วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2566

ปลัดมหาดไทยเยี่ยมชม "ศูนย์เรียนรู้"อารยเกษตร" ฐานพัฒนาที่ยั่งยืน แปลง "นางคำเพียร เสาวดี" ชัยภูมิ



ปลัดมหาดไทย เยี่ยมชม "ศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา แปลงนางคำเพียร เสาวดี" อำเภอเมืองชัยภูมิ พร้อมให้กำลังใจในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ความยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน  พร้อมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม "บ้านพลัง" หมู่บ้านยั่งยืนที่เต็มไปด้วย "พลังแห่งความดี" เน้นย้ำสมาชิกในหมู่บ้านช่วยกันดูแลลูกหลานให้ห่างไกลจากยาเสพติด  

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566   เวลา 11.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ รูปแบบ โคก หนอง นา แปลงนางคำเพียร เสาวดี หมู่ที่ 10 ตำบลนาฝาย อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ โดยมี นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมตรวจเยี่ยม



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในวันนี้ตนและคณะมีความดีใจและชื่นใจที่เห็นครอบครัวของพี่คำเพียร เสาวดี ผู้มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการน้อมนำแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ ด้วยการประยุกต์สู่โคก หนอง นา หรือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวคิดนี้ว่า "อารยเกษตร" อย่างเข้มแข็ง โดยอาศัยความอดทนในการปรับปรุงคุณภาพดิน ในการที่จะทำให้พื้นที่ของตนเองแค่ 3 ไร่ พอเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวทั้ง 4 ชีวิตให้มีความสุข โดยจุดเด่นของพื้นที่นี้ คือ ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำในหน้าแล้ง เพราะได้จัดทำขุดสระไว้อย่างดี ถือว่าพี่คำเพียร เสาวดี เป็นต้นแบบที่ดีของพี่น้องคนไทยทุกคนที่หวังที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน เพราะคำว่า "ยั่งยืน" ต้องสามารถมีอาหารการกินของเราเองตลอดทั้งปี พี่เขาก็ช่วยกันปลูกกล้วย ปลูกสิ่งที่กินได้ รวมทั้งตะไคร้ หัวข่า เลี้ยงปลาหลายชนิด ซึ่งก็ได้แนะนำให้มีการเลี้ยงกบเพิ่มเติมด้วย



"นอกจากนี้ในส่วนที่เป็นแหล่งน้ำที่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ ก็ยังสามารถทำเล้าไก่ เล้าเป็ด เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ กินไข่ได้ด้วย ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ จะทำให้ครัวเรือนพี่คำเพียร เสาวดี เป็นครัวเรือนต้นแบบที่สมบูรณ์ และสามารถรองรับให้พี่น้องที่สนใจมาศึกษาเรียนรู้ได้โดยไม่เก็บเงินค่าเข้าชม แล้วยังมีส้มตำจากผลผลิตพืชผักสวนครัว ผลไม้ในโคก หนอง นา เลี้ยงอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่กระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้นำในระดับพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เพราะเราพยายามทำให้เกิด "แหล่งอาหาร" ครบทุกครัวเรือน ทำให้ 14 ล้านครัวเรือน มีความมั่นคงด้านอาหารโดยการน้อมนำเอาแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" ทั้งนี้ ในส่วนของครัวเรือนที่มีที่ดิน มีพื้นที่ว่างจำนวนมากกว่า 1 - 2 ไร่ เราก็เชิญชวนให้ช่วยกันในการที่จะมาปรับปรุงพื้นที่ของตัวเอง เพื่อให้มีความสวยงาม มีครบทั้งพื้นที่ที่เป็นดอนและเป็นโคก เพื่อปลูกไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย หรือไม้ที่เป็นอาหาร ออกผล ออกใบ เป็นอาหารได้ และยังสร้างความร่มเย็นให้กับครอบครัวและพื้นที่ โดยสามารถใช้เงินจากการเก็บออมมาร่วมกันเชิญชวนสมาชิกในชุมชนหรือพรรคพวกเพื่อนฝูงร่วมกันลงแขกเอามื้อสามัคคีโดยไม่ต้องใช้งบราชการแต่สำหรับครัวเรือนที่ขัดสน ไม่มีงบประมาณ ก็สามารถแสดงความจำนงยื่นต่อที่ว่าการอำเภอ เพื่อให้นายอำเภอได้บูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย ลงแขกเอามื้อสามัคคี พัฒนาพื้นที่ของพี่น้องประชาชนให้เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืน มีกินมีใช้ในพื้นที่ของตนเองได้ตลอดทั้งปี" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา อย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อทำให้พี่น้องที่มีกำลังได้เห็นต้นแบบตัวอย่างที่ดีว่ามีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ร่มเย็น มีความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดชัยภูมิ ในฤดูแล้งก็มีปัญหาเรื่องน้ำ ดินแห้งผาก หญ้าเป็นสีน้ำตาล โดยหากพี่น้องประชาชนได้มาเรียนรู้ในพื้นที่แปลงโคก หนอง นา ของพี่คำเพียร เสาวดี จะทำให้ได้มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ให้มีความเขียวชอุ่มทั้งปี มีน้ำทั้งปี และสามารถเป็นแหล่งที่ทำให้ตัวเองมีอาหารการกิน มีความสุขได้ตลอดทั้งปี

