กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมการศาสนา (ศน.) ถวายทุนการศึกษาแด่พระภิกษุและสามเณร ประจำปี 2566 ในส่วนกลาง จำนวน 150 ทุน สนับสนุนศาสนทายาทสืบสานและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ต่อเนื่องเป็นปีที่ 10
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) เปิดเผยว่า พระภิกษุสามเณร ถือเป็นบุคลากรที่มีส่วนสำคัญในการสืบทอด เผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอน รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนได้เข้าถึง ศึกษาเรียนรู้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และนำไปประพฤติ ปฏิบัติ ส่งเสริมศีลธรรมอันดีงาม กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ในฐานะผู้กำกับดูแลกองทุนส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มีส่วนในการสนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และส่งเสริมการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร ให้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น สร้างศาสนทายาทในการทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน มีพระภิกษุสามเณรที่ได้รับทุนแล้ว
รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,810 รูป และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กองทุนฯ ได้ขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรมตามนโยบาย “นำธรรมะสู่ใจประชาชน” ของกรมการศาสนา ด้วยการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของผู้นำทางศาสนา ซึ่งได้รับความเมตตาจากภาคคณะสงฆ์ ในการดำเนินการส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยจัดโครงการถวาย “ทุนการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร” ถวายแด่พระภิกษุหรือสามเณรที่กำลังศึกษาในสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ระดับเปรียญธรรม 3 - เปรียญธรรม 8 ประโยคในส่วนกลาง จำนวนทั้งสิ้น 150 รูป ทั้งนี้ ได้กำหนดจัดพิธีถวายทุนการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร ในวันที่ 26 กันยายน ที่จะถึงนี้ ณ วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
@siampongnews ผ้ามุ้ง#ผ้ามุ้งกลดพระธุดงค์ ♬ Ready - Official Sound Studio
อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวอีกว่า ปัจจุบันจำนวนพระภิกษุสามเณรที่สืบทอดพระพุทธศาสนากำลังขาดแคลน อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม การบวชเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาจึงลดน้อยถอยลงเป็นอย่างมาก หากพระภิกษุและสามเณรได้มีโอกาสศึกษา เรียนรู้ในหลักพุทธธรรม สามารถค้นคว้าและทำความเข้าใจพระไตรปิฏกอย่างแตกฉาน สามารถเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาและนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้องด้วยตนเองแล้ว ยังสามารถนำหลักธรรม คำสอน ไปแนะนำพุทธศาสนิกชนได้อย่างถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยน ส่งผลให้พุทธศาสนิกชนเกิดความเลื่อมใส ศรัทธา และนำหลักธรรม คำสอนทางศาสนา ไปปฏิบัติ ประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข สร้างความสงบในจิตใจ ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ศาสนาให้ดำรงอยู่คู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น