิบัติ ที่สัทธิวิหาริกพึงกระทำต่อพระอุปัชฌาย์ของตนโดยย่อ คือ เอาใจใส่ ปรนนิบัติรับใช้ คอยศึกษาเล่าเรียนจากท่าน ขวนขวายป้องกันหรือระงับความเสื่อมเสีย เช่น ความคิดจะสึก ความเห็นผิด เป็นต้น รักษาน้ำใจของท่าน มีความเคารพ จะไปไหนก็บอกลา ไม่เที่ยวตามอำเภอใจ และเอาใจใส่พยาบาลเมื่อท่านอาพาธ เรียกข้อปฏิบัติเหล่านี้ว่า “อุปัชฌายวัตร”



ส่วนหน้าที่หรือข้อควรปฏิบัติอันพระอุปัชฌาย์จะพึงกระทำแก่สัทธิวิหาริก คือ (1) เอาธุระในการศึกษา (2) สงเคราะห์ด้วยบาตร จีวร และบริขารอื่นๆ (3)ขวนขวาย ป้องกัน หรือระงับความเสื่อมเสีย เช่น ระงับความคิดจะสึก เปลื้องความเห็นผิด ฯลฯ (4) พยาบาลเมื่ออาพาธ เรียกข้อปฏิบัติเหล่านี้ว่า “สัทธิวิหาริกวัตร”



สำหรับ “อันเตวาสิก” แปลว่า ผู้อยู่ภายใน ใช้เรียกภิกษุผู้อาศัยอยู่กับอาจารย์ หรือภิกษุผู้มิใช่พระอุปัชฌาย์ของตน เช่น บวชจากวัดนี้ไปอาศัยอยู่กับอาจารย์อีกวัดหนึ่งเพื่อเล่าเรียน ดังนี้เรียกว่าเป็นอันเตวาสิกของวัดนั้น อันเตวาสิก มี 4 ประเภท คือ(1)ปัพพชันเตวาสิก คือ อันเตวาสิกในบรรพชา  (2) อุปสัมปทันเตวาสิก คือ อันเตวาสิกในอุปสมบท (3) นิสสยันเตวาสิก คือ อันเตวาสิกผู้ถือนิสสัย (4) ธัมมันเตวาสิก คือ อันเตวาสิกผู้เรียนธรรม ดังนั้น “สัทธิวิหาริก” จึงคู่กับ “อุปัชฌาย์” ส่วน “อันเตวาสิก” คู่กับ “อาจารย์”



นับได้ว่า ลูกศิษย์ต้องดูแลอุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์ คือ ความงดงามของหมู่สงฆ์


.............

(หมายตเหตุ ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ)  





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"เสริมดวงรับปีใหม่ 2567: เหรียญมงคลหลวงปู่ดุสิต วัดไผ่แขก"

รายงานข่าวจาก วัดไผ่แขก อ.เมืองสุพรรบุรี แจ้งว่าเมื่อวันศุกร์ ที่ 15 พฤศจิกายน 2567ผ่านมา ทางวัดโดยทีมงานพี่เสือนำโดยป้อม สกลนคร และ นิภัทร์...