วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561

จิตอาสา!พลังเครือข่าย'สังฆประชานุเคราะห์'ระยอง



พลังเครือข่าย'สังฆประชานุเคราะห์'ยากไร้ระยอง   สะท้อนผลสำเร็จ 'ม.สงฆ์ มจร'บริการสังคม เกิดจากจิตอาสาบนฐานแห่งสังคหวัตถุธรรม

เมื่อวันที่ 5 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 พระมหาเกรียงศักดิ์ อินฺทปญฺโญ, ดร. นักวิจ้ย สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ลงพื้นที่พัฒนาโจทย์วิจัยร่วมกับคณะสงฆ์อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ซึ่งมีแนวทางในการช่วยเหลือสังคมมาอย่างต่อเนื่อง 

พระมหาเกรียงศักดิ์ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นแห่งการทำงานเพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์สังคม ตามหลักสังคหวัตถุซึ่งเป็นแนวปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา  ถูกนำมาเป็นหลักปฏิบัติจนเกิดเป็นรูปธรรมตั้งแต่ยุคของอดีตเจ้าคณะอำเภอนิคมพัฒนา  ซึ่งหลวงพ่อได้เริ่มนำหลักสังคหวัตถุมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ จากกิจกรรมตักบาตรเทโว ซึ่งมีประชาชนนำข้าวสารอาหารแห้งมาตักบาตร โดยวัตถุประสงค์หลักคือการนำข้าวสารอาหารแห้งเหล่านี้ไปมอบและสร้างกำลังใจให้กับประชาชนผู้ขัดสนยากไร้ในพื้นที่ต่างๆ  

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการขยายแนวคิดแนวปฏิบัติแห่งสังคหวัตถุธรรม ซึ่งส่งทอดไปยังเจ้าคณะพระสังฆาธิการในเขตอำเภอนิคมพัฒนา ที่เข้าร่วมและรับรู้แนวปฏิบัติ เกิดความซาบซึ้งถึงอุดมการณ์แห่งสังฆประชานุเคราะห์ หลวงพ่อหลวงปู่ในเขตอำเภอนิคมพัฒนาได้ยึดถือปฏิบัติและสืบสานกันมาอย่างต่อเนื่อง จนก่อเกิดเป็นแนวร่วมโดยเฉพาะกลุ่มพระสงฆ์ฆราวาสญาติโยมที่อยู่ใกล้ๆ ซึ่งเห็นความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงในการทำงานของพระสงฆ์ โดยส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ในพื้นที่ มีภูมิลำเนาในพื้นที่อำเภอนิคมพัฒนา บางรูปอาจจะย้ายมาจากที่อื่นแต่อยู่ในที่แห่งนี้หลายปีจนกลายเป็นพระในพื้นที่ไปโดยปริยาย 

ดังนั้น การมุ่งมั่นทำงานเพื่อสังคมในบ้านเกิดตนเอง จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุดมการณ์การทำงานมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันยิ่งก่อเกิดความศรัทธาจากญาติโยม ที่เห็นความมุ่งมั่นในการทำงานของพระสงฆ์  เมื่อพลังแห่งสังฆะก่อเกิดจากศรัทธาและอุดมการณ์ ได้มีการขยายผล เชื่อมโยงไปยังภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีความพร้อม เพราะเป็นเมืองเเห่งเศรษฐกิจ มีโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย การต่อยอดอุดมการณ์แห่งสังคหวัตถุธรรม จึงถูกกระจายและแทรกซึมไปยังชุมชนและหน่วยงานต่างๆในเขตอำเภอนิคมพัฒนา ก่อให้เกิดพลังแห่งจิตอาสาอันยิ่งใหญ่ของคนในอำเภอนิคมพัฒนา ที่มีจิตใจคิดเชิงสร้างสรรค์ และสุขใจที่ได้ออกมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 

จากแนวคิดของสังคหวัตถุธรรม ได้ขยายตัวไปสู่การทำงานในรูปแบบจิตอาสา กระจายไปทั่วในเขตอำเภอนิคมพัฒนา  การทำงานในระยะแรกเน้นเรื่องการช่วยเหลือในวงที่กว้างมากเพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง  และได้มีการปรับขอบเขตการทำงานให้ชัดขึ้น โดยใส่ใจต่อการช่วยเหลือคนในพื้นที่เป็นอันดับแรก หากมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือในพื้นที่อื่นๆก็จะมีการร่วมพิจารณาตัดสินใจช่วยเหลือเป็นอันดับต่อไป ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สร้างความยั่งยืนของเครือข่ายจิตอาสา "สังฆประชานุเคราะห์" ถือได้ว่าเป็นการสร้างพลังให้แก่กันและกัน มองเห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมอุดมการณ์  ตรงนี้เป็นเทคนิคและกลยุทธ์ที่สำคัญในการที่จะสร้างสรรค์พลังแห่งจิตอาสาของคนในชุมชนอำเภอนิคมพัฒนาให้มีความยั่งยืนและส่งทอดจากรุ่นสู่รุ่น การทำงานมีการปรับปรุงแก้ไขตลอด และสามารถช่วยเหลือคนในชุมชนได้อย่างครอบคลุม 

ดังจะเห็นได้จาก การแบ่งพื้นที่ในการดูแล สำรวจความต้องการ ความลำบาก ของคนในชุมชน โดยมีการแบ่งพื้นที่ในแต่ละหมู่บ้านให้อยู่ในการดูและของพระสงฆ์ในพื้นที่นั้นๆ เมื่อมีประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือ  จึงทำให้เห็นว่าจากจุดเล็กๆที่พระสงฆ์ทำบนพื้นฐานของตัวเอง ทำบนพื้นฐานที่ตัวเองคุ้นเคยและเข้าใจ สิ่งเล็กๆ ซึ่งก่อตัวจากแนวคิดทางพระพุทธศาสนาคือหลักสังคหวัตถุธรรม  ถูกถ่ายทอดสืบสานเป็นสะพานเชื่อมไปเป็นเครือข่ายจิตอาสาที่มีพลังยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า "เครือข่ายสังฆประชานุเคราะห์" ที่พร้อมในการช่วยเหลือสังคม ในมิติต่างๆ 

"ดังนั้น การทำงานในรูปแบบของการอนุเคราห์ช่วยเหลือสังคมด้วยพลังแห่งจิตอาสา ของพระสังฆาธิการและหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ในเขตอำเภอนิคมพัฒนา สมควรที่จะถอดบทเรียนให้เป็นกลยุทธ์และรูปแบบเพื่อนำเป็นประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆของประเทศไทยต่อไป จึงรู้สึกอนุโมทนา และซาบซึ้งใจอย่างยิ่งในพลังจิตอาสาเครือข่ายสังฆประชานุเคราะห์ ของชุมชนนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง" พระมหาเกรียงศักดิ์ ระบุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มส. เห็นชอบแต่งตั้ง "หลวงปู่ศิลา" ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 ธรรมยุต รายงานผลการดำเนินงาน "หมู่บ้านรักษาศีล 5"

แนะประยุกต์ใช้ AI ในการเสริมสร้างหมู่บ้านศีลห้าจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาชุมชนไทยในทางที่ยั่งยืนและสันติสุข บนพื้นฐานของศีลธรรมและจริยธรรมในป...