กรมส่งเสริมการเกษตรหนุนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนฝึกอบรมเสริมสร้างแหล่งอาหาร ปลูกผัก ปลูกไม้ผลยืนต้น สำหรับโภชนาการอาหารกลางวัน ก่อนขยายผลสู่ผู้ปกครอง และชุมชน สร้างแหล่งอาหาร ลดต้นทุนภายในครัวเรือน และสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เข้าไปส่งเสริมและให้ความรู้กับเกษตรกร ในการทำการเกษตรตามความเหมาะสมของศักยภาพในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรชนิดต่างๆ ซึ่งการดำเนินงานและขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริ และโครงการหลวง ถือเป็นอีกภารกิจหลักที่เน้นหนักเป็นพิเศษ ทั้งในเรื่องการส่งเสริมการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อการบริโภคในครัวเรือน และชุมชน และการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และมีความมั่นคง เพื่อเป็นทรัพย์สินให้กับเกษตรกรในอนาคตได้เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ได้ด้วย งานสำคัญอีกด้านของกรมส่งเสริมการเกษตร คือ การสนองงานในโครงการพระราชดำริ โครงการหลวงในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ทุรกันดาร ถือเป็นโครงการที่ต้องให้ความสำคัญ โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ทุรกันดาร เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งดำเนินโครงการมากว่า 40 ปี กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมสนองงานมาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี พ.ศ.2523 ผ่าน โครงการเกษตรเพื่ออาหาร ที่มีเป้าหมายในเรื่องการเพิ่มศักยภาพของเยาวชนในด้านสายงานอาชีพต่างๆ พร้อมขยายผลงานทางด้านเกษตรนั้นๆ เข้าไปสู่ชุมชน กิจกรรมหลัก คือ การให้ความรู้ด้านการเกษตรแก่ครู นักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการเกษตรเป็นอาชีพเสริม และสามารถนำกลับไปประยุกต์ใช้ในครัวเรือนได้
นอกจากนั้นยังมีการทำแปลงสาธิตเพื่อปลูกพืชผักและไม้ผลตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ของทางโรงเรียน จากนั้นก็จะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ขยายไปยังผู้ปกครองในพื้นที่ภายในชุมชนใกล้เคียง เนื่องจากโครงการอาหารกลางวันผลิตอาหารเพียงมื้อเดียวภายในโรงเรียน แต่อีก 2 มื้อ นักเรียนต้องไปรับประทานอาหารที่บ้าน การถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ปกครองถือว่าเป็นส่วนสำคัญ เพราะหากมีการปลูกพืชผักเอง จะสามารถแบ่งเบาภาระในเรื่องรายจ่ายในครัวเรือน และผลผลิตในครัวเรือน ในส่วนที่เหลือก็จะสามารถนำไปขาย และสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อีกทาง ทำให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝน ขยายผลในเรื่องของการทำบัญชี เรื่องการออม ที่เกิดจากการขายผลผลิตที่เหลือจากบริโภค ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดขยายผลในเรื่องอาหารกลางวันของโรงเรียนต่อด้วย
จากผลการดำเนินการในการส่งเสริมให้ความรู้กับการผลิตอาหารในโครงการอาหารกลางวัน ยังพบว่าทั้งเด็ก ครู ผู้ปกครอง และคนในชุมชน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การขาดสารอาหารลดน้อยลง สุขภาพดีขึ้นอย่างมาก และยังมีรายได้พิเศษ ซึ่งเชื่อว่าโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันดังกล่าว จะสามารถตอบโจทย์ให้ประชาชน สามารถสร้างความมั่นคงในชีวิต อยู่ดี กินดี มีความสุข มีความมั่นคงในชีวิต ในอนาคตต่อไป ซึ่งขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมกับโรงเรียน ตชด. ดำเนินการฝึกอบรมให้กับครูและนักเรียน ในพื้นที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อนำไปขยายผลให้กับชุมชนในพื้นที่ด้วย
