วันอังคารที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566

"เศรษฐา"พร้อมภริยาถึงสหรัฐแล้ว! ร่วมประชุมยูเอ็นเสนอแนวพัฒนาที่ยั่งยืน



ปลัดมหาดไทยจับมือผู้แทน UNDP ฝึกอบรมหลักสูตร "เจาะลึก SDGs (Deep Drive SDG)" ย้ำ "มุ่งเป็นหุ้นส่วนสำคัญ (Partnertship) ของการเป็นพลเมืองโลก ด้วยการ Action Now ทำให้พื้นที่ทุกตารางนิ้วของประเทศไทยเป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืน"

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 02.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พร้อมด้วยภริยา พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน และคณะ ประกอบด้วย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ออกเดินทางด้วยสายการบินไทย เดินทางถึงสนามบินจอห์นเอฟเคเนดี นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA 78) ระหว่างวันที่ 19 - 23 ก.ย.นี้ โดยเว็บไซต์ได้เผยแพร่ภาพดังกล่าวที่ https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/11176

โดยภารกิจแรกจะเริ่มเวลา 11:00 น. โดยเอกอัครราชทูตประจำนครนิวยอร์ก จะเข้าเสนอรายงานให้กับนายกรัฐมนตรีและคณะหลังจากนั้นจะเข้าร่วมประชุม จากนั้น นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit) และกล่าวถ้อยแถลงในลำดับที่ 10 ในช่วง Leaders ‘ Dialogue6 “Mobilizing Finace and investments and the means of implementation for SDGs achievement โดยจะกล่าวถ้อยแถลง 3 นาที

@siampongnews ชุดจี้พร้อมแหนบกลัด #3พระอรหันต์ร้านต้นฉบับ ♬ Ready - Official Sound Studio

ปลัดมหาดไทยจับมือผู้แทน UNDP ฝึกอบรมหลักสูตร "เจาะลึก SDGs (Deep Drive SDG)"  

และวัน (19 ก.ย. 66) เวลา 9.00 น. ที่ห้อง War room ชั้น 2 กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเจาะลึก SDG (Deep Drive SDG) ร่วมกับนาย เรโน เมแย (Mr.Renaud Meyer) ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Programme : UNDP) ร่วมทำความเข้าใจประเด็นหลักการและวิธีนำไปใช้ของ SDGs แลกเปลี่ยนมุมมองและแบ่งปันความคิดกับผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ที่ปรึกษาด้านปกครอง ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัดทุกจังหวัด/หัวหน้าสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด หัวหน้าหน่วยงานระดับกอง/สำนัก/ศูนย์/สถาบันสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้เข้าร่วมการประชุมในส่วนที่จังหวัดร่วมเชิญ และผู้สนใจในส่วนที่ UNDP เชิญ ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นผู้มีส่วนร่วมกับการทำสิ่งที่ดี Change for Good ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยและสังคมโลก โดยเฉพาะการได้เป็นส่วนหนึ่งในการปลุกเร้า "Passion" ของคนมหาดไทย ที่ได้ขับเคลื่อนนำประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 17 Goals) พร้อมกันทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งการทำงานร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Programme : UNDP) เรามีเป้าหมายในการร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ (Localization) เพื่อจะได้เปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนมีโอกาสที่จะฉุกคิดและช่วยกันในการที่จะทำให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือ การเป็นหุ้นส่วน (Partnership) นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ เพื่อให้ทุกท่านได้มั่นใจว่าเราจะทำให้มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ได้ใช้ชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะเรามีงานตามภารกิจ (Function) การทำงานที่สำคัญ คือ การ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข"  เพื่อการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

"รูปแบบของการทำงานของกระทรวงมหาดไทยในการนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) คือ เราไม่ใช่เป็นคนทำให้ แต่ "เราจะเป็นหุ้นส่วน (Partnership)" ที่จะไปช่วยสนับสนุนทำให้เกิดการรวมกลุ่ม รวมพลัง และลงมือทำด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การที่พี่น้องประชาชนทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการลงมือทำด้วยกัน ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นปลุกเร้า เสริมสร้างสัมพันธ์เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นั้น กระทรวงมหาดไทยนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (UN) จึงได้ประกาศเจตนารมณ์ ร่วมกันลงนามบันทึกสัญญา (MOU) ภายใต้แนวคิด "76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน" โลกนี้เพื่อเรา ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาเราได้ร่วมกันขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยมีหุ้นส่วนทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย อันประกอบด้วย ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ที่อยู่ในพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัด ซึ่งเราได้ขับเคลื่อนโครงการจังหวัดบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้นำในการขับเคลื่อน นำนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปร่วมกับพี่น้องประชาชนเพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ" นายสุทธิพงษ์ฯ  กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า คำว่า "บูรณาการอย่างยั่งยืน"  คือ การบูรณาการ "คน" โดยการสร้างทีมให้เกิดการรวมกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง พร้อมกับการสร้างทีมจิตอาสาที่เป็นผู้ช่วยร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด คือ ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และบูรณาการ "งาน"  โดยการนำเอางานทุกงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย รวมงานทุกงานของทุกกระทรวง และทุกหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมถึง UN เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี "โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และ "ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน" การสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย การสร้างความมั่นคงในเครื่องนุ่งห่ม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงการคัดแยกขยะครัวเรือน จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ขับเคลื่อนให้ทุกครัวเรือนจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเสียสู่ชั้นบรรยากาศ

