วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2566

"สมเด็จธงชัย"ประธานพิธีพุทธาภิเษก พระสุก (ยโสธร) รุ่น 1 วาระที่ 1 "สุดยอดวัตถุมงคลเมืองยโสธร" สมทบทุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวง



"สุดยอดวัตถุมงคลเมืองยโสธร" จังหวัดยโสธรจัดสร้างวัตถุมงคล "พระสุก (ยโสธร)" สมทบทุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย สนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และบำรุงรักษา "ศาลาที่ประทับ" เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566  นายวิรุจ วิชัยบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า จังหวัดยโสธรน้อมนำพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินงาน "โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย" ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 พร้อมพระราชทานทุนปฐมฤกษ์ส่วนพระองค์เป็นทุนเริ่มแรก เพื่อสนับสนุนพระภิกษุและสามเณรให้ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัย พระปริยัติธรรมให้ลึกซึ้งแตกฉาน มีโอกาสศึกษาพระพุทธศาสนาขั้นสูงจากสถาบันพุทธศาสนาในประเทศ และนำไปเผยแผ่เพื่อเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจและความคิดในการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนิกชน โดยผู้รับทุนจะต้องเป็นพระภิกษุหรือสามเณรที่มีสัญชาติไทยมีศีลาจารวัตรที่งดงามตามพระธรรมวินัย มีความประพฤติเรียบร้อย มีวิริยะอุตสาหะในการศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จหลักสูตร และมีจิตอาสา โดยต้องผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ของโครงการฯ และของสถานศึกษาที่ศึกษาอยู่ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1. ทุนศึกษาบาลีชั้นสูง (แบบต่อเนื่อง) เปรียญธรรม 6 - 9 ประโยค 2. ทุนระดับอุดมศึกษา (แบบต่อเนื่อง) ด้านพุทธศาสตร์ ระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก 3. ทุนหลักสูตรอบรมพระนักเทศน์ 4. ทุนหลักสูตรอบรมพระวิปัสสนาจารย์ และ 5. ทุนหลักสูตรอบรมพระธรรมจาริก นอกจากนี้ชาวจังหวัดยโสธรยังน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎร และปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดยโสธรในหลายวาระ เช่น การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนราษฎรอำเภอยโสธร (อำเภอเมืองยโสธรในปัจจุบัน) เมื่อปี 2498 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธียกช่อฟ้า และตัดลูกนิมิตอุโบสถวัดศรีวีรวงศาราม (ธ) บ้านราชมุนี ตำบลโนนทราย อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2522 นำมาซึ่งความเป็นมิ่งมงคลและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของชาวจังหวัดยโสธรสืบเนื่องมาตราบถึงปัจจุบัน



นายวิรุจ วิชัยบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวว่า เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ จังหวัดยโสธรจึงได้จัดสร้างพระสุก (ยโสธร) รุ่น 1 ขึ้น เพื่อสมทบทุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวง สำหรับพระสงฆ์ไทย และปรับปรุงศาลาที่ประทับ อนุสรณ์สถานอันเป็นสัญลักษณ์แห่งสถานที่เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชนจังหวัดยโสธร โดยเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดพิธีพุทธาภิเษก พระสุก (ยโสธร) รุ่น 1 วาระที่ 1 ขึ้น ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (เจ้าประคุณสมเด็จธงชัย) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และได้รับเกียรติจาก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ โดยมี ผู้บริหารจังหวัดยโสธร หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนผู้มีจิตศรัทธา เข้าร่วมพิธี เป็นจำนวนมาก

"บรรยากาศการจัดพิธีพุทธาภิเษกฯ เป็นไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานในพิธี ได้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยและถวายแป้งเจิมแด่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เพื่อเจิมเทียนชัย เทียนมหามงคล  แล้วจุดเทียนชัย เทียนมหามงคล พระสงฆ์ 9 รูป สวดคาถาจุดเทียนชัย จากนั้น เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เข้านั่งปรกอธิษฐานจิต ประธานในพิธีจุดเทียนน้ำพระพุทธมนต์ เจ้าหน้าที่อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์ชุมนุมเทวดา เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้ว ประธานในพิธีถวายใบพลูและแป้งเจิมแด่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เพื่อเจิมใบพลู แล้วดับเทียนชัย  เสร็จแล้วโปรยดอกไม้ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ในมณฑลพิธี ประธานในพิธีและผู้ร่วมพิธีถวายจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์  อนุโมทนา กรวดน้ำ-รับพร เป็นอันเสร็จพิธี" นายวิรุจฯ กล่าวถึงบรรยากาศพิธี