"ผมขอยืนยันว่า ทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติ การที่พวกเราได้น้อมนำทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในชีวิตประจำวัน มาใช้ในชีวิตจริงของเรา จะทำให้พวกเรามีความสุขอย่างยั่งยืน และช่วยทำให้โลกใบนี้มีความร่มเย็นเป็นสุข ลดปัญหาโลกร้อนได้โดยแท้จริง ดังที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นำแนวคิดโครงการ โคก หนอง นา เป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เพื่อแชร์ความคิด วิถีเกษตรของไทย ในรูปแบบของการหันมาพึ่งพาตนเอง เพื่อเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นทางรอด เสริมสร้างความรู้ให้คนในโลก ได้มีอาชีพ เพิ่มรายได้ อย่างมีความสุข เป็นการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

@siampongnews มุ้งคอกเลี้ยง#ตั๊กแตน ♬ Tere Baad Nazar Nhi Aati Koi Manjil - Deepak Kurai

ด้าน นางคำเพียร เสาวดี กล่าวว่า ตนได้เข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา กรมการพัฒนาชุมชน เมื่อปี 2565 จำนวน 3 ไร่ โดยมีความตั้งใจในการเข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และเติมเต็มความสุขให้ครอบครัว สืบเนื่องจากตนเองมีความชอบในการทำการเกษตร ชอบเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยภายในแปลงได้มีการปลูกไม้ผล พืชสมุนไพร ได้แก่ กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ กล้วย ฝรั่ง และมะพร้าวน้ำหอม เต็มพื้นที่ทั่วบริเวณคันนาและตามเเนวคลองไส้ไก่ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิด "ความสุขที่ได้ทำ ได้ใช้เวลาว่างทำในสิ่งที่รัก ช่วยลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว และเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับผู้สนใจได้เยี่ยมชม”

ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม "บ้านพลัง" หมู่บ้านยั่งยืนห่างไกลจากยาเสพติด

เวลา 11.30 น. ที่บ้านพลัง หมู่ที่ 10 ตำบลนาฝาย อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ตรวจติดตามการดำเนินงานหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) โดยนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมลงพื้นที่ ซึ่งได้รับเมตตาจาก พระครูสุนทรกิตติคุณ เจ้าคณะตำบลนาฝาย (ธ) เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านพลัง ร่วมต้อนรับ โดยมี นายวรศิษย์ พุฒจีบ นายอำเภอเมืองชัยภูมิ พันตำรวจเอก สรวิศ มาอินทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาฝาย ผู้นำท้องที่ พี่น้องประชาชน คณะครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านช่อระกา รวมกว่า 200 คน ให้การต้อนรับและร่วมนำเสนอผลงาน

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เยี่ยมชมผลผลิต "สวนนี้มีรักปลูกผักพอเพียง" และผลผลิตทางการเกษตร เช่น ไข่เป็ด ไข่นกกระทา อาหารพื้นถิ่น หม่ำเนื้อ แหนม พืชผักสวนครัว พร้อมให้กำลังใจนักเรียนโรงเรียนบ้านช่อระกา ที่นำเสนอหลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งเป็นหลักสูตรที่คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือและถ่ายทอดภูมิปัญญาให้กับเยาวชน ทั้งการถนอมอาหาร "หม่ำ" หรือ "หม้ำ" มีลักษณะเหมือน "ไส้กรอก" แต่มีเครื่องปรุงที่สำคัญ คือ ตับสับ ม้ามสับ เนื้อสับ ปรุงเครื่องแล้วยัดใส่ในถุงกระเพาะหมู แล้วเก็บไว้กินกันเป็นแรมเดือน ถือเป็นอาหารประเภทไส้กรอกของแท้พื้นเมืองของคนอีสาน จึงมีชื่อเรียกตามภาษาพื้นเมืองขึ้นมาว่า "หม่ำ" อันเกิดจากภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวอีสานในการใช้ประโยชน์จากเนื้อสัตว์อย่างคุ้มค่า และหม่ำยังเป็นการเก็บรักษาอาหารไว้กินนาน ๆ ซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งที่เห็นชัดของอาหารพื้นบ้านทางอีสาน คือ มักเป็นอาหารที่ผ่านการหมักดองเพื่อเก็บถนอมอาหาร เช่น ปลาแดก ปลาส้ม เป็นต้น เพียงแต่ "หม่ำ" เป็นวิธีที่ต้องผึ่งแดดและใช้เครื่องในเป็นส่วนผสม รวมถึงการชมสาธิตการตัดผม การทำดอกไม้จันทน์ และพวงหรีดดอกไม้จันทน์ อีกด้วย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า "บ้านพลัง" เป็นหมู่บ้านที่เต็มไปด้วย "พลังแห่งความดี" ดูแลครอบครัวด้วยความรัก ความอบอุ่น ดูแลลูกหลานให้ห่างไกลจากยาเสพติด จึงเป็นที่มาของการตรวจเยี่ยม พบปะ และให้กำลังใจผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พี่น้องประชาชน ตลอดจนลูก ๆ นักเรียนในวันนี้ 

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โครงสร้างนิยายเรื่อง "สันติที่รัก"

โครงสร้างนิยายเรื่อง "สันติที่รัก" 1. บทนำ เปิดเรื่อง : สันติสุข ชายหนุ่มนักเขียนนิยายธรรมะที่ต้องการค้นหามิติใหม่ของการเล่าเรื่อง...