"ขอขอบคุณคุณกีต้าร์ ซับบระวาล (Mr.Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ที่ทำให้พวกเรากระทรวงมหาดไทยและทุกจังหวัดได้มีความภาคภูมิใจในการนำเสนอ ในเวที SDGs Summit 2023 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งท่านได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศ โดยกล่าวชื่นชมกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะเรื่องการคัดแยกขยะในประเทศไทย 14 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ได้ถึง 550,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และการรับรองการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ใน 4 จังหวัด นำร่อง เป็นเงินจำนวน 21,000 บาท ที่ถูกซื้อโดยธนาคารเอกชนของประเทศไทย เป็นจุดเริ่มต้นและก้าวสำคัญที่ UN และกระทรวงมหาดไทยจะได้ดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และขยายผลไปพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งพวกเราชาวมหาดไทยขอยืนยันว่าเราทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็น Partnership ที่ดีต่อไปและเรามีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งว่า 14 ล้านครัวเรือนในประเทศไทย เป็นพลเมืองดีของโลกที่จะช่วยให้โลกของเรานั้นได้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ UNDP ได้จัดฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับ SDGs เพื่อทำความเข้าใจในกรอบและความสำคัญของเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนในทางสากล ตลอดจนการประยุกต์และเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับชีวิตประจำวันให้มีความชัดเจน เป็นที่เข้าใจลึกซึ้งเพิ่มมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และที่สำคัญคือการสร้างความตระหนักรู้ให้ลูกหลานเยาวชนคนไทยที่จะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ จะได้เป็นทายาทของคนในชาติที่มีคุณค่าสำคัญ และเป็นทายาทของโลกที่เป็นผู้ที่มีความรักและหวงแหนโลกใบเดียวที่สวยงามนี้ของเรา ให้ดำรงคงอยู่เป็นโลกของมวลมนุษยชาติในอนาคตด้วยความรับผิดชอบร่วมกัน ขอให้ทุกท่านใช้เวลาอันมีค่านี้เก็บเกี่ยวเอาความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และหวังว่าพวกเราจะไปดำเนินการลงมือทำในทันที เพราะเราไม่มีเวลาสำหรับการผัดผ่อน เราต้อง "Action Now"  เพื่อนำพาประเทศไทยและโลกของเราให้อยู่คู่กับลูกหลานอย่างยั่งยืน

Mr. Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กล่าวว่า นับเป็นความน่ายินดีที่ UNDP และกระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันมาตลอด ซึ่งโครงการอบรมในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม ผลการดำเนินงานของประเทศต่าง ๆ ซึ่งในวันนี้เราได้เรียนเชิญวิทยากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อมาพูดคุยและสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประการที่ 1) จะเป็นกรอบของการทำงานของโลกที่พูดถึงหลักการความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การมีอากาศหายใจ ซึ่งเป็นการนำพาความต้องการของทุกคน เพื่อมาพูดคุยหารือทำความเข้าใจในวาระตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเด็นที่ 2) เนื่องจากความซับซ้อนและความเร่งด่วนของปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีความหลากหลายในระดับพื้นที่ เราจึงต้องมีเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความซับซ้อน โดยกลไกของกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นการอบรมในวันนี้ก็จะช่วยให้ทุกท่านเข้าใจในแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงระบบโดยใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมายเป็นเครื่องมือมากยิ่งขึ้น ประเด็นที่ 3) จากการทำงานของทาง UNDP ในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งได้เห็นการดำเนินการไม่ว่าจะเป็นการจัดการขยะ การรักษาความสะอาด การจัดการน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง หรือการจัดการฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำมารายงานเป็นข้อมูลในการประเมินวัดผล รวมไปถึงความคืบหน้าในการดำเนินการ และผลการดำเนินการ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างจังหวัดและองค์กรได้ และ ประการที่ 5) สิ่งสำคัญในการประสบความสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้แต่ละภาคส่วนดำเนินการผ่านการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยตนเองและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนร่วมกัน โดยมี SDG 17 เป้าหมาย เป็นกรอบในการดำเนินการ เพื่อนำไปประยุกต์ปรับใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้จังหวัดอย่างยั่งยืน

"ขอขอบคุณปลัดกระทรวงมหาดไทยและผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยทุกท่าน รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานครที่ทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนและโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญในการที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศผู้นำของการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ตั้งแต่ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ไปสู่ระดับโลก ซึ่งความมุ่งมั่นของทุกท่านจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทย" Mr. Renaud Meyer กล่าวในช่วงท้าย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"พิชิต" ตรวจเยี่ยม "มจร" หารือจัดงานวิสาขบูชานานาชาติ

เมื่อวันที่  9 พฤษภาคม 2567 หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แบ่งงานรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 ท่านเป็นที่เรีย...