วันพุธที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2566

ผู้ว่าฯพิจิตรถวายการต้อนรับ คกก.ขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 บูรณาการหลัก "พอเพียง-หมู่บ้านยั่งยืน" มุ่งสร้างสังคมสันติสุข ลงพื้นที่ติดงานที่วัดหนองยาง



เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ณ วัดหนองยาง บ้านหนองยางเหนือ หมู่ที่ 13 ตำบลวังทรายพูน อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร คณะสงฆ์จากส่วนกลาง และคณะสงฆ์ในภาคเหนือ นำโดยพระพระเทพรัตนนายก เจ้าอาวาสวัดหริภุญชัยวรมหาวิหาร เจ้าคณะจังหวัดลำพูน ประธานคณะกรรมการตรวจเยี่ยมโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 หนเหนือ พร้อมคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงาน โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา "หมู่บ้านรักษาศีล 5" แผนยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566 จังหวัดพิจิตรเพื่อพิจารณา “บ้านหนองยางเหนือ" หมู่ที่ 13 ตำบลวังทรายพูน อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร” เป็นหมู่บ้านต้นแบบตามโครงการฯ ดังกล่าว



โดยมีนายพยนต์ อัศวพิชยนต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวต้อนรับ โครงการฯ ดังกล่าวคณะสงฆ์จังหวัดพิจิตร และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพิจิตรได้ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการสนับสนุนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อสร้างสังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน ตามแนวทางของพระพุทธศาสนาโดยให้ประชาชนดำรงตนยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักศีล 5 ในทุกพื้นที่ของจังหวัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มีนักเรียน สถานศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชน ร่วมกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมในวันธรรมสวนะ กิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยใช้หลักธรรมนำการพัฒนาองค์กรและการพัฒนาตน จึงได้นำเสนอ “บ้านหนองยางเหนือ หมู่ที่ 13 ตำบลวังทรายพูน อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร” เข้าร่วมโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขณะเดียวกันคณะสงฆ์ผู้พิจารณาหมู่บ้านต้นแบบ โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ได้เยี่ยมชมกิจกรรมที่ นักเรียน ประชาชน หน่วยงาน และวัด ใช้พื้นที่ร่วมกันจัดทำ เยี่ยมชมวีถีชีวิตของคนชาวบ้านหนองยางเหนือ สินค้าทางด้านการเกษตร การนำวัสดุท้องถิ่นมาจักสานเป็นภาชนะเครื่องใช้ในบ้าน ซึ่งมีพระครูพิมลวาปีพิทักษ์เจ้าอาวาสวัดหนองยางสนับสนุนสถานที่และต้อนรับคณะตรวจเยี่ยมของคณะสงฆ์ และผู้ร่วมกิจกรรม

จากนั้นคณะได้เดินทางไปยังศาลาการเปรียญเพื่อตรวจเยี่ยม และชมวีดีทัศน์จัดแสดงผลงาน ของหมู่บ้าน ซึ่งหมู่บ้านหนองยางเหนือเป็นหมู่บ้านสุจริตต้นแบบของอำเภอวังทรายพูน ตามโครงการหมู่บ้านช่อสะอาด โครงการหมู่บ้านสีขาว โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง/ชุมชนธรรม และกิจกรรมส่งเสริมการรักษาศีล 5 ของหมู่บ้าน และทุกคนในหมู่บ้านล้วนมีแต่ความรักสามัคคีปรองดองซึ่งกันและกัน

ขณะที่พระมหาบุญเลิศ ช่วยธานี,ศ.ดร. รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี  ในฐานะรขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5”  เปิดเผยว่า  กว่า  2 เดือนแล้ว ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 ชุดต่าง โดยการแต่งตั้งตามมติมหาเถรสมาคม ลงพื้นที่ติดตาม ตรวจเยี่ยมหมู่บ้านรักษาศีล 5  ต้นแบบ 77  แห่งในทุกจังหวัด จะสิ้นสุดภารกิจกันปลายเดือนกันยายนนี้ การเดินทางลงพื้นที่ของคณะกรรมการ แม้จะดูเหมือนไปประเมินเพื่อค้นหาวิธีการและผลของความสำเร็จในพื้นที่ต่างๆ แต่ก็เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า "ไปให้กำลังใจ" กันและกัน ของพระสงฆ์และคนที่ทำงาน ถึงกระนั้นก็มีมุมมองของผู้สงสัยที่ยังไต่ถามต่อการทำงานของโครงการนี้ว่าดีอย่างไร

ตอนที่อาตมาได้รับมอบหมายจากพระธรรมวชิรานุวัตร ประธานคณะกรรมการบริหารกลาง เริ่มต้นประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5  ก็พบคำถามนี้จากทีมงานของกระทรวงเหมือนกัน  - หมู่บ้านรักษาศีล 5  คืออะไร  หมู่บ้านรักษาศีล 5  ดีอย่างไร  หมู่บ้านรักษาศีล 5  คือการนำหลักศีล 5  มาช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านเกิดการอยู่เย็นเป็นสุขมากขึ้น การอยู่เย็น คืออยู่สุขสบายทั้งทางด้านครอบครัว ด้ายสุขภาพพลานามัย ด้านความมั่งคงด้านอาหารการกิน ด้านอื่นๆ

