วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561

แนะพระใหม่ฝึกถอดหน้ากากจะพ้นภัยช่วงเข้าพรรษา



พระปราโมทย์ วาทโกวิโท พระวิทยากรธรรมะโอดี พระนิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว"Pramote OD Pantapat" ความว่า เป็นวิทยากรถวายความรู้พระนวกะ ซึ่งเป็นผู้บวชใหม่ในเขตคณะสงฆ์ลาดพร้าว-บึงกุ่ม ณ ห้องประชุมวัดสุวรรณประสิทธิ์ เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการอบรมกรรมฐาน และเสริมความรู้พระนวกะ ระหว่างวันที่ 17 - 23  กรกฏาคม พ.ศ. 2560โดยถวายความรู้เกี่ยวกับการบริหารชีวิตอย่างไรไม่ให้เกิดความผิดพลาด


ซึ่งเจ้าชายสิทธัตถะเริ่มค้นหาความสุขภายใน อะไรคือความสุขภายในที่แท้จริง พระองค์ได้นำตนเองออกไปวิจัยเชิงทดลองนานถึง 6  ปี จึงบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์จึงสอนธรรมะกำมือเดียว คือ สอนเรื่องทุกข์กับการดับทุกข์เท่านั้น สอนให้มนุษย์ Know Yourself การรู้จักตนเอง เพราะการอ่านตนเองออกสำคัญที่สุด เมื่อมีโอกาสเข้าสู่ทางธรรมจึงรีบกตัญญูต่อตนเองด้วยการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นฐานของชีวิตพระนวกะ ผู้บวชใหม่


เมื่อเข้ามาสู่ร่มธรรมของพระพุทธศาสนาจึงต้องอยู่ภายใต้ 4 กฎ คือ กฎหมาย กฎระเบียบของวัด กฎมหาเถรสมาคม และกฎของพระธรรมวินัย ซึ่งควบคุมทั้งหมด อย่าเป็นเหมือนพระฉันนะพอเข้ามาบวชเป็นผู้ดื้อ ถือทิฐิ ยกตนข่มท่าน เพราะคิดว่าตนเองเป็นคนสนิทของพระพุทธเจ้า รู้จักกับพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่สมัยเด็กๆ เล่นมาด้วยกัน จึงแสดงอาการยกตนข่มท่าน จึงถูกลงพรหมทัณฑ์จากภิกษุทั้งหลาย หมายถึง ไม่พูดด้วย ไม่สมาคมด้วย ไม่กล่าวตักเตือน พระสารีบุตรจึงเตือนท่านผู้บวชใหม่ว่า จงทำตัวเหมือน " โคเขาขาด ผ้าเช็ดเท้า เด็กจัณฑาล " อย่าให้ใครฆ่าเราทิ้ง คำว่า ฆ่าทิ้งทางพระพุทธศาสนา หมายถึง การไม่ว่ากล่าวตักเตือน การไม่สั่งสอน พระใหม่จึงต้องฝึกถอดหน้ากาก " The Mask Monk " ถอดความโลภ ความโกรธ ความหลง มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ปรับปรุงตนเองให้น่ารักมากกว่าบังคับให้ใครมารักเรา เรียกว่า บริหารชีวิตแบบ PDCA


สามเดือนแห่งการพิสูจน์ตนเอง การอยู่ร่วมกันในหมู่สงฆ์ระวังปฏิฆะ เพราะจะนำไปสู่โทสะเกิดความขัดแย้ง เป็นอกุศลมูล ด้วยการกล่าวเสียดสีหรือส่อเสียด 10 ประการ คือ " ชาติกำเนิด ชื่อ ตระกูล หน้าที่การงาน ศิลปวิทยา ความเจ็บไข้ รูปลักษณ์ กิเลส อาบัติ คำด่า " จักนำไปสู่ความขัดแย้งในการอยู่ร่วมกัน จึงต้องระวังในเรื่องการสื่อสาร เมื่อเข้ามาสู่พระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้ายกเลิกระบบวรรณะ มองคนทุกมีความเท่าเทียมกัน มีความเสมอภาค ใช้ระบบความสามัคคีของหมู่สงฆ์ 3  ประการ คือ " ระบบสังฆะ ระบบพระธรรมวินัย และระบบอาวุโส " ซึ่งเคารพกันตามอาวุโส ถือว่าเป็นการปกครองที่ดีที่สุด


ฉะนั้น ในโอกาสสุดท้ายได้มอบหนังสือ Common Buddhist Text ( CBT) พระไตรปิฎกฉบับสากล ให้กับพระนวกะไว้ศึกษาในพรรษา ถือว่าเป็นนวัตกรรมคัมภีร์ทางพระศาสนาที่สุดยอดที่สุด ซึ่งทั้งสามนิกาย คือ เถรวาท มหายาน วัชรยาน ร่วมกันจัดทำ โดยใช้กรอบของพระรัตนตรัยในการเดินเรื่อง ถือว่าเป็นจุดร่วมความเป็นเอกภาพคำสอนครั้งแรกของพระพุทธศาสนา และช่วงสุดท้ายได้นำพาพระนวกะภาวนาเพื่อสันติ เพราะวิปัสสนาเป็นเครื่องมือป้องกันความขัดแย้ง ด้วยการจัดการกับกิเลสของตนเอง ชนะตนเองมากกว่าไปชนะคนอื่น สารแห่งความสุขจะเกิดขึ้นขณะที่เราเจริญสติ ขออนุโมทนากับพระนวกะทุกรูปในการเดินทางสู่ทางธรรมน้อมนำคำสอนไปปฏิบัติ พร้อมทั้งกราบขอบพระคุณในความเมตตาของพระครูประกาศสมาธิคุณ เจ้าคณะแขวงคันนายาว เจ้าอาวาสวัดสุวรรณประสิทธิ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์กรรมฐานยกระดับคุณภาพชีวิตสร้างสันติภาพภายในให้เป็นคุณลักษณะของนิสิตยุคเอไอ: ความเป็นมาและสภาพปัญหา หลักการ อุดมการณ์ วิธีการ แผนยุทธศาสตร์ โครงการ อิทธิพลต่อสังคมไทย ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

บทนำ ในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทสำคัญในทุกมิติของชีวิต การพัฒนาคุณลักษณะของนิสิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสันติภ...