"มจร" นำองค์ความรู้พุทธจิตวิทยา สร้างเครือข่ายพลังครอบครัวเป็นสุข มีความเข้มแข็งทางใจ ร่วมปลูกจิตอาสาเยาวชน สานวิถีวัฒนธรรมเมืองมรดกโลกอยุธยา
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 รศ.ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย อาจารย์ประจำหลักสูตรฯ สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้จัดสรรงบประมาณภายใต้โครงการวิจัย เรื่อง “พุทธจิตวิทยาวิถีชีวิตใหม่: กลไกการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจของครอบครัวไทย” ร่วมกับโครงการวิจัยเรื่อง“พื้นที่สร้างสรรค์คนสามวัย: การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมพื้นที่สร้างสรรค์ทุนวัฒนธรรมทางสังคมผ่านคนสามวัย” ประจำปีงบประมาณ 2566 ร่วมดำเนินการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม เสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจ และส่งเสริมทุนวัฒนธรรมของคนในพื้นที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แผนกิจกรรมดำเนินการภายใต้โครงการ “โครงการเสริมสร้างพลังความเข้มแข็งทางใจสำหรับครอบครัว” ภายใต้กรอบแนวคิด“สานพลังใจเชื่อมสายใยสัมพันธ์ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเยาวชนและครอบครัวเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวและเสริมสร้างพลังความเข้มแข็งทางใจสำหรับครอบครัว โดยมีเกณฑ์รับสมัครตัวแทนครอบครัวจากชุมชนพื้นที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองที่ดูแลนักเรียนใกล้ชิด มาทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียน ที่อโยธาราวิลเลจ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในระหว่างวันที่ 10 – 11 มิถุนายน 2566 และได้จัดโครงการต่อเนื่องได้แก่ “โครงการสื่อสารสร้างสรรค์ เสริมสร้างพลังเยาวชน” และ “โครงการสื่อสารเชิงบวก เสริมพลังใจดี ครอบครัวเป็นสุข” ในระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 – 15 กันยายน 2566 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะการสื่อสารเชิงบวก เสริมสร้างพลังใจครอบครัว และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือเป็นอย่างดี จากเครือข่ายโรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีโรงเรียนนำร่องได้แก่ โรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ โรงเรียนวัดพุทไธศวรรย์ และโรงเรียนพรพินิตพิทยาคาร
โดยกระบวนการดำเนินการโครงการมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ
@siampongnews #มจร นำองค์ความรู้ #พุทธจิตวิทยา สร้างเครือข่ายพลังครอบครัวเป็นสุข สานวิถีวัฒนธรรมเมือง #มรดกโลกอยุธยา #ข่าวtiktok #tiktokshopครีเอเตอร์ ♬ เสียงต้นฉบับ - สยามพงษ์นิวส์
1) นำองค์ความรู้ทางพุทธจิตวิทยาสู่คนทุกช่วงวัย ชุมชนพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีเยาวชนเป็นเป้าหมายหลักของการเชื่อมใจคนทุกวัย เริ่มตั้งแต่ครอบครัวสู่ชุมชน
2) กระบวนการเรียนรู้ Learning by Doing ฝึกทักษะการเรียนรู้เชิงบูรณาการให้แก่ นิสิต นักศึกษาระดับปริญญาโท และ ปริญญาเอกสาขาวิชาพุทธจิตวิทยา ลงมือปฏิบัติเรียนรู้การทำวิจัยเพื่อรับใช้สังคมสอดคล้องพันธกิจมหาวิทยาลัยและบูรณาการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาจิตและปัญญา ตลอดจนพัฒนาจิตบริการเกื้อกูลสังคม
3) สร้างเครือข่ายความรับผิดชอบสังคมร่วมมือกับองค์กรสาธารณกุศลต่างๆ เพื่อสร้างเสริมความเข็มแข็งทางใจสำหรับเด็กและเยาวชน สร้างพลังใจในครอบครัว สู่ชุมชนเป็นสุข ตลอดจนสร้างเครือข่ายทุนวัฒนธรรมทางสังคม
ทางคณะวิจัยฯได้ร่วมออกแบบกิจกรรมดี ๆ ภายใต้โครงการดังกล่าว อาทิเช่น กิจกรรมสานพลังใจ ให้ครอบครัวเข้มแข็ง กิจกรรมสานสัมพันธ์เสริมทักษะการสื่อสารทางสังคม กิจกรรมปลดล๊อคพลังภายใจ กิจกรรมสื่อสารสร้างสรรค์เชิงบวก เป็นต้น กิจกรรมดังกล่าวสามารถนำไปสู่การเชื่อมใจครอบครัวและชุมชน เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชน สร้างชุมชนเอื้อเฟื้อ เกื้อกูล อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้
โดยเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 วันปิดโครงการฯ ที่ผ่านมา ทางคณะวิจัยฯ ได้นำเยาวชนในโครงการร่วมทำกิจกรรมที่วัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งมีฐานะเป็นพระอารามหลวง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือว่าเป็นวัดเก่าในอยุธยาเมืองมรดกโลก มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นพระอารามหลวงที่สร้างขึ้นในยุคสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี การทำกิจกรรมครั้งนี้ได้จัดร่วมกับผู้นำชุมชน ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูนักเรียนในพื้นที่อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา ร่วมสืบสานมรดกวัฒนธรรมชุมชน จัดพิธีบวงสรวง และศิลปะการต่อสู้ด้วยดาบ 2 มือ เพื่อปลูกจิตสำนึกเยาวชนระลึกถึงสมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม 5 พระองค์ พระราชานุสาวรีย์ 5 พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงพระคุณอันยิ่งใหญ่แก่แผ่นดินไทย ได้แก่ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทางวัดได้จัดสร้างไว้เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้มาสักการะ และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแต่ละพระองค์
อีกทั้งได้นำเยาวชนทำจิตอาสาเดินเก็บขยะบริเวณโบราณสถาน วัดพุทไธศวรรย์ และทางเดินริมแม่น้ำ เพื่อปลูกจิตสำนึกสาธารณะให้เยาวชนเกิดการหวงแหน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโบราณสถาน ให้มีความสะอาด ร่มรื่น รมณีย์ ตลอดจนปลูกวินัยในตัวเอง มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ผ่านกิจกรรมเก็บขยะร่วมกัน
ผลของการขับเคลื่อนกลไกการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจของครอบครัวไทย ในการพัฒนาและส่งเสริมความเข้มแข็งทางด้านจิตใจตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคลจนนำไปสู่ระดับครอบครัวและระดับสังคม ได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือชุมชนชาวสำเภาล่ม นายก อบต.สำเภาล่ม รองนายกอบต. ผู้ใหญ่บ้าน ประธานชมรมต่าง ๆ ในชุมชน ประชาชน ครู นักเรียน เข้าร่วมทำกิจกรรมโครงการวิจัยกับทีมงานวิจัยมีพลังจิตอาสาทำดีเพื่อสังคม นำโดยนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาโทและนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา ร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับคนทุกช่วงวัย เพื่อนำองค์ความรู้ทางพุทธจิตวิทยาประยุกต์ใช้เสริมสร้างพลังใจดี ครอบครัวเป็นสุข ชุมชนเข้มแข็ง
นอกจากนี้แล้วได้รับการสนับสนุนภาคีเครือข่ายความร่วมมือองค์กรการกุศลเพื่อสร้างความรับผิดชอบทางสังคมร่วมกัน ได้แก่ มูลนิธิดร.เทียม โชควัฒนา โครงการซื่อสัตย์เพื่อชาติ บริษัทในเครือสหพัฒน์ฯกรุ๊ป โดยคุณบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์แนชั่นแนลจำกัด (มหาชน) สนับสนุนนมและเครื่องใช้อุปโภค บริโภค แจกโรงเรียนและครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการ
สรุปผลดำเนินการโครงการดังกล่าว ทำให้เยาวชนเกิดพลังใจที่เข้มแข็ง มีสัมพันธ์ที่ดีในการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว ชุมชนเกิดการรับรู้พลังความร่วมมือในการสร้างเยาวชนให้มีพลังใจเข้มแข็ง มีจิตสำนึกดีเพื่อสาธารณะ สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการสามารถนำความรู้จากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ด้านสาธารณะ ด้านการนำองค์ความรู้ไปสังเคราะห์เป็นโยบายหรือทางเลือกเชิงนโยบายท้องถิ่น โดยสามารถประยุกต์ใช้กระบวนการ วิธีการการเสริมสร้างพลังความเข้มแข็งทางจิตใจของคนในชุมชน แล้วนำนโยบายนั้นไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์ในวงกว้างเพื่อประโยชน์ด้านพัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา พัฒนาสังคม และพัฒนาชุมชนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น