นายวิรุจ วิชัยบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวถึงตำนานประวัติพระสุก ซึ่งได้รับการเล่าขานไว้ว่า พระสุก เป็นพระประจำองค์ธิดาใหญ่ ของพระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งล้านช้าง โดยได้สร้างและตั้งชื่อพระพุทธรูปตามพระนามของพระธิดาของพระองค์ทั้ง 3 ว่า พระสุก พระเสริม และพระไส โดยระหว่างการสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ อยู่ ๆ ก็มีชีปะขาวตนหนึ่งมาขอช่วยหลวงตากับสามเณรสูบเตาหลอม โดยชาวบ้านที่มาถวายเพลต่างเห็นว่ามีชีปะขาวหลายตนมาช่วย แต่หลวงตามองลงไปเห็นชีปะขาวเพียงตนเดียว และเมื่อพากันมาดูก็พบว่าทองที่หลอมไว้ทั้งหมดถูกเทลงในเบ้าทั้ง 3 เรียบร้อยแล้ว ส่วนชีปะขาวก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งในปัจจุบัน พระสุก พระเสริม และพระไส ถูกแยกไปประดิษฐาน ณ พระอารามต่าง ๆ ของประเทศไทย โดย "พระสุก" ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีธรรมาราม (พระอารามหลวง) เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดยโสธร "พระเสริม" ประดิษฐานอยู่ที่วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร และ "พระไส" ประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดหนองคาย ทั้งนี้ ตำนานหลวงพ่อ "พระสุก" พระพุทธมงคลรุ่งโรจน์ พระคู่บ้านคู่เมืองยโสธร ตามประวัติและหลักฐานจารึกไว้ว่า พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ (จิตร จิตตะยโศธร) ต้นตระกูลจิตตะยโศธร คือผู้ที่นำหลวงพ่อ "พระสุก" มามอบไว้ที่ "วัดศรีธรรมาราม" และจากบันทึกรายการทรัพย์สินในพระอุโบสถของวัดศรีธรรมาราม ครั้งที่พระครูวิจิตตวิโสธนาจารย์ (ทองพูล โสภโณ) เจ้าอาวาสลำดับที่ 2 ได้บันทึกรายการทรัพย์สินลำดับที่ 5 ว่ามีพระปางสมาธิพระนามว่า "คัมภีร์พุทธเจ้า" ฐานเป็นเรือนแก้ว หน้าตักกว้าง 27 นิ้วฟุต ฐานสูง 41 นิ้วฟุต สร้างในยุคเวียงจันทน์ เป็นพระขัดเงา พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ ได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดศรีธรรมาราม เมื่อปี 2467 - 2473 เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บิดา ซึ่งองค์พระมีลักษณะอ่อนช้อยงดงามตามแบบศิลปะล้านช้าง

นายวิรุจ วิชัยบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ได้กล่าวอีกว่า จังหวัดยโสธร ได้กำหนดจัดพิธีมหามงคลพุทธาภิเษก พระสุก (ยโสธร) รุ่น 1 วาระที่ 2  ในระหว่างวันที่ 8 - 9 กันยายน 2566 ที่วัดศรีธรรมาราม (พระอารามหลวง) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร โดยวันที่  8 กันยายน 2566 ตั้งแต่เวลา 17.30 น. เริ่มพิธีถวายเครื่องราชสักการะหลวงพ่อพระสุก บูรพาจารย์วัดศรีธรรมาราม บวงสรวงเทพยดาบูชาฤกษ์ และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ธัมมจักกัปปวัตนสูตร และวันที่ 9 กันยายน 2566 (วันที่ 9 เดือน 9) เวลา 09.09 น. จะเป็นพิธีมหามงคลพุทธาภิเษก พระสุก (ยโสธร) รุ่น 1 จึงขอเชิญชวนพี่น้องพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา ตลอดจนทุกภาคส่วนในจังหวัดยโสธร และจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมพิธีมหามงคลพิธีพุทธาภิเษกพระสุก (ยโสธร) รุ่น 1 ตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกันเพื่อความเป็นสิริมงคล

นายวิรุจ วิชัยบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดสร้างวัตถุมงคล พระสุก (ยโสธร) รุ่น 1 ในครั้งนี้ มีการจัดสร้างรวมทั้งสิ้น 7 แบบ ได้แก่ 1) พระบูชาหน้าตัก 5 นิ้ว สร้างจำนวน 999 องค์ บูชาองค์ละ 4,999 บาท  2) พระกริ่งทองคำ (ทองคำหนัก 2 บาท) บูชาองค์ละ 119,999 บาท (ปิดสั่งจองแล้ว) 3) พระกริ่งเนื้อเงิน สร้างจำนวน 999 องค์ บูชาองค์ละ 2,499 บาท 4) พระกริ่งเนื้อทองเหลือง สร้างจำนวน 9,999 องค์ ราคาบูชาองค์ละ 99 บาท 5) เหรียญเนื้อทองคำ (ทองคำหนัก 1.5 บาท) บูชาองค์ละ 99,999 บาท (ปิดสั่งจองแล้ว) 6) เหรียญเนื้อเงิน สร้างจำนวน 999 องค์ บูชาองค์ละ 1,999 บาท และ 7) เหรียญเนื้อเงาพื้นด้าน สร้างจำนวน 9,999 องค์ บูชาองค์ละ 99 บาท ซึ่งผู้มีจิตศรัทธา สามารถสั่งจองออนไลน์ผ่านเว็บไซต์จังหวัดยโสธร https://www.yasothon.go.th 

โดยกดไปที่แบนเนอร์ "สั่งจองวัตถุมงคล" https://www.envoccyasothon.org/0_ecommerce/  ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 กันยายน 2566 หลังจากนั้น สามารถติดต่อเช่าบูชาและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคลังจังหวัดยโสธร  0-4571-1523 และที่ว่าการอำเภอทั้ง 9 อำเภอในจังหวัดยโสธร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วิเคราะห์ โลภสูตร-โทสสูตร-โกธสูตร-โมหสูตร

    ช่วยเขียนบทความทางวิชาการ เรื่อง "วิเคราะห์ โลภสูตร-โทสสูตร-โกธสูตร-โมหสูตร  ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่  17  ขุ...