คำถามว่า ดีอย่างไร  กล่าวได้ว่า  ตั้งแต่มีโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5  พระสังฆาธิการ พระสงฆ์ที่เกี่ยวข้อง สามารถทำงานบริหารได้ดีมากขึ้น เพราะจะต้องทำโครงการ จะต้องบริหารโครงการ จะต้องประเมินโครงการ อันนี้การฝึกทักษะการบริหารให้คณะสงฆ์ไปในตัว  พระสงฆ์ทำงานแบบภาคีเครือข่ายชัดเจนมากขึ้น สังเกตได้จากที่มานั่งกันที่ประชุมเพื่อรับการตรวจเยี่ยม ถ้าไม่มีโครงการหมู่บ้านศีล 5 บ้าน วัด ราชการ  บวร จะมารวมกันทำกิจกรรมถึงขนาดนี้มั้ย เมื่อเทียบกับอย่างจัดงานประจำปี อย่างดีราชการก็มาร่วมประชุม ส่งตำรวจมาคุมงาน ส่ง อปพร.มาช่วยจราจร แต่จะมาพูดถึงชุมชนหมู่บ้านของเราได้ทำดี สร้างความดี สร้างคุณธรรมอะไรกันบ้างเห็นทีจะยาก

ทำให้เกิดแนวปฏิบัติศีล 5 ชัดเจนขึ้น ไปเก็บข้อมูลหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ศีล ข้อที่  3 กรณีปัญหาเด็กตั้งครรภ์วัยเรียน  ก่อนเข้าร่วมหมู่บ้านศีล  5  เฉลี่ยจะพบปีละ 8 คน พอเข้าร่วมโครงการ ลดลงตามลำดับ มันเกิดการขับเคลื่อนกันภายในหมู่บ้านที่จะให้ผ่านเกณฑ์ จนสุดท้ายผลการท้องวัยเรียนเหลือศูนย์ ศีล 5 ปฏิบัติแล้วดีจริง กรณีอื่นๆ ความสำเร็จที่ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้นมากมายในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ 

 พระสงฆ์ด้วยกันเองจากต่างคนต่างอยู่ เดี๋ยวนี้แท็กทีมกันทำงาน และทำแบบหัวใจพระโพธิสัตว์ด้วย เพราะจ่ายเองกันทั้งนั้น จะไปรถ จะไปเครื่อง จะนั่งรถไฟ จะไปรถส่วนตัว รับผิดชอบตัวเอง   ถามว่า ไปเพื่ออะไร   ก็เพื่อรณรงค์ให้คนปฏิบัติตามศีล 5  ที่เป็นกฎพื้นฐานของศาสนาพุทธ  

มาถึงวันนี้ กระทรวงมหาดไทยได้รับภาระร่วมสนองงานคณะสงฆ์ จัดทำแผนแนวปฏิบัติ ตัวชี้วัด และกิจกรรม(5 ตัวชี้วัดหลัก 20  ตัวชี้วัดย่อย 47  กิจกรรม)เพื่อใช้กลไกของกระทรวงทั้งท้องที่และท้องถิ่นช่วยกันประสานแผนบูรณาการกับคณะสงฆ์ขับเคลื่อนเพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ สร้างความปรองดอง สมานฉันท์ สันติสุข แน่นอนการทำงานแก้ปัญหาสังคม จะให้เห็นผลแบบฉับพลันทันใด เหมือนหลับแล้วตื่น ก็เป็นไปไม่ได้ ต้องรอคอยเวลาเพื่อรอผลที่จะผลิบาน ภารกิจของการขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5   ร่วมกันก่อการความดี  ร่วมกันสร้างศักดิ์ศรีความเป็นคน ร่วมกันแก้จนให้ชาวบ้าน ร่วมกันเสริมรากฐานให้พระศาสนา

พระมหาบุญเลิศ กล่าวด้วยว่า มีคำถามว่า สร้าง Soft Power จากหมู่บ้านรักษาศีล 5  ได้อย่างไร Soft Power ที่เกิดจากศีล 5   มี 2  ประการ ความดี  สร้างความดีให้เกิดในชุมชน จนกลายเป็นชุมชนแห่งคนดี มูลค่าของความดีจะเร่งให้คนอยากไปดู ไปเห็น ไปเอาเป็นแบบอย่าง ดูจากชุมชนห้วยต้มที่ลำพูน ความงาม ศีล 5  จะก่อให้เกิดการรังสรรค์อันงดงามของผู้คน  7  ประเภท งามสงบ งามสะอาด งามสุขภาพ

งามสัมพันธ์ งามวิทยา(การเรียนรู้) งามศิลปวัฒนธรรม งามกรุณา งามอาชีพ ผลของการที่ชุมชนใช้ศีล 5  เป็นกลไกให้เกิดวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน จะทำให้เกิด Soft Power ดังที่ได้กล่าวมา

ข้อมูลข่าวและที่มา https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230920192421116


@siampongnews ชุดจี้พร้อมแหนบกลัด #3พระอรหันต์ร้านต้นฉบับ ♬ Ready - Official Sound Studio

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...