จังหวัดหนองคาย น้อมนำพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ขับเคลื่อนเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชนด้วยโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)
วันที่ 3 กันยายน 2566 นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า จังหวัดหนองคาย ได้ขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา อย่างต่อเนื่อง มีตัวอย่างการขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ ในพื้นที่อำเภอเมืองหนองคาย ภายใต้การนำของนายประยูร อรัญรุท นายอำเภอเมืองหนองคาย ได้เป็นผู้นำทีมทางการ อันประกอบไปด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ตลอดจนองคาพยพของภาครัฐ ทั้งท้องที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทีมจิตอาสา อันได้แก่ ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคผู้นำวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ลงพื้นที่ บ้านมะเขือ หมู่ที่ 11 ตำบลพระธาตุบังพวน บ้านหนาด หมู่ที่ 1 ตำบลโพธิ์ชัย และบ้านสร้างอ่าง หมู่ที่ 7 ตำบลโพนสว่าง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย โดยกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่า “ต้องพัฒนาพี่น้องประชาชนเพื่อให้พี่น้องประชาชนร่วมพัฒนาพื้นที่เพื่อให้พื้นที่ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ต้องการให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และเจตนารมณ์ที่จังหวัดหนองคายได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์กับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ที่มุ่งทำให้พื้นที่ได้รับการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN)
นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของพวกเราชาวมหาดไทย คือ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการน้อมนำแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ยังผลให้ประชาชนมีความมั่นคงและมีความสุข ดังที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานพระอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนโครงการ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ตามพระดำริ ดังนั้น ขอให้พวกเราทุกคนช่วยกันขับเคลื่อนงานให้สมบูรณ์ และเพิ่มพูนเนื้องานในทุกมิติให้เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาพี่น้องประชาชนในทุกด้านอย่างถ่องแท้ ดึงความเชื่อมั่นศรัทธาต่อสถาบันนักปกครองให้อยู่ในหัวใจพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งทางผู้บริหารจะคอยติดตามและเป็นกำลังใจให้นายอำเภอทุกคนได้ช่วยกันทำสิ่งที่ดีเพื่อพี่น้องประชาชนด้วยกัน และช่วยกันรายงาน (Report) ในสิ่งที่ได้ทำหน้าที่ “ราชสีห์ผู้ภักดีของแผ่นดิน” ที่พร้อมทุ่มเทแรงกายแรงใจ ทำสิ่งที่ดี "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งแม้ว่าพวกเราจะมีภาระหน้าที่ส่วนตัว มีครอบครัว หรือมีเวลาในการทำงานไม่เท่ากัน แต่หากเราทุกคน "มีใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว" ก็จะสามารถหลอมรวมภาคีเครือข่ายให้เป็นกำลังสำคัญที่จะเสียสละกายใจทุ่มเทตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้กับประชาชนและประเทศชาติได้
นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ของจังหวัดหนองคายนั้น ยังได้ดำเนินการตามเกณฑ์ของการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืนทั้ง 5 มิติ ซึ่งประกอบไปด้วย 1) มิติด้านสังคม อาทิ การส่งเสริมบทบาทสตรี การดูแลผู้สูงอายุ ผู้เปราะบาง การดูแลสุขภาพ การศึกษาผู้ด้อยโอกาส การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและอนามัย การเข้าถึงแหล่งน้ำ การไฟฟ้าในหมู่บ้าน การคมนาคมในหมู่บ้าน 2) มิติด้านเศรษฐกิจ มีการส่งเสริมกลุ่มอาชีพสานเสื่อ ทอผ้า มีการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การทำโคก หนอง นา การส่งเสริมให้นักเรียนใส่ผ้าไทยลายขอพระราชทานทุกวันศุกร์ 3) มิติด้านสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการขยะ การปลูกป่าในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ปลูกไม้ผลเป็นแหล่งอาหารของชุมชน 4) มิติด้านสันติภาพและสถาบัน การส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนา การจัดชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน การแก้ไขปัญหายาเสพติด การไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาท จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมหมู่บ้าน และ 5) มิติด้านหุ้นส่วนและการพัฒนา มีการจัดภาคีเครือข่ายด้วยการขับเคลื่อนด้วยพลัง “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน หรือศูนย์ฝึกอบรมและศูนย์การเรียนรู้ เป็นต้น
@siampongnews ผ้ามุ้ง#ผ้ามุ้งกลดพระธุดงค์ ♬ Ready - Official Sound Studio
ด้านนายประยูร อรัญรุท นายอำเภอเมืองหนองคาย กล่าวว่า ตนได้นำทีมปลัดอำเภอลงพื้นที่และร่วมกันประชุมชี้แจงและสร้างการรับรู้เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านทราบถึงแนวทางดำเนินการโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา อันประกอบไปด้วย บ้านมะเขือ หมู่ที่ 11 ตำบลพระธาตุบังพวน บ้านหนาด หมู่ที่ 1 ตำบลโพธิ์ชัย และบ้านสร้างอ่าง หมู่ที่ 7 ตำบลโพนสว่าง รวมทั้งสิ้น 3 หมู่บ้าน ในอำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย พบว่าได้ดำเนินการตามเกณฑ์พื้นฐานหมู่บ้านยั่งยืนทั้ง 7 ข้อ โดยมีการบูรณาการและประสานแผนของส่วนราชการระดับพื้นที่ ซึ่งประกอบไปด้วย 1) ด้านที่อยู่อาศัยมั่นคงแข็งแรง ได้ซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้ที่ไม่มั่นคงหลังคารั่วเมื่อฝนตก และสำรวจครัวเรือนที่มีบ้านไม่มั่นคง ห้องสุขาไม่ถูกสุขลักษณะ เพื่อช่วยเหลือในขั้นตอนต่อไป 2) ด้านความมั่นคงทางอาหาร ได้ส่งเสริมโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน และทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน พร้อมทั้งการดำเนินการ โคก หนอง นา และการทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งมีพัฒนากรชุมชน เกษตรอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงานดังกล่าว 3) ด้านความสะอาด ได้ส่งเสริมการทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนครบทุกครัวเรือน การจัดหมู่บ้านให้สะอาด การจัดการขยะชุมชน ส่งเสริมการทำธนาคารขยะ 4) ด้านความสามัคคี มีการแบ่งเป็นคุ้มบ้านเพื่อดูแลช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน 5) ด้านความร่วมมือ มีการจัดจิตอาสาพัฒนา และช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้อย่างต่อเนื่อง และในแต่ละคุ้มมีการ “ร่วมพูดคุย ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์” ปรึกษาหารือกันอย่างสม่ำเสมอ 6) การปฏิบัติศาสนกิจประเพณี และวัฒนธรรมหมู่บ้าน มีการทำบุญตักบาตรทุกวันพระ และจัดประเพณีฮิตสิบสองคลองสิบสี่ นอกจากนั้นยังให้โรงเรียนเข้าโครงการ “โรงเรียนวิถีพุทธ” และนักเรียนมีการสวมใส่ผ้าไทยลายขอพระราชทานในทุกวันศุกร์ และส่งเสริมการเป็นหมู่บ้านรักษาศีลห้า หรือหมู่บ้านศีลธรรม และ 7) ความมั่นคงปลอดภัย มีการจัดฝึกอบรมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านในการเข้าเวรยาม และมีอาสาตำรวจ และมีการรณรงค์ป้องกันยาเสพติด การตัดแต่งกิ่งไม้รายทางที่อาจก่อให้เกิดอันตรายเพื่อให้ถนนมีความปลอดภัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น