ด้าน พ.ต.ต.วิสูตร สายสุด ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 21 กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวว่า โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 7 ตำบลตะเคียน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ โดยโครงการอาหารกลางวันที่เกิดขึ้น ทางโรงเรียนได้ร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเข้ามาส่งเสริมการเรียนรู้และถ่ายทอดให้ความรู้ในเรื่องการปลูกพืชผักและไม้ผลที่ให้มีความเหมาะสมในพื้นที่เพื่อสร้างแหล่งอาหาร ในโรงเรียนที่มีการฝึกอบรมให้กับนักเรียน ครูและผู้ปกครอง พร้อมทั้งจัดทำแปลงปลูกสาธิต เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้จริง และผลิตพืชผัก มาใช้ในการประกอบอาหารโดยมีผู้ปกครองในพื้นที่ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าเวรมาร่วมกันทำอาหารให้กับบุตรหลานในโรงเรียน นักเรียนทั้งหมดจะร่วมกันทำงาน โดยร่วมกันทำกิจกรรมและเรียนรู้ขบวนการผลิตตั้งแต่ต้น ทำให้ได้รับความพอใจจากผู้ปกครองค่อนข้างมาก จากนักเรียนเดิมมีเพียง 63 คน ปัจจุบันมีนักเรียนที่เข้ามาเรียนกว่า 225 คน ซึ่งเด็กนักเรียนทั้งหมดได้รับอาหารที่ร่วมกิจกรรมการทำขึ้นมาด้วยตัวเองตามหลักโภชนาการ เมื่ออาหารเพียงพอ สุขภาพดี อย่างอื่นก็จะดีไปด้วย ทำให้นักเรียนของพื้นที่นี้พร้อมที่จะเรียนรู้ และได้รับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
@siampongnews มุ้งคอกเลี้ยง#ตั๊กแตน ♬ Tere Baad Nazar Nhi Aati Koi Manjil - Deepak Kurai
นอกจากนั้นยังมีการขยายผลการพัฒนาจากโรงเรียนสู่ชุมชน โดยเฉพาะบ้านโพธิ์ทอง ที่เป็นชุมชนใกล้โรงเรียนได้มีการขยายองค์ความรู้ที่ส่งเสริมในโรงเรียนสู่ชุมชนในการทำการเกษตรเป็นหมู่บ้านแรก และขยายสู่ชุมชนอื่นๆ เพื่อต่อยอดออกไป นอกจากนักเรียนได้บริโภคอาหารที่ครบถ้วนทุกมื้ออาหาร ผู้ปกครองยังสามารถนำผลผลิตที่เหลือไปจำหน่ายในตลาดใกล้หมู่บ้าน ต่อยอดสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้อีกทาง โดยโครงการที่เกิดขึ้นถือเป็นโครงการที่สร้างองค์ความรู้ให้ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างถาวร ถือเป็นการเอื้ออำนวยช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ด้วย
ขณะที่เด็กชายอัครเดช ศรีนวล นักเรียนโรงเรียน ตชด. ในโรงเรียนโครงการอาหารกลางวัน กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งของนักเรียนในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ที่เข้าไปเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกับทางโรงเรียนจากการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ที่มาให้ความรู้ให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียน ได้เรียนรู้และส่งเสริมการผลิตอาหารให้กับโครงการให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ โดยมีการปลูกผักเป็นหลัก ซึ่งจะมีทั้งพืชผัก เช่น ผักคะน้า ผักกาด มะเขือเทศ ผักบุ้ง กระเพรา ข้าว ข้าวโพด เป็นต้น หลังจากได้รับการเรียนรู้จึงได้นำความรู้ที่มีอยู่มาขยายผลการปลูกในครัวเรือน โดยร่วมกับคุณยายทำแปลงสวนครัวเล็กๆ ปลูกผักไว้กินเอง โดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร จะเป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์พืชผักและต้นกล้า ส่งผลให้ครอบครัวสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนได้อย่างมาก ขณะเดียวกันผักที่มีการปลูกเหลือจากการนำไปทำอาหาร ยังสามารถนำไปจำหน่ายในตลาดใกล้บ้าน เพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้ด้วย
ด้าน นายอุทัย คำใบ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 บ้านร่มราษฎร์ ตำบลตะเคียน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่เข้าไปฝึกอบรมความรู้จากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ในส่วนที่มีการขยายผลมาสู่ชุมชน ในฐานะผู้นำชุมชน ต้องขอบคุณทางภาครัฐที่ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับประชาชนในครั้งนี้ โดยที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาให้ความรู้ ส่งเสริมให้เมล็ดพันธุ์ และต้นพันธุ์ จะมีทั้งไม้ผลและไม้ยืนต้น พืชผักต่างๆ เช่น กล้วยพันธุ์ต่างๆ ฝรั่ง รวมทั้งไม้ยืนต้น ต้นไม้เศรษฐกิจ ในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชุมชน สำหรับพื้นที่ของตน ได้สร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนด้วย โดยตนจะแจกต้นพันธุ์กล้วยที่นำมาปลูก และขยายพันธุ์ให้กับชาวบ้านในชุมชน ซึ่งสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี และบางส่วนยังสามารถนำไปจำหน่ายที่ตลาด เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวของชาวบ้านได้ด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น